เศรษฐกิจ
2 ปี ขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้ง 'แบงก์ชาติ' ยังนิ่ง หลังถูกตั้งคำถามหนัก - 'เศรษฐา' เล็งคุยปมขึ้นดอกเบี้ย
โดย nattachat_c
9 ม.ค. 2567
86 views
วานนี้ 8 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเรียกว่าอยู่วงจรขาขึ้น หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากระดับ 0.50% สู่ระดับปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่ง กนง.ปรับขึ้นติดต่อกัน 8 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 8% ในปี 2565 และการขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จึงทยอบปรับอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นจะยุติลง เนื่องจากการประชุม กนง.วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่โตใกล้เคียงระดับศักยภาพ สามารถรองรับความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบได้ ซึ่งจะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
นอกจากนี้ หลายศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 อาทิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) Krungthai COMPASS โดยธนาคารกรุงไทยคาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างมาก
รวมถึงเศรษฐกิจไทยยังทยอยฟื้นตัวแม้เป็นไปในลักษณะเปราะบางสะท้อนผ่านตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3/2566 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปทั้งปี 2567 และเงินเฟ้อทรงตัวในกรอบ 1-3%
สำหรับสถิติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปี 2565-2566 ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2566
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2565
ม.ค. = 0.50%
ก.พ. = 0.50%
มี.ค. = 0.50%
เม.ย. = 0.50%
พ.ค. = 0.50%
มิ.ย. = 0.50%
ก.ค. = 0.50%
ส.ค. = 0.75%
ก.ย. = 1.00%
ต.ค. = 1.00%
พ.ย. = 1.25%
ธ.ค. = 1.25%
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2566
ม.ค. = 1.50%
ก.พ. = 1.50%
มี.ค. = 1.75%
เม.ย. = 1.75%
พ.ค. = 2.00%
มิ.ย. = 2.00%
ก.ค. = 2.00%
ส.ค. = 2.25%
ก.ย. = 2.50%
ต.ค. = 2.50%
พ.ย. = 2.50%
ธ.ค. = 2.50%
-------------
วานนี้ (8 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนต รีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก เนื่องจากมีช่องว่างห่างกันมาก ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือน ว่า
ความจริงมีการพูดคุยกับ ธปท.มาตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของผมชัดเจนว่า “ผมไม่เห็นด้วย แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”
เมื่อถามถึงการขึ้นดอกเบี้ยในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก นายกฯมีความกังวลอย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า “บอกว่าต่ำ (เงินเฟ้อ) มากครับ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ก็ฝากไว้”
เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะไปคุยกับผู้ว่าฯ ธปท.หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “มีอยู่แล้วครับ”
--------------
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ออกมาบอกว่า จะมีการประชุม กนง. ในวันที่ 7 ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นที่น่าจับตาเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย
พร้อมซัดว่า แบงกชาติควรมีนโยบายที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งแบงก์ชาติควรออกมากำกับดูแลเรื่องแก๊ประหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก
ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันเกินไป และมันได้ทำลายการซื้อไปแล้ว
ตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อต่ำลงไปกว่า 1% แล้ว ก็ควรลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก
------------
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าแบงค์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว หนสุดท้ายขึ้นดอกเบี้ย แม้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อติดลบแล้ว ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรมากเกินปกติกว่า 2.2 แสนล้านบาท แต่ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเพียง 2.4% ในปี 2566 ประชาชนยากจนลง, คนไม่มีงานทำ, ขายของไม่ได้ แบงค์ชาติจึงควรหันมาดูแลประชาชนให้มากขึ้น
2.ดูเหมือนแบงค์ชาติจะต้องการกดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบกว่า -0.5% คิดเฉลี่ย 3 เดือนติดต่อกัน ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation targeting) 1-3% ที่ตกลงไว้กับรัฐบาล ความจริง ทั้งผู้ว่าการและคณะกรรมการนโยบายการเงิน ต้องแสดงความรับผิดชอบแล้ว
3.ระบบสถาบันการเงินของไทยเอง ก็ค่อนข้างผูกขาด พอแบงค์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แบงค์พาณิชย์ ก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากๆ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นน้อยๆ ขยายส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก (Spread) ในโอกาสต่อไปข้างหน้า คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คงต้องติดตาม, ดูแลให้เหมาะสม และรายงานเรื่อง Spread ต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ
4.วิธีการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลานี้ ก็คือ แบงค์ชาติต้องลดดอกเบี้ย และเพิ่มปริมาณเงิน (QE) ในระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเพิ่มการแข่งขันในระบบแบงค์พาณิชย์ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ พร้อมกับพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน ให้มีหลากหลายทางเลือกยิ่งขึ้น ไม่ขึ้นอยู่กับแบงค์พาณิชย์ มากเกินไปเฉกเช่นทุกวันนี้
5.การลดดอกเบี้ยลง จะทำให้การลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น และยังทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มีผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปเพิ่มอัตราความเจริญเติบโตของชาติ (GDP growth) เพิ่มรายได้ประชาชน ทำให้มีเงินมาบริโภคและออมเพิ่มขึ้น ลดหนี้ครัวเรือน รัฐบาลก็จะมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ลดหนี้ภาครัฐบาล กระผมจึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เร่งรีบพิจารณาลดดอกเบี้ยลงครับ ดร.สุชาติ กล่าวในที่สุด
-------------
วานนี้ 8 มกราคม 2567 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังซื้อในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีน่าเป็นห่วงมาก เพราะจีดีพีไม่ได้ขยายตัวตามเป้า ปี 66 โตแค่ 2.5% และจีดีพีในกลุ่มธุรกิจรายย่อยมีสัดส่วนแค่ 3% หรือไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แต่มีจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยมากถึง 2.7 ล้านราย หรือ 85% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นรายย่อย นั่นหมายถึงว่าธุรกิจรายย่อยมีรายได้เฉลี่ยเพียง 15,000 บาทต่อเดือนต่อรายซึ่งต่ำมาก
ส่วนขนาดย่อม หรือ S มีสัดส่วนจีดีพี 14% จำนวนผู้ประกอบการ 400,000 กว่าราย // ธุรกิจขนาดกลางมีสัดส่วนจีดีพี 18% และมีจำนวนธุรกิจ 40,000 กว่าราย **จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญลงลึกไปถึง จีดีพีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นรายย่อยด้วย ไม่ใช่เพียงจีดีพีภาพรวมเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจในท้องถิ่นยังไม่ฟื้นตัว แม้การท่องเที่ยวดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังขาดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนและเกษตรกร
นอกจากนี้การเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำมีน้อย และมีต้นทุนสูงจาก อัตราดอกเบี้ย โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเป็นธรรมเรื่องอัตราดอกเบี้ย พร้อมปรับโครงสร้างการอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในส่วนการพิจารณาค่าความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีแบกรับดอกเบี้ยสินเชื่อที่แพงกว่า รายใหญ่
ขณะที่กลไกเหล่านี้ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีไปขอสินเชื่อแต่ต้องซื้อประกันควบคู่เพื่อที่จะได้ดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ลดให้น้อยมากรวมไปถึงกลุ่มนอนแบงก์ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยสูง 20-30% เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากของไทยสูง ไม่สัมพันธ์กัน พร้อมขอให้รัฐบาลเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้เอสเอ็มอี สนับสนุนเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้เอสเอ็มีเข้าถึงแหล่งทุน
----------------