เศรษฐกิจ

‘พิพัฒน์’ จ่อชง ครม.ตีกลับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้ทบทวนใหม่ - เช็กความเห็น 'หอการค้าฯ-ลูกจ้าง' ต่อค่าจ้างรอบใหม่

โดย nattachat_c

12 ธ.ค. 2566

35 views

วานนี้ (11 ธ.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะให้มีการทบทวนมติการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท ที่ทางคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในรูปคณะกรรมการไตรภาคีประชุมร่วมกัน และมีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา


โดย นายเศรษฐา ให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นเพียง 2 บาทต่อวัน ต่ำเกินไป ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ในการนำมติในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่ได้รับพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของไตรภาคี คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการประจำ


ซึ่งได้ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไป เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยืนยันว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2566 จะนำมติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อรับทราบ ส่วนทาง ครม.จะมีความเห็นอย่างไรนั้น ก็ต้องนำมาหารือกันภายในไตรภาคี


นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำนั้น อยู่ภายใต้คณะกรรการไตรภาคี และพิจารณาจากหลายเงื่อนไขตามกฎหมายปี 2560 นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดังนั้นการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องอยู่ในกรอบของไอแอลโอด้วย ซึ่งข้อสำคัญคือ ให้พิจารณาจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ทั้งเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ฯลฯ ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีช่วงของปี 2563-2564 ที่ทั้งโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด


“ผมจึงมองว่า ไม่ควรนำมาเป็นฐานประกอบการพิจารณาค่าจ้างในปี 2567 เพราะปี 2566 เราเริ่มดีขึ้น ปี 2567 รัฐบาลมีนโยบายใหม่ เช่น เงินดิจิทัล ผมไม่เห็นด้วย แต่แทรกแซงไม่ได้ มีทางเดียวคือ ยื่นเรื่องเข้า ครม. ถ้า ครม.มีความเห็นว่า ให้กลับไปศึกษาใหม่ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะใช้ฐานปี 2560 ปี 2561 ปี2562 ปี 2565 และปี 2566 มาพิจารณา ถ้าออกมาแบบนี้ได้ เราจะได้ค่าจ้างในอนาคตปี 2567 ซึ่งอยู่บนฐานความเป็นจริง มันเป็นเรื่องบังคับในทางกฎหมาย เพราะเราเป็นสมาชิกไอแอลโอ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ดังนั้น ต้องหาช่องทาง เอาเหตุผลมาหารือกัน จะใช้ภาวะวิกฤตมามาพิจารณาด้วย มันไม่แฟร์กับลูกจ้าง” นายพิพัฒน์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางข้อหรือไม่

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าสามารถทำได้หรือไม่


เมื่อถามว่า อำนาจตามกฎหมายของ ครม.มีมากน้อยแค่ไหน สั่งให้ทบทวนได้หรือไม่

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า คิดว่าถ้าไตรภาคียืนยัน ก็ทำอะไรไม่ได้ ยกเว้นว่า หารือนอกรอบกับไตรภาคี แล้วเอาเหตุผลมาคุยกัน ถ้า 2 ใน 3 ฝ่ายเห็นตรงกัน ก็มีโอกาสสูง แต่ที่ประชุมล่าสุด กรรมการไตรภาคีมีความเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์

----------

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 78 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน


ซึ่ง ครม.แต่งตั้งเป็นกรรมการ และข้าราชการกระทรวงแรงงาน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรา 87 ระบุว่า ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น


โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม


และ มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อได้ศึกษาข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 87 แล้ว ให้คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือโดยเสนอต่อ ครม.เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

----------

วานนี้ 11 ธันวาคม 2566 อรรถยุทธ ลียะณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง และ ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้า และ บริการเครื่องอุปโภคบริโภค ให้สัมภาษณ์รายการ กรรมกรข่าวคุยนอกจอ ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีออกมาวิจารณ์ว่า ปรับค่าแรงขั้นต่ำน้อยเกินไป อาจต้องมีการทบทวนใหม่นั้น


คุณอรรถยุทธยืนยันว่า ที่ผ่านมาเรื่องให้กลับไปทบทวนใหม่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมติบอร์ดค่าจ้างเป็นการเสนอเพื่อทราบ ตามกฏหมาย ซึ่งล่าสุดมติที่ออกมาก็เป็นเอกฉันท์ คณะกรรมการพิจารณาค่าแรง ต้องมีอิสระ ในการทำงาน ที่ผ่านมาตามกฎหมาย ที่ปปฏิบัติ เป็นสิบๆปี คือ อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ประกอบด้วยตัวแทน นายจ้าง 5 / ลูกจ้าง 5 / รัฐบาล 5 จะร่วมกันพิจารณารายละเอียด เช่น ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ แล้วนำมาคิดคำนวนตามสูตร


จากนั้นจะส่งมาที่อนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง พิจารณาอีกครั้ง ว่าเป็นไปตามสูตรคำนวน มีการพิจารณาเหตุผล จากนั้นจะเสนอ ไปสู่ คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมากรรมการชุดใหญ่จะปรับเล็ก ๆ น้อย ๆ


คุณอรรถยุทธ ยอมรับว่า กังวลต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตหากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นสูง แต่กังวลน้อยกว่า SME ขนาดเล็กและกลาง จะล้มหายตายจาก ลูกจ้างเสี่ยงตกงาน ดังนั้นขึ้นค่าแรง 400 บาท ยังเป็นไปไม่ได้


ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงฯ ครั้งนี้มีเพียง 2 จังหวัดที่ไม่ขอขึ้น คือ ปัตตานี และ เพชรบุรี เหตุผลคือ สภาวะเสรษฐกิจ ค่าดำรงชีพลูกจ้าง ความสามารถการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง เขายังอยู่ต่อไปได้ อีก 1 ปี แต่ตามสูตร 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องไปด้วยกัน ปรับค่าแรงเพิ่มให้ 2 บาท / ส่วนภูเก็ตนำร่อง 370 บาท ให้มากกว่ากรุงเทพฯ

-----------

นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการค่าจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ถึงแม้ลูกจ้างจะไม่พอใจ ต่อให้ได้ขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท ก็ยังไม่พอกิน พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ที่ตกลงกันได้ในอัตรา 330-370 บาท เป็นจุดสมดุลเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่นายจ้างจ่ายไหว ไม่เดือดร้อนกับการประกอบกิจการ


นายวีรสุขกล่าวว่า ขณะที่อัตราใหม่ถึงจะได้ขึ้นน้อย แต่ลูกจ้างก็พออยู่ได้ จึงไม่ได้เรียกร้องค่าจ้างที่สูงเกินไป และประเด็นสำคัญคือเพื่อรักษาภาวะการจ้างงานให้คงอยู่ ให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมเสนอให้ภาครัฐควบคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาข้าวของแพง แก้ไขปัญหาปากท้องให้เป็นรูปธรรม
-----------

วานนี้ 11 ธันวาคม 2566 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในรูปคณะกรรมการไตรภาคีประชุมร่วมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีในช่วง 2-16 บาท หรือเฉลี่ยที่ 3.2 % ทั่วประเทศแล้วนั้น


หอการค้าไทย เห็นว่าการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีครั้งนี้ ภายใต้คณะกรรการไตรภาคีเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการพิจารณาจากปัจจัยหลายเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับกฎบัตรองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และเห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกครั้งนี้


อย่างไรก็ดี ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงลูกจ้างโดยมาจากมติค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีครั้งนี้ อันมาจากความตั้งใจให้ลูกจ้างคนไทยมีรายได้ดีขึ้น และส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดไม่เหมาะสม


จากเหตุผลดังกล่าว หอการค้าไทย ได้ตระหนักถึงความเป็นห่วงของท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งเห็นว่าคณะรัฐมนตรี โดยท่านนายกรัฐมนตรี สามารถให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการไตรภาคี ทบทวนศึกษาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีในบางจังหวัดได้ให้เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น

-----------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/pXTEpgDft74

คุณอาจสนใจ

Related News