เศรษฐกิจ
อั้นไม่ไหว! อาหารแปรรูปกระป๋องจ่อขอขึ้นราคา หลังแบกต้นทุนพุ่งสูงกว่า 20%
โดย taweelap_b
12 ก.ค. 2565
77 views
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 65 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ในต้นเดือนหน้า (ส.ค.65) ผู้ประกอบการอาหารแปรรูปกระป๋อง ได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และ สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย จะเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอปรับขึ้นราคาขายปลีกสินค้าที่จำหน่ายในไทย พร้อมชี้แจงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแยกหมวดอย่างละเอียด ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบ ค่าเหล็ก ค่าระวางเรือ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 20% แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกในประเทศได้ แม้จะมีการคุยนอกรอบมาบ้างแล้วก็ตาม และค่าไฟก็เตรียมปรับขึ้นเร็ว ๆ นี้ ก็มีผลต่อต้นทุนการผลิตถึงกว่า 10%
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับขึ้นราคาขายสินค้าสำหรับขายในประเทศนั้นทำได้ไม่ง่าย เพราะต้องคำนึงถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วย และการปรับขึ้นแต่ละครั้งจะต้องชี้แจงรายละเอียดต่อกระทรวงพาณิชย์อย่างเข้มข้น ซึ่งการหารือในครั้งนี้ อาจขอเป็นการปรับขึ้นเพดานราคาขายปลีก เช่น ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เคยกำหนดเพดานสูงสุดที่กระป๋องละ 18 บาท ก็อาจขอปรับขึ้นเป็น 20 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้สินค้าแปรรูปกระป๋องส่วนใหญ่จะส่งออก เช่น ทูน่ากระป๋อง ส่งออกกว่า 90 %, ผักผลไม้กระป๋องส่งออก 60-70 % ซึ่งสามารถเจรจาราคากับผู้รับซื้อต่างประเทศโดยตรงได้ ไม่ต้องขออนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก็ตาม แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะห้างสรรพสินค้าต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่มีอำนาจในการต่อรอง ที่ผ่านมาทยอยปรับขึ้นได้แค่บางส่วน และทำสัญญาซื้อขายระยะสั้นลงเฉลี่ย 1-2 เดือน เพราะปัจจัยต้นทุนผันผวนมาก
นอกจากนี้ ในฐานะรองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังได้ร่วมกับอธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงข้อมูลการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยขอให้นายจ้างและลูกจ้างต่างด้าวที่มีคุณสมบัติตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนด ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานกำลังจะหมด ให้เร่งดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานต่อในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการพบว่า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน
ในขณะที่ปัจจุบันมีกลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้วและประสงค์ทำงานต่อไป ประมาณ 1,690,000 คน สามารถอยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 68
โดยปัจจุบันสามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ได้ รุ่นระยะเวลาดำเนินการเหลือเพียง 15 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือน และเสียค่าใช้จ่ายต่อคนเพียงแค่ 2000 กว่าบาทเท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่าจากมาตรการดังกล่าว และการขยาย MOU นำเข้าแรงงานต่างด้าว จะส่งผลให้ไทยมีรายงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีเป็น 3 ล้านคน ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 2.5 ล้านคน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจอุตสาหกรรม