เศรษฐกิจ

โรงกลั่นแจง 'ค่าการกลั่นน้ำมัน' ยันยินดีร่วมมือภาครัฐ - 'สุพัฒนพงษ์' ตอบปม 'เตาอั้งโล่' แค่ยกตัวอย่าง

โดย nattachat_c

24 มิ.ย. 2565

21 views

จากกรณี ที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ 'ค่าการกลั่นน้ำมัน' ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ไม่ว่าะเป็นการออกข่าวว่า ค่าการกลั่นน้ำมัน มีราคาที่สูงเกินจริง รวมถึงมีการพูดถึงเรื่องขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน ให้ร่วมมือในการแบ่งกำไรจากการกลั่นน้ำมันให้กองทุนน้ำมัน 


วานนี้ (23 มิ.ย. 65) นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยออยล์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมภายใต้หลักของกฎหมายและการค้าเสรี  เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นทุกรายต่างเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีหน้าที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย


นอกจากนี้ ยังชี้แจงว่า ...

ประเด็นที่ 1 “ค่าการกลั่น ไม่ใช่ กำไรสุทธิ” ของผู้ประกอบกิจการโรงกลั่น


ค่าการกลั่น คำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น หักด้วยต้นทุนราคาน้ำมันดิบ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในกระบวนการกลั่น ทำให้ผลรวมปริมาณผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้อยู่ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 97 ของปริมาณน้ำมันดิบเท่านั้น


ถึงแม้ว่า ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์จะคำนวณโดยหลักการข้างต้นแต่จะอ้างอิงราคาน้ำมันดิบดูไบเป็นหลัก ซึ่งข้อเท็จจริงโรงกลั่นต่างๆ จะมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง เช่น น้ำมันดิบเมอร์บาน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือน้ำมันดิบอาระเบียน ไลท์ จากซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น ซึ่งราคาจะสูงกว่าน้ำมันดิบดูไบ โดยผู้ขายจะบวกค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ (Crude Premium) หรือส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่เราซื้อจริงกับราคาน้ำมันดิบดูไบเข้าไปในสูตรราคาด้วย ซึ่งในระยะนี้ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบอยู่ในภาวะตึงตัวจึงทำให้ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปกติค่อนข้างมาก


ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ประกอบการโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ อีก อาทิ ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ ค่าพลังงานอื่นๆ ค่าสาธารณูปโภค ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น


ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยลักษณะและสภาพธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นจึงมีการเข้าทำสัญญาขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปล่วงหน้าเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง เมื่อเห็นว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปล่วงหน้ามีความเหมาะสม


ดังนั้น เมื่อราคาปรับสูงขึ้นเกินกว่าราคาที่ทำสัญญาไว้ล่วงหน้า นอกจากผู้ประกอบการจะไม่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่มขึ้นมากนักแล้ว ยังต้องบันทึกการขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาดังกล่าวด้วย

​ดังนั้น การสรุปว่าเมื่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นมากเทียบกับวัตถุดิบแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นมีกำไรเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนนั้น จึงเป็นสมมติฐานที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด


ประเด็นที่ 2 โรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่น

ผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนด 'ค่าการกลั่น' และไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจาก 'ค่าการกลั่น' ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ และตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก


ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นระดับราคาน้ำมันแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลา เห็นได้จากในอดีตที่โรงกลั่นต้องแบกรับภาระขาดทุนในบางช่วงเวลา หากไม่นับรวมกำไรจากธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่ม เนื่องจากค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น ในช่วงปี 2563 - 2564 ที่เกิดวิกฤติการณ์โควิด และมีความต้องการใช้น้ำมันน้อยลงมาก เป็นต้น


ประเด็นที่ 3 การพิจารณาค่าการกลั่นควรใช้ค่าเฉลี่ยระยะยาว เนื่องจากธุรกิจการกลั่นมีลักษณะเป็นวัฏจักรขึ้น - ลง

โดยปกติค่าการกลั่นเฉลี่ยรายเดือน หรือ รายไตรมาสก็ตาม จะมีความผันผวนขึ้นลงได้มาก ดังนั้น การนำค่าการกลั่นเฉลี่ยระยะสั้นมาพิจารณาว่าโรงกลั่นมีกำไรมากเกินควร จึงไม่ถูกต้อง หากนำค่าการกลั่นเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึงเดือนธันวาคม 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด – 19 และโรงกลั่นประสบภาวะขาดทุนซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.30 บาทต่อลิตรมาเฉลี่ยรวมกับช่วงต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่กลับมีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าการกลั่นอยู่ที่ 2.80 บาทต่อลิตร จะพบว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยรวมตลอดช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤติการณ์โควิด-19 ทั้งที่โรงกลั่นมีภาระการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่นและเพิ่มคุณภาพน้ำมันให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ตามกฎหมาย

-----------

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวน IRPC พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ตามหลักปฏิบัติที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภายใต้กรอบของกฎหมายและการค้าเสรี


ค่าการกลั่น จึงเป็นเพียงดัชนีเบื้องต้นและไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของ โรงกลั่น เนื่องจากไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ใช้ในการผลิตและการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละโรงกลั่น เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ตามมาตรฐานทางบัญชีและการค้าทั่วไป ซึ่งค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการเหล่านี้จะแปรผันไปตามกลไกตลาดเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีการปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น

-------

ปัญหาเรื่องน้ำมันแพงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการจัดการแต่งต่างกันออกไป ในประเทศ เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 65) การอภิปรายในสภาก็มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างมาก


นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ถามกระทู้ทั่วไปสอบถามนายสุพัฒน์พงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงปัญหาราคาน้ำมันแพง ที่ควรนำกำไรจาก ปตท.ปีละหลายหมื่นล้านบาทมาช่วยเหลือประชาชน ที่ผ่านมาปี 2563 ปตท.ได้กำไร 3 หมื่นล้านบาท และปี 2564 กำไร 1 แสนล้านบาท ควรส่งเงินปันผลให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น


ขณะที่ ต้นทุนการกลั่นน้ำมันนั้น ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันเอง แต่ไม่ตั้งราคากลั่นจากต้นทุนตัวเอง ไปอ้างอิงราคาจากสิงคโปร์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เคยขอข้อมูล ปตท.ถึงต้นทุนการกลั่นที่แท้จริง แต่ ปตท.อ้างไม่มีข้อมูล เพราะบริษัทลูกเป็นผู้กลั่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้วไม่สามารถกำกับ ปตท.ได้ จะมาเป็นทำไม อยากถามจะมีนโยบายนำกำไรจาก ปตท.มาช่วยประชาชนอย่างไร และเห็นผลเมื่อใด
------------

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า การเอากำไรทั้งหมดของปตท.ไปช่วยคงทำไม่ได้ เพราะเท่ากับผู้ถือหุ้นไม่ได้อะไรเลย ส่วนการให้ปตท.ส่งเงินปันผลแต่ละปีให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อใช้พยุงราคาน้ำมันนั้น ทำได้ แต่ต้องไปตกลงในการประชุมผู้ถือหุ้นก่อน


ซึ่งบริษัทพลังงานทุกแห่งต้องรักษาเสถียรภาพด้านพลังงาน หากไม่มีการลงทุนเตรียมความพร้อมใดๆ จะเกิดความเสี่ยงด้านพลังงาน นโยบายทุกรัฐบาลให้ความสำคัญเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานมาเป็นอันดับ 1 ส่วนต้นทุนการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นที่ปตท.ไม่ให้ข้อมูลนั้น ขอให้ไปคุยกับโรงกลั่นโดยตรง จะได้เข้าใจตรงกัน


เรื่องค่ากลั่นกระทรวงพลังงานพยายามเจรจาโรงกลั่นอยู่ ได้รับความร่วมมือจากโรงกลั่น 6 แห่ง เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุป หากค่าการกลั่นยังสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์หามาตรการต่างๆ สร้างกติกาให้โรงกลั่นที่มีส่วนเกินของกำไร ลดราคาต่างๆ ต่อไป ถ้าจำเป็นต้องยกร่างกฎหมาย อาจต้องมาส่งถึงสภาแห่งนี้ ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา


โดยนายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ข้อเสนอที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาผ่าน CSR นั้นไม่ขัดข้อง ซึ่งที่ผ่านรัฐบาลร้องขอให้ ปตท. ช่วยเหลือหลายเรื่อง ทั้ง LPG NGV ซึ่งเชื่อว่าปีนี้จะรวมหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรแสนล้านบาท ส่วนที่ระบุว่าขอให้นำกำไรทั้งแสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น


ส่วนข้อเสนอให้ทำธุรกิจแบบไม่มีกำไร จะทำให้เงินส่งรัฐลดลง หากเป็นการตัดสินใจของ ปตท. ที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจในสาระสำคัญ คือ ไม่หวังกำไรนั้นจะต้องประชุมผู้ถือหุ้นและตัดสินใจ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะสั่งหรือบอกไม่ได้ แม้จะบอกมีมาตรการ แต่ต้องตัดสินใจตามอำนาจกฎหมายพ.ร.บ.บริษัทมหาชน และบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ดั้งนั้นขอให้อนุ กมธ. เชิญธุรกิจทุกธุรกิจมาหารือว่า ในยามที่ประชาชนเดือดร้อน เลิกทำธุรกิจหากำไร ทำธุรกิจไม่มุ่งหากำไรเลย ต้องตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้น สั่งตรงไม่ได้


เรื่องวิกฤติราคาน้ำมัน ว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ปัจจัยภายใน อีกทั้งยังเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ขณะนี้สถานการณ์พลังงานในตลาดโลกแย่ลงกว่าเดิม กำลังการผลิตน้ำมันก็ลดน้อยลง ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปห่างจากน้ำมันดิบมากขึ้น เช่น น้ำมันดีเซล ที่เคยมีราคา 110-120 เหรียญต่อบาร์เรล ขยับขึ้นไปถึง 180 เหรียญต่อบาร์เรล


ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยนำเข้าพลังงานน้ำมันกว่า 90% ซึ่งรัฐบาลพยายามประคับประคอง โดยตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ 34 บาทกว่าต่อลิตร ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยพุ่งไปเฉลี่ย 46 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลทราบว่า น้ำมันดีเซลกระทบต่อประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งตอนนี้ผลจากการอุดหนุนทำให้มีเงินไหลออกจากกองทุนดีเซลเฉลี่ยเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท


พร้อมย้ำว่า การที่ต้องประคองราคาน้ำมันดีเซล เพราะเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ พร้อมชี้แจงอีกว่า รัฐบาลต้องดูความเหมาะสม เพราะหากตรึงราคาน้ำมันมากเกินไป อาจทำให้เสถียรภาพการเงินการคลังไทยอ่อนแอ จนไม่สามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานได้


นอกจากนี้ เรื่องที่มีการพูดถึงอย่างมากคือเรื่องเตาถ่าน นายสุพัฒนพงษ์ ได้ชี้แจงว่า เป็นแค่การยกตัวอย่างเท่านั้น สำหรับผู้ที่แต่เดิมใช้เตาถ่านอยู่ ถ้าเปลี่ยนมาใช้เตารุ่นใหม่ก็สามารถประหยัดถ่านได้มากขึ้น

-------------

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/X5r73IUPMp8


คุณอาจสนใจ