เศรษฐกิจ

นักวิชาการมอง 'ควบทรูดีแทค' กระทบจีดีพีหดตัว เงินเฟ้อพุ่ง คนไทยจ่ายค่าบริการแพงขึ้น

โดย thichaphat_d

8 มิ.ย. 2565

27 views

จากกรณี 'บอร์ด กสทช.' ลงคะแนน 3 ต่อ 2 เสียง สั่งสำนักงานฯ เพิ่มข้อความอำนาจตามประกาศปี 49 หากพบเข้าข่ายผูกขาดตลาด สามารถสั่งไม่อนุญาตได้ หลังจาก "ซูเปอร์บอร์ด" ยื่นฟ้อง ศาลปกครองนัดไต่สวนเพิ่ม 6 มิ.ย.นี้ กรณี 'ควบทรูดีแทค'


เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค


นายพรเทพ เบญญาอภิกุล คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจตามโมเดล Computable General Equilibrium (CGE Model) หรือแบบจำลองดุลยภาพ เป็นโมเดลเศรษฐศาสตร์ใช้วิเคราะห์ผลกระทบด้านราคาต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ


ซึ่งผลกระทบที่บ่งชี้ในการวิเคราะห์ในเรื่องของอัตราการขยายตัวของจีดีพี จากข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์คำนวนมูลค่าจากการใช้จีดีพีประเทศไทย 3.1 ล้านล้านบาท ปี 2564 มีดังนี้

  • กรณีไม่เกิดการร่วมมือกัน จีดีพีจะหดตัวลดลงในช่วง 0.05-0.11% คิดเป็นมูลค่า 8,244-18,055 ล้านบาท
  • กรณีเกิดการร่วมมือในระดับต่ำ (ควบรวมแบบมีเงื่อนไข) จีดีพี จะหดตัวลดลงในช่วง 0.17-0.33% คิดเป็นมูลค่า 27,148-53,147 ล้านบาท
  • กรณีร่วมมือกันในระดับสูง (เกิดการควบรวม) จีดีพี จะหดตัวลดลงในช่วง 0.58-1.99% คิดเป็นมูลค่า 94,427-322,892 ล้านบาท


ส่วนเรื่อง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น นั้น มีดังนี้

  • กรณีไม่เกิดการร่วมมือกัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.05-0.12%
  • กรณีเกิดการร่วมมือในระดับต่ำ (ควบรวมแบบมีเงื่อนไข) อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.17-0.34%
  • กรณีร่วมมือกันในระดับสูง (เกิดการควบรวม) อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.60-2.07% ซึ่งระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับระดับความร่วมมือของผู้ประกอบการหลังควบรวมเป็นอย่างมาก


ซึ่งการควบรวมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่กำหนดตามภายหลังการควบรวม ซึ่งการวิจัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการต่อไป ย้ำว่าการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรวบรวมข้อมูล

----------

ขณะที่ ดร.เสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการอิสระ กล่าวว่ายังขาดปัจจัยหรือตัวแปรทางธุรกิจหลายตัวที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย เพราะธุรกิจไม่ได้ทำในสุญญากาศ แต่มีปัจจัยแวดล้อมมากมาย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องแข่งขันกับต่างชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่แข่งที่จะร่วมมือกันเกิดได้ค่อนข้างยาก ด้วยปัจจัยทางสังคมในปัจจุบันที่บริษัทต้องคำนึงเรื่องธรรมาภิบาล และจากการมีโซเชียลมีเดีย และการตรวจสอบมากมาย หากบริษัทใดไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคย่อมเกิดกรณีดราม่า เป็นต้น


“หากพิจารณาหลักฐานในเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น ล่าสุด AIS มีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้าแล้ว เพราะรู้ตัวว่าจะเผชิญสิ่งที่หนัก ดังนั้นการแข่งขันเกิดอยู่แล้ว”

---------

ด้าน รศ.ดร. ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูยน์นวัตกรรมทางธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่าการใช้ดัชนีทางเศรษฐศาสตร์วัดค่าความกระจุกตัวของตลาด หรือ HHI นั้น ยิ่งค่า HHI สูง ราคายิ่งสูง เมื่อใช้ร่วมกับแบบจำลองจึงเป็นสมมติฐานด้านราคาเป็นหลัก


จึงอยากให้ กสทช.ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในโลกความจริงให้มาก เพราะมีกรณีศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นว่าตลาดโทรคมนาคมนั้น ดัชนี HHI ไม่สัมพันธ์กับราคา เช่น ในอินเดียที่มี ดัชนี HHI ต่ำ แต่ค่าบริการสูง หรือในประเทศจีน ที่ดัชนี HHI สูง แต่ค่าบริการต่ำ เป็นต้น ดังนั้นการควบรวมจึงไม่ได้ส่งผลด้านราคาเสมอไป


“การใช้ดัชนี HHI เป็นการวัดสภาพตลาดในอุดมคติ ไม่ใช่ตลาดโทรคมนาคมที่มีผู้เล่นน้อยรายอยู่แล้ว อีกประการคือการควบรวมทำให้เกิด Spin of effect ทำให้บริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ แตกตัวออกไปมากจึงส่งผลดีเพราะอนาคตการเชื่อมต่อไม่ได้มีแค่ทางเดียว โทรศัพท์รุ่นใหม่รับสัญญาณ 5G โดยตรงจากดาวเทียม ดังนั้นการที่โอเปอเรเตอร์พัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ด้วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ”


หมายเหตุ 

HHI คือ การวัดการกระจุกตัวแบบโดยรวม

  • ค่า HHI มีค่าต่ำกว่า 1,000 ตลาดการสอบบัญชีและบริการให้ความเชื่อมั่นจะมีการกระจุกตัวน้อยหรือไม่มีการกระจุกตัว
  • ค่า HHI มีค่าระหว่าง 1,000-1,800 ตลาดการสอบบัญชีและบริการให้ความเชื่อมั่นจะมีการกระจุกตัวปานกลาง
  • ค่า HHI มีค่าสูงกว่า 1,800 ตลาดการสอบบัญชีและบริการให้ความเชื่อมั่นมีการกระจุกตัวสูง


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/9XBxrtlBnZw

คุณอาจสนใจ

Related News