เศรษฐกิจ

คาดราคาอาหารสัตว์ แพงลากยาว 6 เดือน อึ้ง! ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย แพงที่สุดในโลก

โดย thichaphat_d

12 ม.ค. 2565

86 views

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวถึงแนวโน้มราคาอาหารสัตว์ในปีนี้ คาดว่าจะพุ่งสูงและลากยาวต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากราคาวัตถุดิบในไตรมาสแรกของปีนี้ยังพุ่งสูงขึ้นอีก

ทั้งในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขยับราคาขึ้น จากการเข้าสู่ช่วงปลายฤดู และมีการประเมินว่าผลผลิตจะมีน้อย , ส่วนกากถั่วเหลือง ปรับขึ้นเนื่องจากจีนเร่งซื้อก่อนจะปิดช่วงตรุษจีน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นเช่น เงินบาทอ่อนค่า , ราคาน้ำมัน , ค่าการจัดการที่ปรับสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง พบว่ามีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2560 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.23 บาท , ปี 2561 กิโลกรัมละ 9.85 บาท , ปี 2562 กิโลกรัมละ 9.15 บาท , ปี 2563 กิโลกรัมละ 8.97 บาท และปี 2564 กิโลกรัมละ 10.01 บาท

เมื่อเทียบระหว่างปี 63 กับปี 64 จะพบว่าราคาปรับขึ้นถึง 11.58% โดยล่าสุดนายพรศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย นับได้ว่าแพงที่สุดในโลก โดยปีนี้ราคาขยับขึ้นไปอยู่ที่ กิโลกรัมละ 12-14 บาท จากเดิมที่ 8-9 บาทเท่านั้น

ส่วนกากถั่วเหลืองในปี 2560 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 15.46 บาท , ปี 2561 กิโลกรัมละ 14.72 บาท , ปี 2562 กิโลกรัมละ 13.48 บาท , ปี 2563 กิโลกรัมละ 12.66 บาท และปี 2564 กิโลกรัมละ 16.20 บาท เมื่อเทียบระหว่างปี 63 กับปี 64 จะพบว่าราคาปรับขึ้นถึง 27.90%

ขณะที่ราคามันสำปะหลังในปี 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 5.75 บาท , ปี 2561 กิโลกรัมละ 7.41 บาท , ปี 2562 กิโลกรัมละ 7.03 บาท , ปี 2563 กิโลกรัมละ 7.10 บาท และปี 2564 กิโลกรัมละ 7.70 บาท เมื่อเทียบระหว่างปี 63 กับปี 64 จะพบว่าราคาปรับขึ้นถึง 8.41%

ส่วนข้าวสาลี ในปี 2560 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 6.95 บาท , ปี 2561 กิโลกรัมละ 7.44 บาท , ปี 2562 กิโลกรัมละ 7.70 บาท , ปี 2563 กิโลกรัมละ 7.38 บาท และปี 2564 กิโลกรัมละ 8.91 บาท เมื่อเทียบระหว่างปี 63 กับปี 64 จะพบว่าราคาปรับขึ้นถึง 20.73%

และข้าวบาร์เลย์ ในปี 2560 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ7.89 บาท , ปี 2561 กิโลกรัมละ 8.88 บาท , ปี 2562 กิโลกรัมละ 7.51 บาท , ปี 2563 กิโลกรัมละ 6.79 บาท และปี 2564 กิโลกรัมละ 7.38 บาท เมื่อเทียบระหว่างปี 63 กับปี 64 จะพบว่าราคาปรับขึ้นถึง 8.69%

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ต้นทุนผลิตอาหารสัตว์พุ่งสูง คือการถูกจำกัดการนำเข้าเพื่อไม่ให้กระทบกับราคาสินค้าเกษตรในประเทศและเกษตรกรผู้ปลูก ในขณะที่ความต้องการวัตถุดิบในการผลิตมีมากกว่าปริมาณวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ และถูกจำกัดการนำเข้า จึงทำให้เกิดการลักลอบนำเข้า และราคาวัตถุดิบพุ่งสูงตามกลไกตลาด

โดยมองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน คือ รัฐต้องเร่งสำรวจปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามชายแดนเพื่อนบ้านที่คาดว่ายังมีเหลือ และวางมาตรการนำเข้าข้าวโพด ด้วยการจดทะเบียนผู้ประกอบการนำเข้าให้ครบทุกราย เพื่อบริหารจัดการเปิดโควต้าการนำเข้า และกำกับดูแลราคาให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ รวมถึงสานต่อโครงการข้าวโพดหลังนา เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา หรือแบ่งพื้นที่ปลูก ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนา และ เพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดด้วย

ส่วนกรณีที่กรมการค้าภายใน เตรียมหารือกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งห่วงโซ่ นายพรศิลป์ ยืนยันว่า พร้อมที่จะเข้าหารือ แต่ต้องเป็นการหารือให้ครบทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าคนกลางที่รับซื้อวัตถุดิบมาส่งโรงงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน

โดยจะเสนอแนวทางของสมาคมฯ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา และพร้อมให้ความร่วมมือ แต่หากจะขอให้ตรึงราคา ขณะนี้ก็ตรึงอยู่ในเพดานที่กำหนดอยู่แล้ว แต่หากจะให้ปรับลดราคาอาหารสัตว์ คงทำได้ยาก เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบสูงเช่นกัน

ดังนั้นรัฐบาลควรหาวิธีบริหารจัดการอื่น ที่เหมาะสม เช่นการเปิดให้นำเข้าวัตถุดิบเสรี ภายใต้กรอบราคาที่รัฐกำหนด เพื่อไม่ให้กระทบเกษตรกรที่รัฐประกันราคาให้ , ส่วนผู้บริโภค รัฐบาลสามารถบรรเทาผลกระทบได้ด้วยการช่วยเหลือผ่านโครงการคนละครึ่ง



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/fMKUZ5KriS4

คุณอาจสนใจ

Related News