เศรษฐกิจ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เมินลดดอกเบี้ยตาม 'เฟด' ย้ำธนาคารกลางมีความเป็นอิสระ ชี้หากลดกระทบหนี้พุ่งเพิ่ม

โดย nattachat_c

20 ก.ย. 2567

269 views

วันนี้ (20 ก.ย. 67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT Symposium 2024 ภายใต้หัวข้อ “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” ว่า สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากถึง 0.50% นั้น โดยรวมตลาดรับรู้แล้วระดับหนึ่ง ผลที่เกิดเลยไม่มาก


จะเห็นว่าหลายอย่างเกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจประกาศปรับลด เช่น ก่อนหน้านี้ที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดก็จะเห็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนลงพอสมควร ส่งผลต่อค่าเงินในภูมิภาครวมทั้งค่าบาทให้แข็งค่า


ในส่ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในตลาดพันธบัตรมีบ้าง แต่โดยรวมมีไม่มาก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งระบบสถาบันการเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่กระทบมากคือค่าเงินที่แข็งขึ้น อีกอย่างที่ไปซ้ำเติมจากค่าเงินคือ ทองที่อยู่ในภาวะ All time high และการเคลื่อนไหวของค่าเงินไทยมีความเกี่ยวเนื่องกับทองคำสูงกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค


และการที่เฟดลดดอกเบี้ยมากขนาดนี้ สะท้อนว่าสหรัฐฯ ต้องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ soft landing ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลเศรษฐกิจเทียบกับความเป็นห่วงด้านเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เราสบายใจขึ้นมาได้บ้างว่า โอกาสที่จะ soft landing จะสูงขึ้น


ส่วนผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย จะดูปัจจัยในประเทศ คือ

1. แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจะเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่

2. การเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อ

3. เสถียรภาพทางด้านการเงิน


แต่ก็หนีไม่พ้นต้องดูภาพรวมของโลกด้วย ส่วนตัวเลขจีดีพีไทยนั้น ไม่ใช่ตัวหลักเพราะเป็นข้อมูลย้อนหลัง ไม่ทันการณ์ ไม่เหมาะสม เหมือนมองกระจกหลัง


เราจะดูตัวชี้วัดรายเดือนและมองไปข้างหน้ามากกว่า โดยมองปีนี้ และปีหน้า ซึ่งเมื่อดู 3 ปัจจัยข้างต้น พบว่า ยังไม่เห็นอะไรที่ทำให้ภาพการประเมินก่อนหน้านี้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เห็นภาพเงินเฟ้อที่แตกต่างจากที่เคยมองไว้


ในขณะที่เสถียรภาพทางการเงินนั้นพบว่า ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นมาก ทำให้การปล่อยสินเชื่อชะลอลงในวงที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม


ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ตอนนี้ ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม แต่หากเห็นความจำเป็นต้องประชุมเพิ่มเติมพิเศษก็สามารถทำได้


ทั้งนี้ อัตราลดดอกเบี้ยเพื่อเป้าหมายการลดหนี้ครัวเรือนนั้น หากลดเพื่อทำให้หนี้เก่าลดลงก็ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้หนี้ใหม่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งต้องชั่งน้ำหนัก แน่นอนว่า ไม่ต้องการให้หนี้ต่อจีดีพีโตเร็วต่อเนื่อง เพราะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่อยากเหยียบเบรคให้ลงเร็วลงแรงเกินไป เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจเช่นกัน


ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวมาก ฐานจีดีพีโตช้า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีก็ยิ่งเพิ่ม จึงต้องพิจารณาว่า การลดดอกเบี้ยในตอนนี้ จะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้มากน้อยแค่ไหน และต้องชั่งน้ำหนักภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นจากสินเชื่อใหม่ด้วย


ธปท.ใช้เครื่องมือหลายอย่าง ดอกเบี้ยเป็นเพียงหนึ่งในหลายเครื่องมือ ซึ่งการลดดอกเบี้ยนั้น สำหรับกลุ่มเปราะบางแล้ว อาจจะไม่ได้ผลมากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้ที่ ธปท.มีมาตรการออกมาช่วยอยู่


สำหรับการแฮร์คัทหนี้ ต้องดูภาพรวมและผลข้างเคียง เพราะหนี้ครัวเรือนมีหลายกลุ่ม ยาที่จะใช้ต้องถูกจุด จะใช้ยาครอบจักรวาลอย่างเดียวไม่ได้


ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่าเป็นไปตาม ปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ อย่างเช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ตาม ยังเคลื่อนไหวตามภูมิภาค แต่ยอมรับว่าค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้น จากเมื่อก่อนจะเกาะกลุ่มกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย แต่ปัจจุบัน เริ่มผันผวนคล้ายสกุลเงินเกาหลี ส่วนหนึ่งก็เพราะค่าเงินบาทของไทยไปผูกกับทองคำมากกว่า อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อยากจะขอนัดพบพูดคุย ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่าอันที่จริงตัวเองจะต้องเป็นผู้เข้าไปพบรัฐมนตรีมากกว่า ซึ่งก็ยินดีที่จะพูดคุยกัน


ทั้งนี้ ผู้ว่าฯได้กล่าวในช่วงหนึ่งของการเปิดสัมมนาว่า “การดำเนินนโยบายการเงินต้องพยายามรักษาสมดุล ระหว่างระยะสั้นและระยะยาว ธนาคารกลางทั่วโลกมีพันธกิจที่คล้ายคลึงกันคือ ไม่เพียงต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องเสริมสร้างให้เกิดความเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งต้องอาศัยเสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพด้านระบบการเงิน เป็นพื้นฐานที่สำคัญ


ธนาคารกลางจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องให้น้ำหนักกับเสถียรภาพในระยะยาว ถึงแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถทำได้ผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น แต่มักต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ และอาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ การก่อหนี้เกินตัว หรือพฤติกรรมการเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาว นำไปสู่วิกฤตทางการเงินได้


หน้าที่ในการมองยาวของธนาคารกลาง จึงต้องมาพร้อมกับความอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว หลาย ๆ ครั้ง ในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้าง และย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ดังนั้นหากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอ ก็อาจทำให้เสียหลักการของการมองยาว


มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าความเป็นอิสระ และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา ตัวอย่างงานวิจัยของไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในปี 2023 ก็พบว่า ประเทศที่ธนาคารกลางเป็นอิสระ และน่าเชื่อถือ สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่า และประสบความสำเร็จในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ


ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการในหลาย ๆ ด้าน เพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่คำนึงถึงเสถียรภาพเป็นสำคัญ ให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ“


คุณอาจสนใจ

Related News