เศรษฐกิจ

ครม.ไฟเขียว! ไทยร่วมสมาชิก BRICS มองผลได้-เสีย หากร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

โดย paweena_c

7 มิ.ย. 2567

260 views

ครม.ไฟเขียว! ไทยร่วมสมัครเป็นสมาชิก BRICS ชวนมองผลได้-ผลเสีย หวังร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

บริกส์ (BRICS) เป็นการรวมตัวกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ นำทีมโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ โดยนำเอาชื่อย่อ 5 ประเทศหลักนี้มาเป็นชื่อกลุ่ม และมีประเทศอื่นๆที่เพิ่มมาเมื่อต้นปี 2024 เป็นทั้งหมด 10 ประเทศ โดยอีก 5 ประเทศนี้ล้วนเป็นประเทศการส่องออกน้ำมันอันดับต้นๆของโลก ซึ่งยังมีอีก 20 ประเทศ เช่น แอลจีเรีย โบลิเวีย และไทย แสดงความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่ม

ทำให้กลุ่มบริกส์เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์ มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ คือ ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย



วันที่ 28 พ.ค. รัฐบาลไทยไฟเขียวผ่านพรบ. ส่งรายชื่อสมัครเข้าร่วมกับบริกส์อย่างเป็นทางการ หลังกลุ่มนี้ขยายความร่วมมือมายังประเทศที่ยังไม่เป็นสมาชิก เตรียมส่งตัวแทนเข้าประชุม กลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย หวังเป็นประเทศแรกในอาเซียน และมองว่าจะเป็นโอกาสเพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเศรษกิฐระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย  

ข้อดีสำหรับไทยในการเข้าร่วม BRICS เป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละทวีปของโลก โดยในปัจจุบันกลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มที่เปิดกว้างให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับเป็นช่องทางลดพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงเม็ดเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจในอีกฝั่งขั้วเศรษฐกิจของโลกได้มากขึ้น

ข้อควรระวังสำหรับไทย คือ ต้องยอมรับว่า BRICS เป็นอีกขั้วตรงข้ามของชาติตะวันตก ทางการไทยต้องรักษาท่าทีในการรับข้อตกลงต่างๆ ที่อาจจะเกิดความอ่อนไหวกับคู่ค้าในฝั่งชาติตะวันตก ซึ่งอาจทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมในอนาคต

การประชุมกลุ่มเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น G7 การประชุมผู้นำอเมริกาใต้ จนมาถึงการประชุม BRICS ต่างชี้ให้เห็นถึงจุดยืนที่เริ่มเลือกทางอื่นเพื่อลดการพึ่งพาชาติตะวันตก โดยเฉพาะในด้านการลดการใช้สกุลเงินดอลลาร์ฯ ที่เห็นได้ชัดในทุกเวที ซึ่งเป็นการสะท้อนการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจออกมาจากขั้วเศรษฐกิจดั้งเดิมไปสู่ทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น


คุณอาจสนใจ

Related News