เศรษฐกิจ

ผู้บริโภคสะเทือน เจ้าใหญ่ไล่ฮุบโทรคมนาคม หวั่นไร้อำนาจต่อรอง

โดย chutikan_o

6 ก.ค. 2565

420 views

เป็นที่ฮือฮา! เมื่อ AIS ประกาศซื้อกิจการ 3BB หลังจากที่ก่อนหน้า TRUE-DTAC ได้ขอควบรวม ทำให้นักวิชาการออกมาแจงหากดีลสำเร็จ AIS จะเป็นรายใหญ่ทั้งในตลาดเน็ตมือถือ-เน็ตบ้าน ทางเลือกน้อยลงจ่อปัญหาตามมาเพียบ พร้อมมีกระแสวิจารณ์ว่าตลาดเสี่ยงผูกขาด จี้ กสทช.แสดงจุดยืนให้ชัด ไม่ควรอนุญาตให้ดีลผ่าน


จากการที่เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565  บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ว่าจะซื้อกิจการ 3BB ถือหุ้น 99.87% และหน่วยลงทุน JASIF มูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท โดยขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อนจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น และหน่วยลงทุน


ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก เนื่องจากดีลควบรวม TRUE-DTAC ยังอยู่ในกระบวนการตัดสินอยู่ด้วยเช่นกัน หากกิจการโทรคมนาคมมีการซื้อกิจการหรือรวมกิจการอีก มีความกังวลว่าจะมีปัญหากับผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน



ดีลควบรวม TRUE-DTAC ยังค้างคาอยู่


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กับกลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอม มูนิเคชั่น (DTAC) ประกาศควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม TRUE และ DTAC

ทางด้าน กสทช. เมื่อได้คณะกรรมการชุดใหม่ ในวันที่ 14 เม.ย. 2565 ก็เดินหน้าจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด หรือ โฟกัสกรุ๊ป เกี่ยวกับการควบรวม TRUE-DTAC รวม 3 ครั้ง 1.ครั้งแรก ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2.ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 พ.ค. จัดโฟกัสกรุ๊ป ในรอบผู้บริโภค 3.ครั้งสุดท้าย กลุ่มนักวิชาการ วันที่ 7 มิ.ย. 2565

เมื่อจบโฟกัสกรุ๊ปทั้ง 3 รอบ สำนักงาน กสทช. จะทำการรวบรวมรายงาน ความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ให้คณะกรรมการตัดสินใจ ซึ่งมีรายงานจากแหล่งข่าว กสทช.ว่า ภายในวันที่ 10 ก.ค. 2565 อาจจะได้เห็นความชัดเจนจากคณะกรรมการ กสทช. อย่างเป็นทางการว่าจะอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ และ กสทช. เตรียมการขึ้นศาลปกครองหากถูกฟ้องร้อง ทั้งจากฝ่ายผู้บริโภคและฝ่ายผู้ควบรวมกิจการ



กสทช. ส่อแววไม่ขัดขวาง


ล่าสุด วันที่ 5 ก.ค. 2565 แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้ คณะกรรมการได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจาก AIS แล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทางสำนักงาน กสทช.ที่จะสรุปรายละเอียด และแผนซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม

การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เอไอเอสเข้าซื้อกิจการครั้งนี้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ซับซ้อน เพราะทั้ง AIS ไฟเบอร์ และ 3BB ต่างเป็นผู้รับใบอนุญาต ประเภทสามแบบมีโครงข่ายเป็นของตัวเองทั้งคู่ ทำให้การซื้อกิจการจึงพิจารณาบนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่างกับดีล TRUE และ DTAC ที่ระบุว่าการควบรวมเป็นเรื่องบริษัทแม่คือ ซีพีและกลุ่มเทเลนอร์

อีกทั้ง การควบรวมนั้นต้องรายงานต่อเลขาธิการกสทช. ให้รับทราบภายใน 90 วัน ซึ่ง AIS และ 3BB ก็มีการแจ้งให้ทราบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ดีล AIS และ 3BB ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเช่นกัน เนื่องจาก กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามได้ทันที หรือว่าใช้การกำหนดมาตรการเฉพาะก็ได้ ซึ่งมาตรการบังคับใช้ได้ตาม ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561



กระทบผู้บริโภค ทั้งทางเลือก อำนาจ และราคา

เมื่อ AIS ประกาศซื้อกิจการ 3BB รวมถึงการที่ TRUE-DTAC จะควบรวมกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลว่าจะมีทางเลือกน้อย ทั้งอินเทอร์เน็ตบ้านและอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งมีอำนาจต่อรองน้อยลง จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) อดีต กสทช. ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในกรณีนี้ว่า การที่ AIS ซื้อกิจการของ 3BB นั้นยังมองไม่เห็นข้อดีจากมุมผู้บริโภค แต่ถ้ามองข้อดีจากฝ่ายเอกชน ก็มองว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจ แต่ในมุมของผู้บริโภคได้รับผลกระทบแน่นอน

หาก AIS ซื้อกิจการสำเร็จ ทางเลือกผู้ให้บริการกิจการบรอดแบนด์ไทยจะน้อยลง จาก 4 รายหลัก ก็จะเหลือ 3 รายหลัก คนอาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร 3 รายหลักก็ยังโอเค แต่หากดูฉากทัศน์ทั้งหมดของกิจการโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้น ถ้าการควบรวมของ TRUE-DTAC เกิดขึ้นด้วย สถานการณ์ก็จะหนักหนาสาหัส เพราะในกิจการมือถือไร้สายจาก 3 รายหลัก ก็เหลือแค่ 2 รายหลัก กลายเป็นว่าทั้งตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน และอินเทอร์เน็ตมือถือ ก็เหลือน้อยรายลงเรื่อยๆ และผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดมือถือก็จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านเช่นกัน เป็นฉากทัศน์ที่ไม่น่าอภิรมณ์สำหรับผู้บริโภค เหมือนเป็นลูกไก่ในกำมือ

หรืออาจจะมีกรณีที่บอกว่า 2-3 รายเขาก็ยังแข่งกัน แต่ไม่รู้หรอกในอนาคตอาจจะเกิดการเจรจาธุรกิจกันอีกก็ได้ เพราะครองตลาดทั้ง 2 ตลาดแล้ว

แล้วเมื่อรายที่ใหญ่อยู่แล้วใหญ่ขึ้นอีก จะมีพละกำลังมากขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น แล้วผู้บริโภคจะเอาอะไรไปต่อรอง ถ้ารู้สึกว่าไม่พอใจกับกิจการเขา

สิ่งที่อาจจะตามมาอีก คือ มีแพ็กเกจขายพ่วง เช่น ถ้าใช้อินเทอร์เน็ตบ้านต้องใช้เครือข่ายมือถือนั้นด้วย ต้องซื้อกล่องทีวี หรือต้องโหลดแอปพลิเคชัน แบบที่เคยเป็นมาแล้ว ด้าน กสทช.เคยเจอปัญหาการขายพ่วง และบังคับโปรโมชั่นมาแล้ว เป็นสิ่งที่อาจจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ถ้าผู้กำกับดูแลไม่เข้มแข็งพอ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเรื่องราคาด้วย จากที่งานวิจัยจากหลายที่ได้พูดไว้ ถ้าการแข่งขันน้อยลงราคาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะสัดส่วนส่วนแบ่งในตลาด ไม่ต้องแข่งกันสูงมาก ในประเทศไทยแบ่งตลาดผู้ใช้ได้เต็มๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องลดราคาลงมามากก็ได้ เพราะฉะนั้นนักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ ก็คาดการณ์ว่า ราคาจะสูงขึ้น หรือไม่ภาระผู้บริโภคก็จะมากขึ้น แทนที่เมื่อมีคนใช้มากขึ้น สัดส่วนตัวหารจะทำให้ถูกลง

ยุคโควิดคนก็มีแนวโน้มมาใช้อินเทอร์เน็ตทั้งแบบบ้านและเคลื่อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากการ Work from home หรือ เรียนออนไลน์ จริงๆ ในระยะยาวควรราคาถูกลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังเจอปัญหาที่คนบ่นว่าค่าอินเทอร์เน็ตแพง หลายคนเรียนออนไลน์ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ ฉะนั้นคิดว่าเมื่อควบรวมจนเหลือน้อยรายแล้ว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศจะยิ่งไปกันใหญ่ เป็นเรื่องที่กังวลมากที่สุด

การเสียค่าอินเทอร์เน็ต 500-600 บาท คนมีเงินอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนจนมีจำนวนมากขึ้นหลังจากยุคโควิด แล้วทุกคนต้องใช้อินเทอร์เน็ต เดือนละ 100-200 บาท หรือเพิ่มแค่ 50 บาท ก็กระทบกระเป๋าตังค์แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตแบบเติมเงิน ดูเหมือนราคาถูก แต่รวมๆ แล้วแพง ซึ่งการที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้แบบเติมเงินเพราะว่าเขาอยากจะเก็บเงินไว้ใช้เท่าที่จำเป็น แต่กลายเป็นว่าจ่ายปลีกทำให้ยอดรวมจ่ายแพงกว่าเหมาเป็นรายเดือน นี่เป็นสภาพความเป็นจริงว่าสุดท้ายแล้วคนจนมักจะแบกภาระจ่ายในภาพรวมมากกว่า เพราะว่ามีจ่ายทีละน้อยๆ ภาพรวมของโทรคมนาคมของเมืองไทยนั้นต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่ให้มากๆ ว่ากระทบเขาแค่ 10-20 บาท ก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว



รายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น


น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงความยากในการที่รายใหม่จะเข้าสู่ตลาดโทรคมนาคมว่า ในระยะยาวไม่แน่ใจว่ารายใหม่จะเข้าสู่ตลาดได้หรือไม่ เพราะช่องว่างจะห่างมากขึ้น พอรายใหญ่ใหญ่มากขึ้น โอกาสที่รายใหม่ๆ จะเข้ามานั้นยากแล้ว อาจจะมีการอ้างว่าเดี๋ยวก็มีรายใหม่เข้ามาในระยะยาว แต่การที่รายเดิมมีส่วนแบ่งการตลาดมาก และวางต้นทุนไว้เต็มที่ ทำให้รายใหม่แข่งขันในตลาดได้ยาก เหมือนปิดประตูไปเลย

สำหรับ กสทช. และรัฐบาล ที่จะส่งเสริมให้เกิดรายใหม่ในกิจการนี้ ซึ่งทิศทางที่มันควรจะเป็น คือ ต้องมีรายใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณคนใช้ที่มากขึ้น ทั้งจากคนที่อยู่ต่างจังหวัด คนสูงอายุ เด็กที่โตขึ้นมาก็จะเริ่มใช้มากขึ้น การที่มีทางเลือกน้อยราย เป็นทิศทางที่ไม่ควรจะเป็น



ตลาดโทรคมนาคมเสี่ยงผูกขาด

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Somkiat Tangkitvanich ต่อกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมว่า ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโครงสร้างที่ผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย เพราะหลังจากที่ TRUE และ DTAC ที่กำลังเดินหน้าควบรวมกันแล้ว ตอนนี้ก็มีกระแสข่าวว่า AIS จะซื้อ 3BB อีก ผมคิดว่า 2 ดีลนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยดีลหลังน่าจะเป็นปฏิกิริยาต่อดีลแรก แต่ดีกว่าตรงที่ยังยอมรับว่า การควบรวมต้องผ่านการอนุญาตจาก กสทช. ก่อน ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับดีลแรกยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า แค่ขออนุญาตผู้ถือหุ้นก็พอ ไม่ต้องขออนุญาตควบรวม ท่ามกลางการสร้างกระแสว่าประชาชนและนักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนการควบรวม

หากการควบรวมทั้งสองดีลเกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็จะเหลือทางเลือกน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย

การจัดการอำนาจผูกขาดของธุรกิจเอกชนโดยหน่วยงานรัฐไทย ทั้ง กสทช. หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตลอดจนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งคณะรัฐมนตรี สภาและฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน จะกำหนดอนาคตของทุนนิยมไทย อนาคตการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองของประเทศอย่างแน่นอน

เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดูเหมือนเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงประมาณ 120-150 ปีที่แล้ว ที่มีการควบรวมบริษัทน้ำมัน บริษัทรถไฟและธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนในวงกว้าง จนภายหลังประชาชนทนไม่ไหวอีกต่อไป ผลักดันให้เกิด “ยุคก้าวหน้า” (Progressive Era) ที่เกิดการต่อต้านทุนผูกขาดในวงกว้าง เรียกนายทุนผูกขาดว่า Robber Baron เสมือนเป็น “โจรปล้นประชาชน” (ตรงกันข้ามกับการอวยว่าเจ้าสัวไทยรวยเพราะมีวิสัยทัศน์ล้ำเลิศ) หรือกระแสพยายามควบคุมทุนใหญ่อีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีไบเดนในปัจจุบัน

คำถามก็คือ พวกเราคนไทยจะยอมทนกับบรรดาทุนผูกขาด และรัฐที่เข้าข้างทุนใหญ่ไปอีกนานแค่ไหนกันครับ? #ไม่ทนทุนผูกขาด



หน่วยงานต้องออกมากำกับดูแล พร้อมฝากพรรคการเมืองออกมาพูด

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวว่า ผู้บริโภคที่อยู่ในสภาพที่ลำบากอยู่แล้ว ไหนจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจโควิด ไม่ค่อยมีทางเลือกมาก คนกลางจะเป็นตัวปลดล็อกตรงนี้ได้ ก็คือ กสทช. ก็เหมือนกับที่หลายคนพูดว่า เป็นบทพิสูจน์ของ กสทช. ชุดใหม่ที่เพิ่งรับหน้าที่ ว่าจะแก้เกมในขณะนี้อย่างไร

กสทช.น่าเห็นใจแล้วก็น่ากดดันไปในเวลาเดียวกัน ตอน กสทช.ชุดที่แล้ว ตอนที่ยังทำงานอยู่ ถูกวิจารณ์ว่าไม่ส่งเสริมให้เกิดรายใหม่เลย มีแต่ 3 รายใหญ่เหมือนเดิม แต่ชุดนี้เจอโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น จาก 3 จะเหลือ 2 รายใหญ่แล้ว กสทช. ชุดนี้ ถ้าวิจารณ์ตรงๆ ก็ยังคลุมเครือมากๆ เพราะที่ออกมาคือบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย ในกรณีของการควบรวม TRUE-DTAC แค่รับทราบ ซึ่งอันนี้รับไม่ได้

ในมุมของ กสทช. ไม่ควรอนุญาตง่ายๆ ถ้าจะเรียกร้อง คือ กสทช.ต้องลุกขึ้นมาพูดให้ชัดเจน อย่าคลุมเครือ พูดให้เสียงดังฟังชัดว่าตัวเองมีอำนาจ และจะตัดสินกรณีนี้เมื่อไร อย่างไร บนหลักการอะไร การที่ กสทช.ชุดนี้เพิ่งเริ่มทำงานได้ 3 เดือน ทำให้ประชาชนมีความหวังในการเปลี่ยนแปลง จึงต้องออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจน

สุดท้ายถ้าจะป้องกันไม่ได้จริงๆ แม้ กสทช.ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม แต่เอกชนไปฟ้องศาล ผู้บริโภคก็ยินดีจะหนุนหลัง กสทช.ในคดี ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็ตาม สังคมไทยก็ต้องยอมรับ แต่ว่าในกระบวนการทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก่อน อย่างน้อย กสทช.ก็ได้แสดงจุดยืนของตัวเองในการคุ้มครองผู้บริโภคไว้อย่างดี เพราะทั้งกรณีควบรวม TRUE-DTAC และ AIS-3BB มันชัดมากว่ากระทบผู้บริโภค

ส่วนถ้ามองจากในมุม AIS ต้องบอกว่าเดินเกมน่าสนใจ ก่อนหน้านี้ AIS ออกมาคัดค้านการควบรวมของ TRUE-DTAC และยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจทางกฎหมายที่จะตัดสิน แต่ทาง กสทช. ก็ยังเฉยๆ อยู่ จึงทำให้เห็นดีลนี้จาก AIS ที่เดินหน้าปกป้องความเป็นที่ 1 แล้วก็แถลงว่าอย่างไรก็จะรอ กสทช. อนุมัติ เป็นการกระทำที่ฟาด กสทช. และเครือข่ายมือถืออีก 2 บริษัทเบาๆ ซึ่งการที่ AIS ยืนยันว่า กสทช.ต้องตัดสินก่อน เป็นหลักการที่ถูกต้อง

หาก กสทช.ลุกขึ้นมาตัดสินก็มีแนวโน้มว่า ถ้าได้ก็ได้คู่ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้ทั้งคู่ ถ้าไม่ได้ AIS จะกลับไปอยู่สถานะเดิม เพราะเป็นรายใหญ่อยู่แล้ว แต่ถ้าได้กิจการ 3BB ก็จะเป็นรายใหญ่ตลาดในบรอดแบนด์ด้วย ภาพรวมน่าจะอยู่ในสภาวะที่แข็งแกร่งกว่า เพราะฉะนั้นในมุมหนึ่งก็เป็นเกมทางธุรกิจของธุรกิจรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในการซื้อกิจการครั้งนี้ของ AIS และการควบรวมของ TRUE-DTAC องค์กรผู้บริโภคและสังคมต้องเรียกร้องไปที่ กสทช. แล้วก็รัฐบาลด้วย ที่ดูแล NT อยู่ ก็ต้องลุกขึ้นมาแก้โจทย์ตรงนี้ รวมทั้งขอฝากความหวังที่พรรคการเมือง เพราะยึดโยงกับประชาชน ถ้าออกมาแสดงความคิดเห็นจะกลายเป็นประเด็นสาธารณะมากกว่าองค์กรผู้บริโภคหรือนักวิชาการออกมาพูด อย่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะช่วยแสดงจุดยืนว่าคิดอย่างไร แล้วมีทางออกในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะเดี๋ยวไม่นานก็จะมีการเลือกตั้ง ทุกคนก็จะเสนอแนวนโนบายอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างเหลือน้อยรายแบบนี้ การผูกขาดแบบนี้จะไปอย่างไรต่อ



ผู้บริโภคต่อต้านอย่างไรได้บ้าง

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ด้านผู้บริโภคเอง ก็เข้าใจว่าอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้าในยุคนี้ ไม่รู้จะสู้อย่างไรแล้ว จะสู้ด้วยการบอยคอตก็ไม่ได้ เป็นความเจ็บปวดที่สุด เพราะว่าบอยคอตรายนี้ ไปใช้รายอื่นก็ไม่ใช่

อีกทั้งคนที่เขาหาเช้ากินค่ำก็คงไม่มีเวลาประท้วง ล่ารายชื่อ เขียนเฟซบุ๊ก หรือติดแฮชแท็ก แต่ก็ต้องขอฝากคนที่จ่ายได้ อาจจะรู้สึกว่าแพงขึ้น แต่ไม่เดือดร้อน คนกลุ่มนี้อาจจะต้องออกมาปกป้องสิทธิคนส่วนใหญ่ที่เขาไม่มีเวลามาปกป้องสิทธิ ด้วยการช่วยแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย ติดแฮชแท็ก หรือว่าส่งความเห็นไปให้ผู้ให้บริการมือถือ เรียกร้อง แฮชแท็กต่อ กสทช. ก็ช่วยได้หมด ช่วยๆ กันทำเท่าที่ทำได้ จะได้เป็นฉันทามติให้ภาครัฐตื่นตัวมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้



คุณอาจสนใจ

Related News