อาชญากรรม

ผู้ประกอบการรถบัส แฉ “ส่วยขนส่ง” ช่วยลัดคิว-เลี่ยงตรวจมาตรฐาน

โดย olan_l

3 ชั่วโมงที่แล้ว

30 views

ทีมข่าวได้ข้อมูลจากผู้ประกอบการรถบัสหลายราย ให้ข้อมูลยืนยันตรงกันว่า มีการจ่าย "ส่วย" จริง ทั้งลัดคิว และหลีกเลี่ยงการตรวจมาตรฐาน



ข้อมูลที่ทีมข่าวอาชญากรรมได้มาเป็นผู้ประกอบการขนส่งแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า รถบัสส่วนใหญ่จะหมดอายุทะเบียนพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมและมิถุนายน ซึ่งการตรวจสภาพรถบัสหนึ่งคันใช้เวลานานมาก ใน 1 วัน จะตรวจได้แค่ 10 คันเท่านั้น ถ้าไม่ผ่านการตรวจก็วิ่งรับงานไม่ได้ เพราะจะไม่ได้ต่อทะเบียน ต่อภาษี ดังนั้นจึงทำให้เกิด "ส่วยลัดคิว" ขึ้นมา โดยเฉพาะขนส่งในพื้นที่กรุงเทพ ปทุมธานี อยุธยา และชลบุรี

เป็นการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ขนส่ง เพื่อลัดคิวและย่นระยะเวลาการตรวจสภาพ โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องจะเรียกรับเงินกับผู้ประกอบการ ประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อคัน แต่ถ้าหากจ่ายมากกว่า 4,000 บาทขึ้นไป ถือว่าเป็นราคา VIP จะได้สิทธิพิเศษ คือ สามารถเข้าช่วงตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคิว

ทีมข่าวได้นำเรื่องนี้ไปสอบถามกับ ชยพล ประวีณเมธ กรรมการบริษัททรัพย์เจริญ แทรเวล (2007) จำกัด ผู้ประกอบการรถบัสสำหรับนำเที่ยวที่ดำเนินการมามากกว่า 20 ปี ยอมรับว่ามีจริง ส่วนตัวมองว่าเป็นการเบียดเบียนผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของบริษัทเขาคอไปเข้าคิวตั้งแต่ตี 3 เพื่อให้ได้คิวโดยเร็วที่สุดและป้องกันไม่ให้ถูกเจ้าอื่นที่จ่ายส่วยมาลัดคิว

นอกจากนี้ยังเคยได้ยินว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะหลักหมื่นบาท เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดต้นทุนในการตรวจสภาพของรถบางรายการ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกผู้ประกอบการมที่จ่าย มักจะต่อรถจากอู่เล็ก ๆ และใช้วัสดุประกอบรถแบบเก่า ต่างจากปัจจุบันที่ต้องมีมาตรฐานการใช้วัสดุ และประกอบรถจากวิศวกรกับกรมการขนส่งทางบก เพราะผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงไหว หรือไม่สามารถจัดหาให้เป็นไปตามมาตรฐานได้

นายชยพล เสนอด้วยว่า เรื่องระบบเครื่องยนต์และรถนั้น เป็นเพียงแค่ 30% เท่านั้น เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ รถบัสปลอดภัยได้สูงถึง 70% คือตัวคนขับ กรมการขนส่งทางบกจึงควรจะต้องเพิ่มมาตรการหรือกฎที่มาควบคุมคนขับรถมากยิ่งขึ้น เช่น ติดตั้งเครื่องเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ติดกับตัวรถ ซึ่งคนขับจะต้องเป่าเครื่องดังกล่าวก่อน หากเป่าแล้วมีค่าปริมาณแอลกอฮอล์ รถจะไม่สามารถสตาร์ทติดได้ และจัดฝึกอบรมเพิ่มความปลอดภัยภาคปฏิบัติให้แก่พนักงานขับรถบัส เพื่อให้รู้ถึงสถานการณ์จำลองและวิธีการในการเอาตัวรอดได้หากเกิดเหตุวิกฤติด้วย

ส่วนประเด็นที่หลายคนเสนอให้ผู้ประกอบการนั้นจัดทำ วีดีโอสาธิตความปลอดภัยบนรถทุกครั้งเหมือนเครื่องบิน มองว่าผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่อาจจะยังนำมาใช้ได้ไม่ทั่วถึง เพราะเนื่องจากบางกรณีเป็นการทัวร์ของผู้ใหญ่ที่ปฏิเสธที่จะรับรู้เรื่องดังกล่าว



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/kl7lVEtW5p8

คุณอาจสนใจ

Related News