อาชญากรรม
เปิดยุทธการการทลายรังมังกรเทา CIB Nominee sweep ep.2 ค้น 46 จุดทั่วประเทศ ดำเนินคดี 442 บริษัท
โดย kanyapak_w
4 ธ.ค. 2567
664 views
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท.จตช. , พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ปอศ.,พ.ต.อ.ฐากิจจ์ โตเกียรติชูกรณ์ รอง ผบก.ปอศ.,พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ. และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
เปิดปฏิบัติการตรวจค้น 46 จุดทั่วประเทศ ดำเนินคดีนิติบุคคล 442 บริษัท ผู้ต้องหากว่า 1,000 ราย เป็นชาวจีนกว่า 250 ราย ร่วมกันจดบริษัทเพื่ออำพรางการประกอบธุรกิจต่างๆ อาทิ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตจีน ธุรกิจนำเที่ยว โกดัง/คลังสินค้า ร้านรับแลกเงินต่างประเทศ/เงินดิจิทัล ถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยผิดกฎหมาย และหลายบริษัทไม่มีกิจการอยู่จริง จดทะเบียนบริษัทเพื่อเปิดบัญชีม้า รับโอนเงินจากแก๊งมิจฉาชีพในคดีอาชญากรรมออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ และฟอกเงิน ร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์
โดย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า , หม่อมหลวงภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และผู้แทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลให้ดำเนินการ กวาดล้างธุรกิจตัวแทนอำพรางหรือนอมินีในประเทศไทย ซึ่งประกอบอาชีพต้องห้ามตามกฎหมาย แข่งขันแย่งอาชีพคนไทย และหลีกเลี่ยงการเสียภาษี โดยพบว่าส่วนหนึ่งเป็นขบวนการที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายและอาชญากรรมออนไลน์ ใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน คอนโด และโครงการบ้านหรู ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
โดยประสานความร่วมมือไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) “การป้องกันและปราบปรามปัญหาการเปิดบัญชีม้าของนิติบุคคล และการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE)” ระหว่างตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 มีการเชื่อมต่อระบบข้อมูลผู้จดทะเบียนนิติบุคคลกับระบบข้อมูลกลาง ของตำรวจสอบสวนกลาง (BIG DATA) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลในการป้องกันปราบปรามนิติบุคคลต้องสงสัย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง(Nominee) และเปิดใช้บัญชีม้านิติบุคคล
ตลอดห้วงระยะเวลาสามเดือนที่ผ่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท พบว่า มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้ง กรณีใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง(Nominee) และเปิดใช้บัญชีม้านิติบุคคล
จึงขออนุมัติศาลเพื่อขอหมายเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย อาทิเช่น สำนักงานบัญชี โกดัง/คลังสินค้า ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ตจีน ร้านรับแลกเงินต่างประเทศ/เงินดิจิทัล บริษัทอสังหาริมทรัพย์และบ้านหรูที่ถือครองโดยผิดกฎหมาย จากการตรวจค้น รวบรวมพยานหลักฐานและพยานเอกสารที่ตรวจยึด ทำให้พบแผนประทุษกรรมในการกระทำความผิด 2 รูปแบบ คือ
(1) การจดทะเบียนบริษัท โดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee)
(2) การจดทะเบียนบริษัท ในลักษณะของบริษัทม้า เพื่อนำไปเปิดบัญชีธนาคารรับโอนผลประโยชน์จากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และใช้ในการฟอกเงิน
ผลการปฏิบัติ(ภาพรวม)
1) ปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ 46 จุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่
2) พบเอกสารเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของบุคคลและนิติบุคคล จำนวนทั้งสิ้น 442 บริษัท รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 1,189 ล้านบาท ตรวจพบเงินหมุนเวียนกว่า 3,600 ล้านบาท
3) การดำเนินคดี
- นิติบุคคล จำนวน 442 ราย
- บุคคล จำนวน 1,014 ราย (กรรมการ, ผู้ถือหุ้น, ผู้ทำบัญชี, ทนายความ, นายทุน)
(สัญชาติจีน 258 ราย, ไทย 714 ราย, เยอรมัน 3 ราย, อังกฤษ 3 ราย, ญี่ปุ่น 2 ราย, เมียนมาร์ 2 ราย, กัมพูชา 4 ราย, อเมริกัน 1 ราย, มาเลเซีย 21 ราย,เวียดนาม 4 ราย ,สิงคโปร์ 1 ราย ,คาซัคสถาน 1 ราย
4) ของกลางและทรัพย์สินที่ตรวจยึด
1. สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 34 เล่ม
2. เอกสารการถือครองที่ดิน จำนวน 22 ฉบับ รวมมูลค่า 254 ล้านบาท
3. ตราประทับบริษัทต่างๆ จำนวน 494 ชิ้น
4. ป้ายบริษัท จำนวน 67 ป้าย
5. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 24 เครื่อง
6. ธนบัตรสกุลเงินไทยและต่างประเทศ จำนวน 1,149,290 บาท
7. เครื่องนับธนบัตร จำนวน 2 เครื่อง
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว พ.ศ.2542
2. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560
3. พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล พ.ศ.2561
4. พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา พ.ศ.2485
5. พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543
6. พ.ร.ก.การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566
7. ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
8. ประมวลกฎหมายอาญา
9. พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
(1) การจดทะเบียนบริษัท โดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee)
ชาวต่างชาติจะว่าจ้าง บริษัทบัญชี ในการจดทะเบียนนิติบุคคลประกอบธุรกิจโดยใช้คนไทยเข้ามาเป็นตัวแทนอำพราง หรือที่เรียกว่า “นอมินี” ถือหุ้นแทนชาวต่างชาติในสัดส่วนที่ไม่เกินกว่าที่กำหนด เพื่อหลบเลี่ยงข้อกฎหมายและการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ มาประกอบธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ตลอดจนการถือกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์
จึงมีการวางแผนและเข้าทำการตรวจค้น 23 จุดทั่วประเทศ พบนิติบุคคล 244 ราย บุคคล 319 ราย (จีน 248,ไทย 57 สัญชาติอื่น 14 ราย) เบื้องต้นตรวจพบบริษัทลักษณะเป็นนอมินีของชาวต่างชาติ จำแนกเป็นธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นการค้าที่ดิน, ท่องเที่ยว, ธุรกิจบริการและธุรกิจประเภทอื่นๆ มีทุนจดทะเบียนรวมกัน 891,000,000 บาท
จุดตรวจค้นที่ 1 รวม 8 จุด : สำนักงานบัญชี 3 แห่ง และบริษัทนอมินี 5 ที่ถือครองบ้านหรู
- พบ ชาวต่างชาติสัญชาติจีนจดทะเบียนนิติบุคคลร่วมทุนกับคนไทยโดยมีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่น่าสงสัย เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อถือครองอสังหาริมทรัพย์หลายรายการ เช่น โฉนดที่ดินลักษณะเป็นบ้านหรู และที่ดินเพื่อการเกษตร รวม 22 แปลง รวมมูลค่า 254 ล้านบาท รวมถึงตราประทับของบริษัทต่างๆ จำนวนกว่า 242 ชิ้น และยังพบข้อมูลการว่าจ้างบริษัทรับทำบัญชีและจดทะเบียนบริษัทที่รับทำบัญชีและจดจัดตั้งบริษัทให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มคนจีน โดยจะใช้ชื่อของตนเอง กลุ่มเครือญาติของตน รวมทั้งลูกจ้างของบริษัทเข้าไปถือหุ้นร่วมกับชาวต่างชาติ ในสัดส่วนของคนไทย เพื่อหลบหลีกข้อกฎหมาย
จุดตรวจค้นที่ 2 รวม 7 จุด : ร้านค้า ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ตจีน และโกดังนำเข้าสินค้าขนาดใหญ่
- ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการและ สมุทรสาคร พบสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศจำนวนหลายแสนชิ้น จึงได้ตรวจยึดสินค้าทั้งหมด นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย เบื้องต้นพบสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร (สินค้าต้องห้ามนำเข้า, สินค้าที่ไม่ผ่านอนุญาต อย.)
จุดตรวจค้นที่ 3 รวม 8 จุด : บริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างประเทศ, สินทรัพย์ดิจิทัล USDT
- พื้นที่กรุงเทพมหานคร ลักลอบเปิดกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (USDT) โดยผิดกฎหมาย พบสถานประกอบการที่ดำเนินการโดยใช้ชื่อคนไทย ตรวจยึด สิ่งของและอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจำนวนมาก เช่น ธนบัตรสกุลเงินต่างประเทศ เครื่องนับธนบัตร คอมพิวเตอร์ บัญชีธนาคารของคนจีน โบชัวร์รับแลกเงิน(USDT) โดยพบว่ามีชาวจีน 6 คนเป็นเจ้าของธุรกิจใช้วีซ่าท่องเที่ยวและวีซ่านักศึกษาเขามาในประเทศ
(2) การจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล ในลักษณะของบริษัทม้า
จากการวิเคราะห์แผนประทุษกรรม พบว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปลี่ยนมาใช้บัญชีบริษัทเพื่อเปิด “บัญชีม้านิติบุคคล” แทนบัญชีบุคคลเพื่อรับโอนเงิน เนื่องจากสามารถโอนเงินได้ไม่จำกัดวงเงิน ต่อครั้ง/ต่อวัน, ไม่ต้องทำการ KYC, สามารถโอนผ่าน browser (internet banking ) โดยเพียงมี User และ password ของบัญชีนิติบุคคล เท่านั้น
กลุ่มมิจฉาชีพจึง ว่าจ้างสำนักงานบัญชี/สำนักงานทนายความ ในการจดทะเบียนนิติบุคคล จัดหาบัญชีหรือ “คอกม้า” โดยแอบอ้างใช้ชื่อคนไทยเข้าไปเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น เพื่ออำพราง เมื่อจดทะเบียนสำเร็จ จะนำนิติบุคคลดังกล่าวไปเปิดบัญชีเพื่อรับโอนผลประโยชน์หรือฟอกเงิน โดยไม่มีการประกอบกิจการจริง และถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มมิจฉาชีพในการหลอกลวงประชาชน จากการตรวจสอบข้อมูลการแจ้งความร้องทุกข์ผ่าน ระบบรับแจ้งความออนไลน์ (Thai police online) พบบริษัทที่มีลักษณะเข้าข่ายบริษัทนิติบุคคลม้าจำนวนหลายบริษัท
จึงมีการวางแผนและเข้าทำการตรวจค้น 23 จุดทั่วประเทศ ได้แก่ ชลบุรี 10 จุด กรุงเทพมหานคร 3 จุด เชียงใหม่ 3 ราชบุรี 2 จุด จังหวัดละ 1 จุด ประกอบด้วย ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี จุดประจวบคีรีขันธ์
ผลการปฏิบัติพบนายทุน จีน, มาเลเซีย(สัญญาชาติจีน) รวม 8 ราย ว่าจ้างบริษัทบัญชีรวม 14 บริษัท จดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อเปิดบัญชีธนาคาร โดยมีทนายความ ผู้ทำบัญชี ผู้รับมอบอำนาจในการจดทะเบียน เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และจากการขยายผล พบนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 198 บริษัท บุคคลธรรมดา 695 ราย (เป็นต่างชาติ 37 คน คนไทย 658 คน) ตรวจยึด บัญชีธนาคาร 314 บัญชี เงินหมุนเวียนกว่า 3,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังพบว่า สำนักงานบัญชี บริษัทกฎหมาย สำนักงานทนายความ มีส่วนเกี่ยวข้อง รู้เห็นกับการกระทำความผิด โดยรับรองลายมือชื่ออันเป็นเท็จ ในเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียน มีความผิดตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และประมวลกฎหมายอาญา (รับรองเอกสารอันเป็นเท็จ, แจ้งเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จ) จึงได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่บัญชี และ ทนายความ จำนวน 25 ราย รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งไปยัง สภาทนายความ และสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต ต่อไป
แท็กที่เกี่ยวข้อง อาชญากรรม ,ชาวจีน