อาชญากรรม

ทลายโรงงานผลิตเครื่องสำอางเถื่อน ยึดครีมกวนถุงกิโล มูลค่ากว่า 2 ล้าน

โดย nutda_t

24 ก.ย. 2567

311 views

วันที่ 24 กันยายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. , กระทรวงสาธารณสุขโดย นางสาวตรีชฎา ศรีธาคา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการตรวจค้นโรงงานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางไม่มีเลขจดแจ้ง ตรวจยึดของกลาง 76 รายการ จำนวนกว่า 17,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังเครื่องสำอางที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมมีเลขจดแจ้ง เนื่องจากไม่ทราบถึงส่วนผสมและมาตรฐานการผลิต ซึ่งหากประชาชนซื้อไปใช้มีอาการแพ้ และเกิดปัญหาต่อผิวและร่างกายในระยะยาว ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ทำการเข้าตรวจสอบโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ว่ามีการลักลอบผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยไม่ไม่ได้รับอนุญาต



เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ลงพื้นพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางในพื้นที่ดังกล่าวจริง โดยมีการใช้กล่องลังเบียร์และซอสปรุงรสที่ใช้แล้วบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ผลิตสำเร็จเพื่อปิดบังการตรวจสอบ พบ น.ส.นลิตา อายุ 31 ปี แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว โดยขณะตรวจค้นพบการลักลอบผลิตเครื่องสำอางอยู่ด้วยการต้ม กวน และบรรจุลงถุงพลาสติกเพื่อรอการส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ภายในโกดังที่อยู่ระหว่างการต่อเติมโดยใช้ผ้าใบล้อมรอบไว้ตรวจสอบ พบว่าสถานที่ผลิตดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตผลิตเครื่องสำอาง ตรวจยึดและอายัดของกลาง ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำลาลาง SM Lotion ไม่แสดงเลขที่จดแจ้ง บรรจุถุงพลาสติก จำนวน 50 ถุง

2. เครื่องลำอางเนื้อครีม รอการจุใส่ถุงพลาสติก จำนวน 1,000 กิโลกรัม

3.ผลิตภัณฑ์สบู่ ซึ่งออกแสดงวันที่ผลิตก่อนวันที่ได้รับอนุญาตจึงจัดเป็นครื่องสำอางปลอมและแสดงฉลากอันเป็นเท็จ จำนวน 4,950 ก้อน (แสดงวันที่ผลิต 10-9-2024 ใบรับจดแจ้งวันที่ 11/9/67)

4. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Zeus man moisturizer spray ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่า มีการโฆษณาสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศ เช่น เพิ่มระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ อึด ลดกลิ่น เป็นต้น ฉลากแสดงเลขที่จดแจ้ง 26-1-670002641 1 ซึ่งไม่พบในฐานข้อมูลการจดแจ้งเครื่องสำอาง จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม และแสดงฉลากอันเป็นเท็จ จำนวน 12,960 ขวด

5. เครื่องจักรที่ใช้ผลิต เช่น หม้อต้มเครื่องสำอาง เครื่องกวนผสม วัสดุอุปกรณ์ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งฉลาก และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ หลายรายการ

รวมของกลางจำนวน 76 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท



จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า สถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแต่อย่างใด โดยเจ้าของสถานที่ลักลอบผลิตและส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ โดยจะมีลูกค้าเป็นผู้เข้ามารับเอง โดย น.ส.นลิตา กล่าวอ้างว่า ตนมีความรู้ด้านส่วนผสมและผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากเรียนจบด้านเคมี และทำมาแล้วประมาณ 4 เดือน

คุณอาจสนใจ