อาชญากรรม
ปฏิบัติการกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน 7 ยี่ห้อ มูลค่ากว่า 450,000 บาท
โดย kanyapak_w
30 พ.ค. 2567
2.4K views
ปฏิบัติการระดมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน 7 ยี่ห้อ ตรวจค้น 5 จุด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 21 รายการ มูลค่ากว่า 450,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพและให้ความสำคัญในการลดน้ำหนัก โดยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนักเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ และเข้าถึงง่าย และมีการจำหน่ายอย่างแพร่หลาย อาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตลักลอบผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1(ไซบูทรามีน) ไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อรับประทานแล้ว อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในกรณีผู้มีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีการเฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยตลอด
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและได้รับเรื่องร้องเรียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนัก
บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักผสมไซบูทรามีน จำนวน 7 ยี่ห้อ ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ และ จ.นครปฐม รวม 5 จุดตรวจค้น รายละเอียดดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อตัวย่อ C สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อหนึ่งตัวย่อขึ้นต้นตัว C ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งมีการโฆษณาขายโดยอ้างว่ามีเลขสารบบอาหารถูกต้อง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่ายเพื่อตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขสารบบอาหารระบุอยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์แต่อย่างใด เมื่อส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ทำการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567
ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้น ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.นครสวรรค์ จำนวน 2 จุด ดังนี้
1.1. สถานที่ผลิต ในพื้นที่ ต.ดอนทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผลการตรวจสุขลักษณะสถานที่ผลิตอาหาร พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ตามที่กฎหมายกำหนด
1.2. ผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ ต.วัดไทร อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ C ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 3,720 แคปซูล รวมทั้งกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับแพ็คส่งสินค้า จำนวนหนึ่ง รวมของกลางทั้งสิ้น 4 รายการ มูลค่ากว่า 50,000 บาท และพบ น.ส.เจนขวัญ (สงวนนามสกุลจริง) อายุ 25 ปี เป็นผู้นำตรวจค้น โดย น.ส.เจนขวัญฯ อ้างว่าตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด และเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริง โดยจำหน่ายเดือนละ 100 - 200 กระปุก มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ประมาณเดือนละ 30,000 บาท โดยทำมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 2 ปี
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อตัวย่อ N สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่โฆษณาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แอฟพลิเคชัน ติ๊กต๊อก (Tiktok) ชื่อ “@ninew.phetthae” โดยในวันที่ 23 เมษายน 2567 ได้นำหมายค้นของศาลแขวงนครปฐม เข้าทำการตรวจค้น สถานที่จัดเก็บจำหน่ายและส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.หนองปากโลง อ.เมือง จ.นครปฐม ผลการตรวจค้นพบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก, ซองซิปล็อคเปล่าสีชมพู, กระปุกเปล่าสีเขียว และสติ๊กเกอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าใช้สำหรับการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามเจ้าของผลิตภัณฑ์ทราบว่า ตนได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากช่องทางออนไลน์ ชื่อร้าน “ไอซ์ 168” แล้วนำมาแบ่งบรรจุใส่ซองซิป จำหน่ายผ่านช่อง Tiktok ของตนเอง
จากกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนขยายผลถึงผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักดังกล่าว จนทราบว่า ร้าน “ไอซ์ 168” ดังกล่าวมีสถานที่จัดเก็บ และกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้า อยู่ในพื้นที่ แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
ต่อมาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นต่อศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวน 2 จุด ดังนี้
2.1. สถานที่จัดเก็บ ถนนพระราม 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 9 รายการ รวม 984 ชิ้น , ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 1 รายการ รวม 460 ชิ้น
2.2. สถานที่จัดเก็บและจำหน่ายโดยหน้าร้านเปิดเป็นร้านรับส่งพัสดุ ถนนพระราม 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 4 รายการ รวม 470 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 8 รายการ รวม 2,024 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 1 รายการ รวม 120 ชิ้น และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 3 รายการ รวม 239 ชิ้น
จากการตรวจค้น พบว่าสถานที่ดังกล่าวได้มีการปิดบังอำพรางโดยเปิดหน้าร้านเป็นร้านรับส่งพัสดุแต่ภายในร้านใช้เป็นสถานที่จัดเก็บสินค้าผิดกฎหมายจำนวนมาก พร้อมจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มียอดขายประมาณ 4,000- 5,000 ชิ้น ต่อเดือน โดยมีจำหน่ายมาแล้วกว่า 2 ปี
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวัตถุดิบที่ตรวจพบด้วยชุดตรวจไซบูทรามีน ผลการทดสอบเบื้องต้นปรากฎผลเป็นบวก จำนวน 6 รายการ ประกอบด้วย
1.1 ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อตัวย่อ V
1.2 ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อตัวย่อ S
1.3 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อตัวย่อ L
1.4 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อตัวย่อ B
1.5 ผลิตภัณฑ์ กาแฟลดความอ้วน ยี่ห้อหนึ่ง
1.6 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อตัวย่อ "บ"
รวมตรวจค้นกรุงเทพมหานคร 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 4 รายการ, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 9 รายการ, ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 1 รายการ และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 3 รายการ รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน 17 รายการ จำนวนกว่า 4,297 ชิ้น มูลค่ากว่า 400,000 บาท
*รวมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน จำนวน 7 ยี่ห้อ ตรวจค้น 5 จุด ตรวจยึดของกลางเป็น 1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน ยี่ห้อตัวย่อ C จำนวน 3,720 แคปซูล, 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน จำนวน 12,650 ชิ้น, 3. ผลิตภัณฑ์กาแฟ ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน จำนวน 8,655 ชิ้น รวมของกลาง 21 รายการ มูลค่ากว่า 450,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป
อนึ่ง หากสืบสวนเพิ่มเติม พบความเชื่อมโยงถึงเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ จะได้ดำเนินการขยายผลถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
เบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” โทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ.เฝ้าระวัง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ จึงได้ขยายผลสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบผลิตอาหารปลอม ผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้มักพบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือยาแผนปัจจุบัน
ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขอย้ำเตือนประชาชนว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงมารับประทานเพื่อหวังผลตามกล่าวอ้างเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และ อย.ไม่อนุญาตการโฆษณาที่อวดอ้าง เป็นเท็จ หลอกลวงและเกินจริง หากพบจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาเกินจริงทุกกรณี
แท็กที่เกี่ยวข้อง อาชญากรรม ,อาหารเสริม ,สารไซบูทรามีน ,ยาลดน้ำหนักผสมไซบูทรามีน