อาชญากรรม

มท.ออก 8 มาตรการระยะสั้น คุมอาวุธปืน เตรียมแก้ พ.ร.บ.อาวุธปืน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2490

โดย nattachat_c

6 ต.ค. 2566

208 views

วานนี้ (5 ต.ค. 66) เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบฯ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมพิจารณาควบคุมการครอบครองการพกพาอาวุธปืนเครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน ว่า


วันนี้ ได้เชิญอธิบดีกรมการปกครองมาหารือ เกี่ยวกับการควบคุมการใช้อาวุธปืน  และต้องการได้รับทราบถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน รวมถึง แบลงค์กัน หรือ BB Gun และของเล่นต่าง ๆ ที่สามารถทำอันตรายได้ ต้องมาดูว่า ตรงไหนที่เราต้องควบคุม ซึ่งตนได้ให้นโยบายไปว่า จะไม่อนุญาตให้ออกใบอนุญาตให้กับบุคคลทั่วไป


ผู้สื่อข่าวถามว่า จะขยายขอบเขตของกฎหมายให้รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่นำมาดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ด้วยหรือไม่

นายอนุทิน กล่าวว่า ใช่ ตนได้บอกกับอธิบดีกรมการปกครองไปแล้ว ต้องไปดูกฎหมายทั้งหมด หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติก็ต้องทำ ซึ่งสอดรับกับแนวทางของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการจำกัดการใช้อาวุธปืนเหล่านี้


"ต่อไปจะไม่มีแล้ว ใครที่อยากพกปืน พอรู้ว่าจะไปมีเรื่องมีราวกับใครก็จะต้องพกปืนไปด้วย ซึ่งต่อไปนี้ไม่ได้อีกแล้ว จากนี้ ผู้ที่พกปืนได้จะมีเพียงเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหารือในเรื่องเหล่านี้ด้วย"


นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากเรื่องการควบคุมอาวุธปืนแล้ว ต่อไปนี้สนามยิงปืนก็ต้องมีการควบคุมด้วย เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ไม่ควรที่จะเข้าไปซ้อมยิงปืน


นอกจากนี้ ใบอนุญาตพกปืนก็ต้องมีการควบคุมด้วย แต่สำหรับกรณีที่เป็นกีฬายิงปืนก็จะกำหนดให้ฝากปืนไว้ที่สนามยิงปืน จะไม่สามารถนำออกมาข้างนอกได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นแนวทางที่ตนได้มอบหมายไป ส่วนจะออกมาเป็นข้อปฏิบัติหรือไม่ ก็ต้องให้ทางกรมการปกครองเสนอมาอีกครั้ง

-------------

จากนั้นนายอนุทิน ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืนและเครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น คือ


1. ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัด/อธิบดีกรมการปกครอง ใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด (สำหรับผู้รับ ใบอนุญาตรายเดิมที่จะสั่งนำเข้าเพิ่มเติม) และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้า สิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก


2. ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ให้นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อ นายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่


3. ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด ทั่วประเทศให้มีการกวดขัน ตรวจสอบ ทั่วประเทศ


4. ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬา ระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ

(4.1) ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับการอนุญาต นักกีฬาทีมชาติ


(4.2) อาวุธปืนที่ใช้ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ ไปยืมใครไม่ได้


(4.3) ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด


(4.4) สำหรับกรณีสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการ กวดชัน ตรวจสอบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน ซึ่งหมายถึงต้องฝากอาวุธไว้ที่สนามยิงปืน จะนำออกไปภายนอกไม่ได้


5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาต ให้มีอาวุธปืนติดตัว


6. กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายดำเนินการโครงการอาวุธปืนสวัสดิการให้กับประชาชนทั่วไป แต่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้ สามารถพกได้คนละหนึ่งกระบอกและห้ามโอน และหากเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเจ้าของปืนเสียชีวิต ปืนดังกล่าวจะตกเป็นของทายาทต่อไป


7. ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาต สั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงจะไม่อนุญาตให้เปิดร้านขายปืนรายใหม่เกิดขึ้นเพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน และลดการเข้าถึงอาวุธปืนของประชาชนให้มากที่สุด


ดังนั้น ต่อไปจะมาอ้างเรื่องอันตราย และขอพกอาวุธปืนก็จะไม่สามารถทำได้แล้ว  เพราะการอนุญาตให้คนพกอาวุธปืนได้ ก็เหมือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้น


8. ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปราบปรามและปิดเว็บไชต์ เพจออนไลน์ ซื้อขายอาวุธปีนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนตัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยขอให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน


นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะยาว จะมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490


(1) ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้อ อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ


(2) ความหมาย บทนิยาม ของคำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ไม่ให้หมายความรวมถึงแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย


(3) กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถตัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอ ต่อนายทะเบียนอาวุธปืน


(4) ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้น จะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย


(5) ให้ใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป. 4 ที่มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5-10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต เช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์


นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าวันนี้เราพยายามใช้กฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่ เพื่อบังคับใช้อย่างเต็มที่ ในส่วนที่อยุ่นอกเหนือกระทรวงมหาดไทย เช่นการแก้ไขกฎหมาย หรือตรากฎหมายใหม่ ๆ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวก็จะเสนอนายกฯเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป


เมื่อถามว่ามาตรการระยะสั้น 8 ข้อดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่

นายอนุทิน กล่าวว่า ทางอธิบดีกรมการปกครองจะไปร่างหนังสือสั่งการ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด


เมื่อถามว่า ปืนที่มีการครอบครองอยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะมีกวาดล้างอย่างไร

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนปืนที่มีทะเบียนอยู่ เราก็ทราบว่าเป็นของใคร ส่วน บีบีกัน ก็ขอให้มาขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ ต่อไปอาวุธปืนและสิ่งเทียมปืน เราก็จะทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นของใคร


หากมีการเปลี่ยนมือ และเกิดปัญหาขึ้นมา เจ้าของปืนก็ต้องรับผิดชอบ รวมถึงคนที่มีบีบีกัน หากไม่มาขึ้นทะเบียนตามกรอบเวลาที่กรมการปกครองจะต้องไปออกระเบียบ ซึ่งก็จะถือว่าผิดกฎหมายด้วย


“คนที่พกปืนในที่สาธารณะถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น ประชาชนในประเทศนี้ไม่สามารถที่จะพกปืนไปไหนมาไหนได้ตามสะดวกโดยอ้างว่าป้องกันตัว ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย


และเมื่อตนฟังจากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนที่มีใบอนุญาตหรือใบพกปืน ไม่เคยมีใครทำผิด คนที่ก่อเหตุหรือก่อเรื่องก่อราว คือคนที่ทำผิดกฎหมายทั้งนั้น ปืนก็ไม่ใช่ของตัวเอง เช่น ปืนเถื่อน ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย”


เมื่อถามว่า กรณีคนที่พกปืนมากกว่า 1 กระบอกจะทำอย่างไร

นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้คือห้ามพกพา ห้ามเอาไปไหนมาไหน และห้ามซื้อใหม่ ใครมีก็เก็บไว้ที่บ้านและเก็บไว้ดี ๆ ก็แล้วกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หากนำไปใช้เจ้าของปืนก็จะมีความผิด

-------------





คุณอาจสนใจ

Related News