อาชญากรรม

'อัจฉริยะ' แฉไม่ได้มีนักข่าวแค่ 3 คน แต่มีเป็นสิบ! รับเงิน 'บิ๊กโจ๊ก' มีสังกัดช่องอันดับ 1 ด้วย

โดย nattachat_c

28 ก.ย. 2566

114 views

วานนี้ (27 ก.ย. 66) นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุถึงประเด็นที่มีการพาดพิงว่า มีการรับโอนเงินจากเครือข่ายเว็บพนันของมินนี่


ทั้ง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบไปด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ / สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย / สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย / สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ / และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด


และในช่วงเย็นวานนี้ (27 ก.ย.) ทั้ง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจะร่วมกันประชุมเพื่อหารือถึงประเด็นข่าวที่เกิดขึ้น ว่าพฤติกรรมของนักข่าวกลุ่มนี้เหมาะสมหรือไม่ และมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพื่อร่วมกันตรวจสอบพฤติกรรมของนักข่าวและช่วยกันควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ รวมทั้งจะส่งเรื่องให้องค์กรต้นสังกัดที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบนักข่าวในสังกัดต่อไป


ส่วนการพิจารณาลงโทษนักข่าวที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น เรื่องนี้องค์กรวิชาชีพสื่อไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ แต่เป็นหน้าที่ของต้นสังกัดสื่อที่จะตรวจสอบและมีบทลงโทษ แต่หากไม่เป็นความจริง ก็สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องร้องปกป้องสิทธิของตนเองตามกฎหมายได้


สำหรับกรณีที่นักข่าวจะได้เงินหรือผลประโยชน์จากแหล่งข่าวมี 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรกซึ่งเป็นลักษณะที่ถูกต้องคือแหล่งข่าวติดต่อผ่านการตลาดของบริษัท เพื่อซื้อโฆษณาหรือซื้อเวลานำเสนอข่าวประชาสัมพันธ์ หรือจะเป็นในลักษณะของวิธีการพาสื่อมวลชนหลายสำนักจำนวนมากไปอบรมสัมมนาพัฒนาศักยภาพแล้วเลี้ยงอาหารหรือออกค่าที่พักให้ ซึ่งเรื่องนี้ก็สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน


2) ลักษณะที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง คือการที่แหล่งข่าวติดต่อนักข่าวโดยตรงหรือทางลับว่าขอให้ทำข่าว โดยจะจ่ายเงินหรือให้ผลประโยชน์เป็นการส่วนตัว หรือต่อให้เป็นกรณีที่แหล่งข่าวจ่ายเงินให้เป็นสินน้ำใจ หรือนักข่าวเรียกรับผลประโยชน์เสียเอง หากนักข่าวรับเงินหรือผลประโยชน์มา ก็จะส่งผลต่อความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชน ทำให้ขาดความรอบด้านของการนำเสนอข่าว ซึ่งสวนทางกับจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อที่ต้องนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ยิ่งเป็นข่าวที่รับเงินมาและส่งกระทบกับอีกฝ่าย ก็อาจจะถูกดำเนินคดีโดยอีกฝ่ายหนึ่งได้ ทั้งนี้ในวงการข่าวมีทั้งคนดีและไม่ดีองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรต้นสังกัด ควรจะต้องร่วมกันตรวจสอบพฤติกรรมของนักข่าวควบคู่กันไป     


โดยเฉพาะกองบรรณาธิการของต้นสังกัดนักข่าว คือด่านแรกที่จะต้องตรวจสอบพฤติกรรมการทำงานของนักข่าวให้เป็นไปตามจรรยาบรรณ และไม่มีเรื่องของการได้มาซึ่งข่าวอย่างทุจริตหรือส่วยสินบนเหล่านี้มาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกันกับนักข่าวด้วยกันเองและประชาชนที่ต้องร่วมกันตรวจสอบการทำงานสื่อมวลชนและสร้างมาตรฐานที่ดี ในอดีตก็มีนักข่าวหลายคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้และก็ถูกตรวจสอบ ซึ่งสำหรับองค์กรวิชาชีพก็จะดำเนินการประจานให้คนในวงการรับทราบว่ามีคนพฤติกรรมแบบนี้ ส่วนเรื่องการถูกดำเนินคดีไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นการสมประโยชน์ระหว่างกัน แต่ยุคปัจจุบันค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะรูปแบบการให้และการรับเนียนกว่าและทันสมัย

----------

เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (27 ก.ย. 66) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. เพื่อขอให้ตรวจสอบบ้าน 5 หลังที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ


โดยนายอัจฉริยะ ยังได้กล่าวถึงกรณี สื่อมวลชนมีส่วนกระทำความผิด ว่า มีนักข่าว 10 คนที่รับเงิน เรื่องนี้ให้ตำรวจดำเนินการ ตนเองขอไม่ก้าวล่วงการทำงานของตำรวจ คนไหนรับเงินคนนั้นก็รับผิดชอบ เชื่อว่าอีกไม่เกิน 15 วัน น่าจะมีการเช็คบิลนักข่าว เพราะพบว่าเป็นกลุ่มคนที่รับเงินโดยตรงมาจากบัญชีเครือข่ายมินนี่เลย จากคนที่ได้รับเงินทั้งหมด 650 คน


สำหรับเส้นทางการเงินของนักข่าว พบว่ามี 3 ลักษณะ คือ


1) นักข่าวที่จะได้รับข้อมูล Exclusive ในสำนวนคดีหรือตามติด พล.ต.อ.สุรเชษฐ์


2) เป็นกลุ่มนักข่าวที่จะไม่ค่อยถาม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เท่าไหร่


3) นักข่าว ที่ได้รับเงินมาเพื่อเขียนข่าวโจมตีฝั่งตรงข้าม และเขียนข่าวอวยสรรเสริญ


โดยพบว่า จะมีการจ้างข่าวละ 5,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นกว่าบาท โดยนายอัจฉริยะกล่าวเป็นนัยๆ ว่าในจำนวน 10 นักข่าวนี้มีนักข่าวสังกัดช่องอันดับ 1 ของประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

------------



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/axTL_pEYCpg

คุณอาจสนใจ

Related News