อาชญากรรม
ทลายเครือข่าย แหล่งผลิตโบท็อกปลอม ส่งขายคลินิกเสริมความงามทั่วกรุง มูลค่าเสียหายกว่า 10 ล้าน
โดย olan_l
12 ก.ค. 2567
149 views
วันนี้ (12 ก.ค.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศรป. และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของยาและการใช้ยา
ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีทลายแหล่งผลิตโบท็อกปลอมในพื้นที่ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอื่นๆ จำนวน 90 รายการ รวมทั้งสิ้น 26,293 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 10,000,000 บาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง สำหรับใช้ฉีดเข้าร่างกาย ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยพบว่า มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อดังซึ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่พบเลขทะเบียนตำรับยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้ทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่ผลิต และสถานที่เก็บ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม
ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นต่อศาลแขวงพระนครเหนือเข้าตรวจค้นทั้งหมด 2 จุด ดังนี้
1. สถานที่ผลิต บ้านพักอาศัย บริเวณ ซ.นวมินทร์ 111 ถ.ประดิษฐ์มนูกิจ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด
- ผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 11 รายการ เช่น บี 100 คอมเพล็กซ์, LUTHIONE INJ., Bio swiss MIXING WHITE V2 Plus, CYTOCARE, L'ebss AMPOULE, ERICA ULTRAFIRMIMG ESSENCE, AXO, Guna - Made, Guna - Collagen เป็นต้น
- อุปกรณ์และวัตถุดิบในการผลิต จำนวน 22 รายการ เช่น เครื่องล้างขวด Vial, เครื่องอบฆ่าเชื้อ, อุปกรณ์ปิดผนึกฝาขวด, กระบอกและเข็มฉีดยา, ฝาสแตนเลส, ขวด vial บรรจุของเหลว,ขวดvial ยังไม่บรรจุของเหลว, ฝาปิดพลาสติกสีเทาและขาวสำหรับปิดขวด vial, แผ่นกระดาษสำหรับเป็นฐานรองขวดพลาสติก, กล่องบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อ Nabota, กล่องบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อ Aestox ,น้ำเกลือ 0.9 Normal Saline Solution, สติกเกอร์ฉลากผลิตภัณฑ์ GUNA-MADE, สติกเกอร์ฉลากผลิตภัณฑ์ Nabota พร้อมอุปกรณ์การผลิตอื่นๆ
2. สถานที่แพ็ค บรรจุ บ้านพักอาศัย บริเวณ ซ.เสมอดามาพงศ์ ถ.ลาดพร้าว71 แขวง/เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด
- ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย จำนวน 33 รายการ เช่น L-B5 Complex Rose Gold, Luthione, Meso White radiance, Mesoestetic lipolytic solution, Liporase inj, Lucchini Human, Lucchini Plant, Biocell , Collagen Platinum Forte+Vit.C PlacentaGlulax, V2 Bio swiss mixing white, Botaone, Neuronox, Nabota, Botulax, Wondertox, Aestox, Guna-Made, Guna -Collagen, Neuramis, Radiesse
- อุปกรณ์ในการผลิต จำนวน 24 รายการ เช่น ฝาสแตนเลส, เครื่องปิดผนึกฝาขวดvial, ขวด vial บรรจุของเหลวใสไม่ติดฉลาก, กล่องบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อ Nabota, กล่องผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Neuronox, กล่องผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Botaone, กล่องผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Guna-Made, กล่องผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Guna -Collagen, กล่องผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Aestox,เอกสารกำกับยา Nabota, เอกสารกำกับยา Guna, สติกเกอร์ฉลากผลิตภัณฑ์ Guna - Collagen, สติกเกอร์ฉลากผลิตภัณฑ์ Guna-Made, สติกเกอร์ฉลากผลิตภัณฑ์ Nabota
จากการสืบสวนทราบว่า การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาปลอม ผู้สั่งการ คือ แพท หรือ พลอยใส ซึ่งเป็นชื่อในวงการเสริมความงาม โดยมีการผลิตในบ้านพักอาศัยของตนเอง และบ้านที่เปิดเป็นบริษัท เกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั่วไป บังหน้า เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ โดยสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิตจะอยู่บ้านพักอาศัย
ส่วนบ้านที่เปิดบริษัท จะเป็นที่บรรจุภัณฑ์และเก็บสินค้าที่พร้อมจะกระจายไปให้ลูกค้า ซึ่งสถานที่ทั้ง 2 แห่ง มีลักษณะเป็นหมู่บ้านหรู เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบพบของเจ้าหน้าที่ ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอมจะผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคลินิกเสริมความงาม มีการจัดส่งไปยังทั่วประเทศ โดยเฉพาะ พื้นที่ใน กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล
การผลิต การจำหน่ายและการจัดส่ง มีการมอบหมายหน้าที่กันอย่างชัดเจน คือ แพท หรือ พลอยใส ผู้สั่งการจะตั้งกลุ่มเฉพาะทางช่องทางแอพพลิเคชั่นไลน์ขึ้นมา และเชิญบุคคลซื้อขายเข้ากลุ่ม เมื่อมีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปประเภทวิตามินต่าง ๆ ซึ่งเป็นยาที่ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ไม่พบเลขทะเบียนตำรับยา โดยทางร้านก็จะจัดส่งไปให้ลูกค้า
แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตปลอมขึ้นมาได้ จะสั่งให้ น.ส.เมย์ (สัญชาติพม่า) ลูกจ้าง ทำหน้าที่ผลิตขึ้นที่บ้าน ย่านนวมินทร์ 111 ถ.ประดิษฐ์มนูกิจ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เมื่อผลิตครบตามจำนวนสั่งซื้อก็จะส่งต่อไปยังบ้านย่าน ซ.เสมอดามาพงศ์ ถ.ลาดพร้าว 71 แขวง/เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ น.ส.คัม (สัญชาติพม่า) ลูกจ้าง ทำหน้าที่บรรจุผลิตภัณฑ์ลงกล่องยาปลอม พร้อมใส่เอกสารกำกับยา ติดสติกเกอร์ ต่อมาจะสั่งให้ นายเบส และ นายตูน เป็นผู้จัดส่งให้ลูกค้าต่อไป
ขั้นตอนการผลิต จะใช้อุปกรณ์กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา โดยใช้ตัวยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยาและน้ำเกลือเป็นส่วนประสมในการใส่ลงในขวด vial โดยผู้ผลิตจะใช้การคาดคะเนปริมาณของตัวยาและน้ำเกลือเองไม่มีค่าตามมาตรฐาน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต จะลงบรรจุภัณฑ์ที่ทำปลอมขึ้น
โดยในการตรวจค้นครั้งนี้ ยังพบอีกว่า สถานที่ผลิตไม่ได้รับอนุญาตและไม่ถูกสุขลักษณะ โดยพบว่าหากมีคำสั่งซื้อและให้ราคาที่ต่ำ ผู้ผลิตจะใช้น้ำเกลืออย่างเดียวโดยไม่มีการใส่ตัวยาในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยใช้น้ำเกลือ 1 ขวด สามารถผลิตได้กว่า 1,000 ขวด ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดทั้งหมด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย หากมีการผลิตที่ไม่ได้รับมาตรฐาน จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้
ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้นจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า Neuronox เป็นยาปลอม และยังเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาปลอมมี Nabota, Aestex, Guna-Made, Guna -Collagen จากการตรวจค้น พบ บรรจุภัณฑ์ สติกเกอร์ และใบกำกับยา ของยี่ห้อดังกล่าวเป็นจำนวนมาก รวมตรวจค้น 2 จุดตรวจยึดของกลางทั้งหมด 90 รายการ รวมทั้งสิ้น 26,293 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 10,000,000 บาท, อุปกรณ์และวัตถุการผลิต จำนวน 46 รายการ, ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง จำนวน 44 รายการ
จากการสืบสวน พบมีการใช้บัญชีม้าในการรับเงินค่าผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม เพื่อหลบหลีกการตรวจสอบพบของเจ้าหน้าที่ กว่า 5 บัญชี จากการตรวจสอบเพียง 1 บัญชี พบว่า ตั้งแต่ ม.ค. 2567 - มิ.ย. 2567
มีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท อีก 4 บัญชีอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ โดยในวันที่ตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจยึด ของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อทำการออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
เบื้องต้น การกระทำของ ผู้ต้องหากับพวก เป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ฐาน
1.1 “ผลิตยาปลอม” ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่10,000 บาทถึง 50,000 บาท
1.2 “ขาย หรือ นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอม” ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี และ ปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท
1.3 “ผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษ จำคุกไม่ เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน
2.1 “ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
2.2 “ผลิตหรือนำเข้า เครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้อนุญาต” ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท
2.3 “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศรป. และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของยาและการใช้ยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลสืบหาแหล่งผลิตและขายยาปลอม ยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา เครื่องสำอางและเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาต จนสามารถตรวจยึดของกลางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาดูภาพลักษณ์และรูปร่างตนเองกันมากขึ้น ดังนั้นการฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ หรือฉีดวิตามินบำรุงเข้าสู่ร่างกายเพื่อจึงได้รับความนิยม เพื่อช่วยในการเติมเต็มรูปหน้าหรือเพื่อเติมเต็มริ้วรอยบนใบหน้า หรือเติมเต็มร่องลึกต่าง หรือแม้แต่การบำรุงผิวให้กระชับ เมื่อความนิยมมีมากขึ้นประกอบกับความต้องการเสริมความงามในราคาถูก จึงมีกลุ่มที่ลักลอบผลิตภัณฑ์เถื่อนเหล่านี้ หรือนำเครื่องสำอางที่ไม่ได้รับอนุญาตฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีทั้งในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย
จึงขอฝากผู้ที่ต้องการเสริมความงาม ควรเลือกรับบริการจากสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้บริการ ก่อนการฉีดควรสอบถามและขอดูตัวสารที่ฉีดที่ว่าได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. หรือไม่ เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์เถื่อนฉีดเข้าร่างกายนั้น อาจเกิดอันตรายจนถึงแก่เสียชีวิตตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวมาแล้ว ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดปฏิบัติการปราบปรามเวชภัณฑ์ สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอางที่เป็นเป้าหมายของการปลอมแปลง และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ จนสามารถหาต้นตอของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและตรวจยึดได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเฝ้าระวังและกวาดล้างต่ออย่างต่อเนื่อง และขอฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ยา และเครื่องสำอาง ที่ใช้เสริมความงาม ควรซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ไม่หลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดเพราะอาจทำให้ท่านได้รับความเสี่ยงต่อการนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยเข้าสู่ร่างกาย และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและร่างกายของท่าน โดยก่อนซื้อขอให้ตรวจสอบการได้รับอนุญาตกับเว็บไซต์ อย. ก่อน และขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต น้ำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมและด้อยคุณภาพให้หยุดการกระทำเนื่องจากท่านกำลังทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค “ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบ
แท็กที่เกี่ยวข้อง ทลายเครือข่าย ,คลินิก ,โบท็อก