อาชญากรรม

‘ธรรมกาย’ ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง “ลัทธิโยเร”

โดย attayuth_b

4 ม.ค. 2567

35 views

กรณีพบศพผู้เสียชีวิต 2 ศพ ที่คาดว่าฆ่าตัวตายตามความเชื่อของลัทธิโยเร เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าอาจไม่เกี่ยวข้องเพราะผู้ป่วยมีประวัติการรักษาทางจิตร่วมด้วย ขณะที่วัดพระธรรมกายก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลัทธิดังกล่าว

กรณีการพบศพของสัตวแพทย์หญิง อายุ 41 ปี และ ลูกสาว อายุ 12 ปี ในบ้านพัก ที่ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พร้อมกับขวดไซยาไนด์ และ จดหมายที่มีข้อความสั่งเสียให้นำศพใส่ในโลงเดียวกัน รวมทั้งวางเงินสดไว้ 1 แสนบาท ล่าสุดวันนี้สามีของผู้เสียชีวิตได้รับศพภรรยาและบุตรสาว เพื่อไปบำเพ็ญกุศล

พ.ต.อ.อาทิตย์ ยาแก้ว ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร บ้านฉาง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ตายได้หย่ากับสามี แต่ยังอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ซึ่งผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยจิตเวชมานานแล้ว โดยไม่พบปัญหาการเงิน จึงสันนิษฐานว่า สาเหตุของการก่อเหตุอาจเกิดจากอาการจิตเวชที่เป็นอยู่

ส่วนเรื่องลัทธิโยเร ที่พบว่าอาจมีความเชื่อมโยงจากข้อความในจดหมายลาซึ่งระบุว่า "การตายครั้งนี้นำมาซึ่งอิสรภาพทั่วทุกจักรวาล" เป็นเพียงการนับถือของผู้เสียชีวิต แต่อาจไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ส่วนสารไซยาไนด์พบว่าเป็นลอตเดียวกับกรณีแอม ไซนาไนต์ ที่คาดว่าผู้เสียชีวิตนำเข้ามาใช้ในงานรักษาสัตว์

ขณะที่มีข่าวลืออ้างว่า "ลัทธิโยเร" มีความเชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย ล่าสุดสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้ออกมาชี้แจงว่าทางวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มความเชื่อตามที่สื่อกล่าวอ้าง โดยวัดพระธรรมกายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา สังกัดคณะสงฆ์ไทย ตามนิกายเถรวาท ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม

ข่าวสามมิติ ได้สืบค้นข้อมูลเบื้องต้นพบว่าลัทธิโยเร มีอีกชื่อเรียกว่า เซไกคิวเซ เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อเกือบ 90 ปี ที่แล้ว โดยนาย โมกิจิ โอกาดะ ซึ่งนำหลักความเชื่อของลัทธิชินโต และ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน มารวมกัน โดยอ้างตัวว่าพระเป็นเจ้าได้มอบอำนาจให้เขาเผยแพร่ลัทธิ ด้วยการใช้แสงจากฝ่ามือสำหรับการรักษา เพื่อขจัดความเจ็บป่วย และ ทุกข์ต่างๆ ของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อความเรื่องความงาม เช่น งานศิลปะ เกษตรกรรม และการจัดดอกไม้

ขณะที่ลัทธินี้เข้าสู่ประเทศไทยช่วง ปี 2510 เป็นต้นมา โดย กรมการศาสนารับรองให้มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา เป็นองค์กรศาสนาย่อยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ลัทธิเซไกคีวเซ หรือ ลัทธิโยเร ในปี 2519

ขณะที่ช่วงปี 2521–2524 ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจนเกิดสถานปฏิบัติธรรม หรือโบสถ์ของลัทธิในหลายจังหวัด ทางภาคเหนือ ก่อนที่ในปี 2527 จะถูกลดสถานะกลับเป็นมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยกิจกรรมทางศาสนาตามเดิม ซึ่งตลอดช่วงหลายปีที่ลัทธินี้เผยแพร่อยู่ในไทยก็มีการตีความความเชื่อแตกต่างกันไปต่างๆ นานา รวมไปถึงกลุ่มองค์กรเชิงพาณิชย์ที่มีการเก็บเงินค่าสมาชิก การค้า และกิจกรรมหลายกลุ่มในปัจจุบัน

คุณอาจสนใจ

Related News