อาชญากรรม

นายกสมาคมปืนฯ ร้องรัฐแก้ปัญหาให้ถูกจุด เปิดสถิติอาชญากรรม ส่วนใหญ่จาก 'ปืนเถื่อน-ปืนดัดแปลง'

โดย panwilai_c

5 ต.ค. 2566

452 views

สิ่งเทียมอาวุธที่เรียกกันว่า "ปืนเเบลงค์กัน" เริ่มเป็นที่สนใจเเละถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังมีคนบางกลุ่มนำมาดัดเเปลง ให้สามารถบรรจุกระสุนเเละยิงได้จริง ซึ่งปัจจุบัน พบว่าปืนดัดเเปลงชนิดนี้ กำลังเป็นที่ต้องการของอาชญากรเเละวัยรุ่นบางกลุ่ม เพราะราคาถูกเเละหาซื้อง่ายในโลกออนไลน์



วันนี้ (5 ต.ค. 66) รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" เรียกประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมทั้งระยะสั้นเเละระยะยาว ขณะที่ "สมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย" เรียกร้องรัฐบาลเเก้ปัญหาให้ถูกจุด หลังพบสถิติการก่อเหตุอาชญากรรมส่วนใหญ่ มาจากปืนเถื่อนเเละเเบลงค์กัน ซึ่งร้านจำหน่ายอาวุธปืนไม่มีขาย



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุมกับปลัดกระทรวง / อธิบดีกรมการปกครอง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หลังพบปัญหาที่เกี่ยวกับอาวุธปืน



โดยเฉพาะข้อกำหนดใน พ.ร.บ.อาวุธปืน ที่ใช้กันมาตั้งเเต่ปี 2490 ซึ่งบางส่วนมองว่า มีบางข้อไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยเฉพาะปืนแบลงค์กัน ซึ่งปัจจุบันถูกเอามาดัดเเปลง รุนเเรงไม่ต่างจากปืนจริง เเต่กฏหมายไม่ถือว่า เป็นอาวุธ



ที่ประชุมได้ข้อสรุป โดยกำหนดเป็นมาตรการ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว

สาระสำคัญมาตรการระยะสั้น เช่น

- กำหนดให้นายทะเบียนอาวุธปืน งดการออกใบอนุญาตนำเข้า หรือค้า สิ่งที่เทียมอาวุธปืนทุกชนิด



- ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือ สิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องไปแสดงและบันทึกต่อนายทะเบียนตามภูมิลำเนา



- ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน และห้ามนำกระสุนออกนอกสนามเด็ดขาด



- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว



- งดการออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



- และขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ / กระทรวง ดีอีเอส เร่งปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายปืนเถื่อน



ระยะยาว คือการแก้กฎหมายใน พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 จากนี้จะกำหนดให้



- ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืน ต้องมีใบรับรองสุขภาพจิตจากแพทย์



- แก้ไขคำนิยาม คำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ไม่ให้หมายความรวมถึง แบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย



- การซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องขออนุญาตแบบเดียวกับปืนจริง



- ผู้ครอบครองปืนทั่วประเทศ ต้องนำปืน มามายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก เเละทุกราย



- ผู้ที่ถือใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน ตามแบบ ป.4 ต้องนำปืนมารายงานตัวทุก 5 ปี หรือ 10 ปี เพื่อพิจารณาต่อใบอนุญาต



ทีมข่าว 3 มิติ ลงพื้นที่ย่านวังบูรพา เราได้คุยกับ นายฐิติธร บุพพารัมณีย์ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า การก่อคดีอาชญากรรมในช่วงที่ผ่านมา มาจากปืนเถื่อนเเละปืนดัดเเปลงเป็นหลัก เช่นเเบลงค์กัน เเละบางคดีมาจากปืนสวัสดิการ ซึ่งไม่ได้มีจำหน่ายในร้านขายปืน



ที่เป็นคดีใหญ่เเละอยู่ในความสนใจล่าสุด เช่น คดียิงปลัดอำเภอที่ศรีสะเกษ คนก่อเหตุเป็นวัยรุ่น สั่งซื้อเเบลงค์กันดัดเเปลงเป็นอาวุธสังหาร กลุ่มวันรุ่นไล่ยิงกันในวัดที่นครปฐม ใช้เเบลงค์กัน ล่าสุดที่พารากอน เด็ก 14 ปี ก็เเบลงค์กัน



นายฐิติธร บอกว่า กลุ่มครอบครองปืนถูกกฏหมาย มี 3 กลุ่มหลัก

1. มีปืนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สิน

2. เพื่อการกีฬา

3. เพื่อสะสม



มุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่า ปัญหาที่ผ่านมา ผู้คนมักจะกล่าวโทษมาที่อาวุธปืน ทั้งที่ปืนเป็นเพียงองค์ประกอบที่ทำให้เหตุนั้นรุนแรงขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News