TDRI หวั่น 'ทรู-ดีแทค' ผูกขาดระดับอันตราย 'ชัยวุฒิ' ชี้ไม่เกี่ยวรัฐบาล เชื่อ ปชช.ได้ประโยชน์

เศรษฐกิจ

TDRI หวั่น 'ทรู-ดีแทค' ผูกขาดระดับอันตราย 'ชัยวุฒิ' ชี้ไม่เกี่ยวรัฐบาล เชื่อ ปชช.ได้ประโยชน์

โดย thichaphat_d

24 พ.ย. 2564

11 views

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI แสดงข้อคิดเห็นต่อการควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทคว่า ทั้งสองบริษัทเรียกการควบรวมนี้ว่าเป็น Eco Partner แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร นี่คือ “การควบรวม” ซึ่งตลาดโทรศัพท์มือถือในไทย มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหากมีการควบรวม จะยิ่งทำให้มีการผูกขาดมากขึ้น ถึงระดับอันตราย


ถ้าตลาดเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย แปลว่าตลาดจะถอยหลังกลับไปก่อนปี 2547 เราดูอนาคต ได้จากประวัติในอดีต ตอนนั้นมีผู้ให้บริการเพียง 2 รายคือ เอไอเอส และดีแทค ก่อนจะมีผู้ประกอบการรายที่ 3 คือ ทรูมูฟ ทำให้บริการไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้บริโภคเท่าไรนัก เช่น การล็อค IMEI, ค่าบริการสูง และมีการบังคับขายพ่วงติดมาด้วย


เพราะฉะนั้นหากเกิดการควบรวม แล้วตลาดย้อนกลับไปเป็นแบบก่อนปี 2547 อาจมีผลต่อราคาค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการขายพ่วงลักษณะต่างๆ ซึ่งอาจไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เมื่อเทียบกับผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกได้มากกว่าเมื่อมีผู้ประกอบการ 3 ราย


และส่งผลต่อผู้บริโภค ทั้งประชาชนทั่วไป เมื่อเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ราย ทำให้การแข่งขันน้อยลง อาจมีผลต่อค่าบริการ การทำโปรโมชั่น และออกแพ็คเกจที่อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และทุกธุรกิจ เนื่องจากทุกธุรกิจต้องใช้อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ


นอกจากนี้ ยังกระทบรัฐบาล เพราะหากมีการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ เช่น 6G ในอนาคต การควบรวมกิจการจะทำให้เกิดการแข่งขันประมูลลดลง ส่งผลให้รัฐมีรายได้ลดลง และเมื่อรัฐมีรายได้ลดลง มีโอกาสที่จะเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีมากขึ้น เพื่อลดการขาดดุลภาครัฐ และหนี้สาธารณะที่กำลังพุ่งสูงขึ้น


ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึง การควบรวมของ TRUE และ DTAC ว่า ตนยังไม่ได้ศึกษา ต้องขอรอดูรายละเอียดก่อน


เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตน เป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นสิทธิ์ของแต่บริษัทที่จะวางแผน และคำนึงถึงประโยชน์เพื่อลงทุนและลดค่าใช้จ่าย หรืออาจจะทำให้การดำเนินธุรกิจดีขึ้น รัฐบาลยังไม่ได้ลงไปดูเรื่องนี้


และเชื่อว่าจะไม่เป็นการผูกขาดเพราะมี กสทช.กำกับดูแลอยู่แล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่ามีกี่บริษัท ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ เพราะบางประเทศก็มีอยู่เจ้าเดียว ต้องไปดูภาพรวมหลังจากทำธุรกิจไปแล้วในระยะยาว


เชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ เพราะหากมีบริษัทโทรคมนาคมที่มีความเข้มแข็ง ให้บริการกับประชาชนได้ทุกพื้นที่ และมีการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ซึ่งจะที่ดีต่อภาพรวมของประเทศ


ซึ่งระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ถ้ามีการควบรวม จะยิ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานมีการผูกขาดเพิ่มขึ้น มีผลต่อการทรานส์ฟอร์ม หรือเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยต้นทุนสูงขึ้น


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/md9rDiWEkyk

คุณอาจสนใจ

Related News