กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามการดำเนินงาน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามการดำเนินงาน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

โดย kodchaporn_j

15 พ.ย. 2564

72 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงาน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี


วันนี้ เวลา 11.16 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในการนี้ ทรงฟังบรรยายสรุปแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริแบบบูรณาการ การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ และภาคเอกชน ด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาด้านการเกษตร ส่งเสริมพัฒนาด้านการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงทรัพยากรป่าไม้ โดยสามารถฟื้นฟูป่าชายเลน ที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี 1,300 ไร่ รวมทั้งฟื้นฟูหญ้าทะเลเพิ่มขึ้นเป็น 1,245 ไร่ ส่งผลให้พะยูนที่ใกล้สูญพันธุ์ ที่หายไปจากอ่าวคุ้งกระเบนฯ เมื่อ 30 ปีก่อน ได้หวนคืนถิ่นอีกครั้ง


จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง ไปทอดพระเนตรการดำเนินงาน และผลสัมฤทธิ์ของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ รวม 9 กิจกรรม โดยกิจกรรมแรก ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าและการใช้ประโยชน์จากดินเลนนากุ้ง โดยการนำดินเลนพื้นบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล หลังจากจับกุ้งแล้ว ซึ่งมีทั้งเศษอาหาร และขี้กุ้ง ไปหมักรวมกับเศษวัสดุการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกเงาะ และเปลือกทุเรียน ใช้ระยะเวลา 3-4 เดือนจะได้ "ปุ๋ยหมักดินเลนนากุ้ง" จากการทดลองปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผลต่างๆ


เช่น ปลูกเมล่อนในโรงเรือน จำนวน 200 ต้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย 180 ลูก น้ำหนักลูกละ 1.7 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 30,600 บาท ใช้ต้นทุนเพียง 5,642 บาท โดยทางศูนย์ฯ ได้นำปุ๋ยดังกล่าว ทำโครงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 400 ชุด พร้อมด้วยเมล็ดพันธุ์ผัก และต้นกล้ารวม 15 ชนิด


กิจกรรมที่ 2 เป็นการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในถังไฟเบอร์กลาส และการขยายผลสู่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านน้ำแดง อำเภอขลุง เพื่อเป็นต้นแบบการเลี้ยง และส่งเสริมเป็นอาชีพแก่นักเรียน และเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งข้อดีของการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ในถังไฟเบอร์กลาส คือใช้พื้นที่น้อย สาหร่ายมีคุณภาพดี สะอาด ไม่มีกลิ่นคาว แต่โตช้ากว่าการเลี้ยงในบ่อดิน


โดยได้ผลผลิตแผงละ 7-8 กิโลกรัม ขณะที่ในบ่อดินได้ผลผลิต 10-12 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลา 2 เดือน ปัจจุบันนักเรียนสามารถเก็บสาหร่ายพวงองุ่นได้ทุกวัน เพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวัน และจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นจุดสาธิต ให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมโรงเรียน นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้หลายชนิด


กิจกรรมที่ 3 การสาธิตเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในบ่อ PE ขนาดเล็ก ซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ที่ประสบปัญหาการเลี้ยงแบบเดิม ทำให้ขาดทุน เปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงกุ้งในบ่อผ้าพลาสติก PE ขนาดเล็ก พื้นที่ 152 ตารางเมตร ระดับน้ำเฉลี่ย 1.3 ถึง 1.5 เมตร ง่ายต่อการบริหารจัดการ โดยให้อาหารน้อยแต่บ่อยครั้ง


รวมทั้งเสริมจุลินทรีย์ 3 ชนิด เพื่อช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง ที่ผ่านมามีเกษตรกรตัวอย่างนำวิธีดังกล่าวไปใช้ และประสบผลสำเร็จ สร้างรายได้ ได้เป็นอย่างดี - จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง ไปทอดพระเนตรกิจกรรม การเพาะเห็ดเศรษฐกิจชุมชน และโครงการอาหารกลางวันโรงเรียน


โดยดำเนินการฝึกอบรมการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ให้กับนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด รวม 8 แห่ง และโรงเรียนรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ อีก 17 แห่ง ทำให้นักเรียนสามารถผลิตเห็ด เพื่อเป็นอาหารกลางวันได้ 66 กิโลกรัม ถึง 125 กิโลกรัมต่อจำนวนก้อนเชื้อเห็ด 500 ก้อน สามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้ระหว่างเรียน


นอกจากนี้ยังส่งเสริมเป็นอาชีพทางเลือก ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ซึ่งใช้พื้นที่ และเงินลงทุนน้อย เก็บผลผลิตได้เร็ว ส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ อาทิ กลุ่มเพาะเห็ดบ้านคุ้งกระเบน ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ เดิมเลี้ยงนากุ้งขาวแวนนาไม ในปี 2559 เกิดการระบาดโรคตายด่วน ทำให้ขาดทุนมีหนี้สินเฉลี่ยครอบครัวละหลายแสนบาท หลังเข้ากลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ผลิตเห็ดภูฏาน เห็ดนางรมดำ และเห็นขอน ทำให้มีรายได้กว่า 2 แสนบาทต่อปีต่อครอบครัว ปัจจุบันสามารถปลดหนี้ได้หมด


ส่วนแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดทำขึ้น เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแบบมีชีวิต เป็นแปลงเรียนรู้แก่เกษตรกร และประชาชน นำกลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง มีพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 200 ตารางวา แบ่งเป็นสัดส่วนได้แก่ ร้อยละ 30 ขุดสระน้ำ ปลูกผัก และไม้น้ำรอบสระ เลี้ยงปลานิลแดง ปลานิล และปลาสลิด ,ร้อยละ 30 ทำนาข้าว ปลูกข้าวหอมพันธุ์ "แม่พญาทองดำ" ข้าวพื้นถิ่นของจังหวัดจันทบุรี , ร้อยละ 30 ไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชไร่ เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด กล้วย และร้อยละ 10 ที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย บ้านพัก พืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ และเพาะเห็ด


สำหรับการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่ดำเนินการ และพื้นที่ขยายผล ประสบปัญหาดินขาดคุณภาพ กรมพัฒนาที่ดิน จึงแก้ไขปัญหา ให้เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน อาทิ พื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ปรับปรุงโครงสร้าง ด้วยการขุดยกร่อง เพื่อปลูกพืชผสมผสาน ช่วยให้ดินมีการระบายน้ำที่ดีขึ้น และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ดินเปรี้ยวจัด ปรับปรุงโดยโรยปูนมาร์ล และปูนโดโลไมท์ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดิน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ใช้ปุ๋ยพืชสด น้ำหมักชีวภาพ สารสกัดสมุนไพร และปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนการชะล้างพังทลายของดิน ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก ผลจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้เกษตรกร สามารถเพาะปลูกพืชได้ตามความต้องการ และมีรายได้เพิ่มขึ้น


โอกาสนี้ ทรงเปิดอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ "สิริพัฒนภัณฑ์" ที่มีความหมายว่า อาคารที่เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อันเจริญ และเป็นมงคล และพระราชทานพระราชานุญาต ให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย "ส.ธ." ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร สร้างเสร็จเมื่อปี 2562 พร้อมกันนี้ทรงเยี่ยม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้าน และเกษตรกร


ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มีกลุ่มเกษตรกรในโครงการฯ 6 กลุ่ม อาทิ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอ่าวคุ้งกระเบน , กลุ่มผู้เลี้ยงชันโรงตำบลกระแจะ ,กลุ่มหอยนางรมครบวงจร ที่สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จําหน่ายในชุมชน และร้านสิริพัฒนภัณฑ์ พร้อมทั้งจัดส่งสินค้า ไปจําหน่ายที่ร้านภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนาด้วย


จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่งไปทอดพระเนตรกิจกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายเลน และป่าชุมชน ซึ่งดำเนินการศึกษาค้นคว้า หาแนวทาง ในการพัฒนาที่ดินชายฝั่งทะเล เพื่อแนะนำให้ประชาชนมีความรู้ และเห็นความสำคัญของการใช้ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งผืนป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน และป่าไม้บนภูเขาโดยรอบศูนย์ฯ ทำหน้าที่รักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล มีการจัดการเป็น 2 ส่วน


คือ พื้นที่ป่าชายเลน ประมาณ 1,100 ไร่ และพื้นที่ป่าบก อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้งกระเบน ประมาณ 11,000 ไร่ ในอดีตป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย และเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ทางศูนย์ฯ ได้ทำการแบ่งเขต การใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบอ่าวคุ้งกระเบนอย่างชัดเจน ดำเนินการปลูกฟื้นฟูสภาพป่า โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเยาวชน และประชาชนโดยรอบ


จากการดำเนินงานทำให้ป่าชายเลนแห่งนี้ กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เช่น กลุ่มอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน ตำบลช้างข้าม อำเภอนายายอาม บริเวณแหลมแม่นกแก้ว พื้นที่ป่าชายเลนลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะของคลื่นลมทะเล จากการดำเนินงานของกลุ่มฯ ทำให้ป่าชายเลนฟื้นคืนสภาพได้บางส่วน ลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งลงได้


ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนทั้งชาวไทย และต่างชาติ สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมธรรมชาติที่สมบูรณ์ ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน และเส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาบ่อเตย - ลานหินสีชมพู นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด ที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ราษฎร โดยรอบพื้นที่ศูนย์ฯ


ด้านการส่งเสริมการเลี้ยงกวางรูซ่า และขยายผลสู่เกษตรกร ที่ได้รับจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง จังหวัดราชบุรี จำนวน 6 ตัว เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 5 ตัว จากการศึกษา กวางรูซ่าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย และทนทานต่อโรค ใช้อาหารที่เหลือใช้จากภาคเกษตรกรรม เช่น ต้นกล้วย กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า และต้นกล้วยป่า นำมาหมักและผสมอาหารข้น หรือรำละเอียด


เมื่อประสบความสำเร็จ จะขยายผลให้กับงานปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และส่งเสริมให้กับเกษตรกรเลี้ยง ในสวนผลไม้ และพื้นที่ประสบปัญหาจากช้างป่า ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี นับตั้งแต่ปี 2559 มีสมาชิก 5 กลุ่ม รวม 27 คน สามารถสร้างรายได้ จากการจำหน่ายลูกกวาง เขากวางอ่อนและผลิตภัณฑ์เขากวาง และจำหน่ายปุ๋ยมูลกวางรูซ่า กว่า 300,000 บาท


จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง ไปศาลาบริเวณชายทะเล โอกาสนี้ ผู้แทนกรมชลประทาน กราบบังคมทูลรายงาน การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ประตูระบายน้ำคลองวังโตนด อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงาน กปร. เพื่อบรรเทาปัญหา การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรภายในศูนย์ฯ


จากนั้น ทรงติดตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน "การฟื้นฟูทรัพยากรหอยชักตีน สัตว์น้ำประจำท้องถิ่นอ่าวคุ้งกระเบน " เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการอนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ได้ผลิตและปล่อยลูกหอยชักตีน ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าชาวประมงพื้นบ้านหาหอยชักตีน ที่มีขนาดใหญ่ สดสะอาด จำหน่ายที่ตลาด และร้านอาหาร แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก


นอกจากนี้ ยังจัดทำธนาคารปู ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่ง ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2540 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นระบบเพาะฟักไข่ปู เพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติ ทำให้ปริมาณปูม้าเพิ่มจำนวนขึ้น และได้จัดตั้งธนาคารปูม้า กระจายไปตามชุมชนประมงชายฝั่ง สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน ช่วยเพิ่มทรัพยากรปูม้าในเขตน้ำเค็ม


ทั้งยังขยายสู่การทำธนาคารปูทะเลในเขตน้ำกร่อย และขยายแนวความคิดสู่ธนาคารสัตว์น้ำต่างๆ ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่น ควบคู่กับการทำประมงแบบยั่งยืน ในการนี้ ทรงปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งกุลาดํา, ปูม้า, หอยชักตีน, ปลานวลจันทร์ทะเล และเต่าทะเล บริเวณหาดแหลมเสด็จ


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 40 ปี ก่อให้เกิดผลสำเร็จของการพัฒนา ด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยว โครงการพระราชดำริในรูปแบบ "การท่องเที่ยวเชิงพัฒนา" ได้รับความเพลิดเพลิน และยังนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้


จากนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ