'ไฟเซอร์ ยันไม่ขายวัคซีนผ่านตัวกลาง - เลขา อย.โต้ข่าวแอบนำเข้าฉีดบางกลุ่ม

สังคม

'ไฟเซอร์ ยันไม่ขายวัคซีนผ่านตัวกลาง - เลขา อย.โต้ข่าวแอบนำเข้าฉีดบางกลุ่ม

โดย pattraporn_a

5 พ.ค. 2564

39 views

ประเด็นเรื่องวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ถูกถกเถียงในสังคมตลอดวันนี้


หลังจากเมื่อวานนี้ (4 พ.ค.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในคลับเฮาส์ว่า มีวัคซีนจำนวนหนึ่งของบริษัทไฟเซอร์ถูกนำเข้ามาฉีดในประเทศไทย ทำให้วันนี้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวถูกนำเข้าประเทศ ขณะที่บริษัทไฟเซอรประเทศไทย ออกเอกสารชี้แจงว่ายังไม่มีการนำเข้าวัคซีน ผ่านสำนักงานในประเทศไทย


โดยทาง ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์ เพื่อยืนยันว่า วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไฟเซอร์ ยังไม่มีเข้ามาในประเทศไทย แต่อยู่ระหว่างการทำงาน หารืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงสาธารณสุข


ใจความส่วนหนึ่งในเอกสาร ระบุว่าไฟเซอร์ ไม่มีนโยบายส่งมอบวัคซีนผ่านตัวแทน หรือตัวกลาง และในภาวะการระบาด ขณะนี้ ไฟเซอร์จัดลำดับความสำคัญ โดยเน้นส่งมอบวัคซีนผ่านหน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติเท่านั้น และรับรองว่า ไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ไม่มีนโยบายจัดจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่านตัวแทนหรือตัวกลางใดๆ


อีกทั้งจนถึงขณะนี้ ไม่เคยนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านสำนักงานในประเทศไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น การออกเอกสารชี้แจง ของบริษัทไฟเซอร์ เกิดขึ้นท่ามกลางข้อสงสัยว่ามีการนำเข้าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ เข้ามาประเทศไทยเพื่อฉีดให้คนบางกลุ่ม โดยไม่ได้เปิดเผยเป็นทางการ ตามการให้ข้อมูลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคลับเฮาส์ เมื่อคืนนี้แล้วหรือไม่


ขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าววันนี้ว่ายังไม่มีการนำวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ เข้ามาใช้ในประเทศไทย พร้อมระบุขั้นตอนหากต้องนำเข้ามาว่า บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ต้องยื่นเป็นผู้ขอรับอนุญาตนำเข้า เพื่อขออนุมัติยื่นขึ้นทะเบียน และเมื่อได้รับทะเบียนแล้ว ก็จะต้องขออนุญาตกับ อย. เพื่อนำเข้าอีกครั้ง และต้องผ่านการตรวจสอบด่านอาหารและยา จากกองยา


จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีน ที่ใช้ในประเทศไทยแล้ว 3 ราย คือ1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศไทย โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 2. วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้า โดยองค์การเภสัชกรรม และ 3. วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด


ขณะเดียวกัน อ.ย.กำลังประเมินคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีน อีก 1 ราย คือวัคซีนชนิด MRNA ของโมเดอร์นา ที่ดำเนินการนำเข้าและขอขึ้นทะเบียนโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ส่วนอีก 2 ราย อยู่ระหว่างยื่นเอกสาร เพื่อให้ประเมินคำขอขึ้นทะเบียน คือวัคซีนโควัคซีน ประเทศอินเดีย นำเข้า โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และ วัคซีน สปุตนิก วี นำเข้าโดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ซึ่งหากบริษัทเหล่านี้ยื่นเอกสารครบ ก็จะต้องผ่านขั้นตอนประเมิน ซึ่งตามมาตรฐานเร็วที่สุดคือ 30 วัน


ขณะที่ นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ระบุถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซินซิโนแวคว่า มีบุคคลากรทางการแพทย์ และประชาชน 16,000 คน รับวัคซีนซิโนแวค จากโรงพยาบาลศิริราช แต่พบอาการข้างเคียง คือมีอาการปวด หรือผื่นแดง ประมาณ 200 คน มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และแขน ขา มีอาการชา จำนวน 73 คน ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังฉีด 30 นาที และมีไม่กี่คนที่มีอาการหนาวสั่น ในวันที่ 2 หรือ 3 ของการฉีดยา แต่ก็กลับมาเป็นปกติ.

คุณอาจสนใจ