มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนจ่ายได้นานถึง 10 ปี

เศรษฐกิจ

มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนจ่ายได้นานถึง 10 ปี

โดย weerawit_c

18 ก.พ. 2564

30 views

มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เป็นคำเชิญชวนจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อได้บรรเทาการผ่อนชำระในช่วงโควิด 19 ผ่านงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ หลังพบสัดส่วนการจ่ายหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของคนไทยสูงถึง 34% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น สะท้อนปัญหาโครงสร้างหนี้ของไทยที่ต้องเร่งแก้ไข



ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับ สำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม สถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน เปิดให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ให้ลูกหนี้มีทางเลือกชำระหนี้มากขึ้นและเป็นหนี้น้อยลง โดยจะครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม ที่เป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรสินเชื่อเงินสด ที่ไม่มีหลักประกัน และบัตรกดเงินสด แบ่งเป็น 1.กลุ่มลูกหนี้ปกติที่สถานะยังดี สามารถเปลี่ยนบัตรเป็นสินเชื่อเงินก้อนผ่อนชำระ 4 ปี ในอัตราดอกเบี้ยลดลงจาก 16% เหลือ 12% และเลือกวงเงินคงเหลือได้โดยไม่เสียประวัติในเครดิตบูโร 



2.กลุ่มลูกหนี้ NPL หรือ หนี้ค้างชำระ ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องชำระหนี้ สามารถจ่ายเฉพาะเงินต้นและยกดอกเบี้ยคงค้างให้เมื่อจบสัญญา โดยมีระยะเวลานานได้ถึง 10 ปี และ3.กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดี ซึ่งมีคำพิพากษาแล้ว สามารถจ่ายเฉพาะเงินต้น และ ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อจบสัญญา รวมทั้งเลือกระยะเวลาผ่อนชำระได้ เช่น เงินต้น 5 หมื่นบาท หากเลือกชำระภายใน 5 ปี ปีที่ 1-ปีที่3 จะผ่อนเดือนละ 1,111 บาท ส่วนปีที่เหลือเดือนละ 416 บาท ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายไม่สูงนักและอยู่ในระดับที่ชำระได้



ล่าสุดมีสถาบันทางการเงินเข้าร่วมเพิ่มจากเดิม 21 แห่ง เป็น 23 แห่งแล้วในขณะนี้ ขณะเดียวกันมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมแล้วกว่า 85,000 คน ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่เปิดรับโครงการ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนออนไลน์ ได้ผ่านเว็บไซต์ www.1213.or.th /www.bot.or.th ของธนาคารแห่งประเทศไทย กรมบังคับคดี และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ที่หมายเลข 1213 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้จนถึง 14 เมษายนนี้ ซึ่งทาง ธปท.ได้แนะนำให้ประชาชนทุกคนควรวางแผนการเงินให้ดีคำนวณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นหนี้ในอนาคต

คุณอาจสนใจ