ช่อง 3 เดินหน้าส่งกำลังใจพี่น้องชาวแม่สาย ลงพื้นที่ร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
26 ก.ย. 67
34 Views
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 รวมพลเข้าพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เปิดปฏิบัติการส่งกำลังใจและฟื้นฟูบ้านเรือนผู้ประสบอุทกภัย กับ“โครงการกำลังใจจากช่อง 3 สู่เชียงราย” เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน 2567 ตัวแทนผู้บริหาร และนักแสดง ช่อง 3 นำโดย นางสาวปริศนา กล่ำพินิจ AVP กิจการองค์กร, กิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว 3 มิติ พร้อมด้วยนักแสดงอย่าง ดวงตา ตุงคะมณี, จริยา แอนโฟเน่, ปีเตอร์แพน ทัศน์พล, สมิธ ภาสวิชญ์, สิงโต สกลรัฐ และดีแลน ไบร์อันท์ จับมือร่วมกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้งแต่ภาคเช้าจนถึงเย็น เริ่มต้นด้วยการประกอบอาหาร ทำความสะอาดภาชนะ แพ็คอาหารใส่กล่อง ที่โรงครัวพระราชทาน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อนำไปแจกให้กับชาวบ้านที่ประสบภัย พร้อมมอบเงินบริจาคจำนวนหนึ่ง ให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก และสมทบทุนโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที”
ช่วงบ่ายลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โรงเรียนช่างฝีมือทหาร และอาสาสมัครในพื้นที่ เพื่อร่วมให้กำลังใจผู้ประสบภัย รวมทั้งทำความสะอาดรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะบ้านเรือนผู้ประสบภัยด้วยเครื่องฉีดน้ำพระราชทาน พร้อมช่วยตักดินโคลนที่ตกค้างจำนวนมาก ในชุมชนบ้านเกาะทราย เทศบาลแม่สาย ซึ่งเป็นจุดวิกฤตที่ถูกน้ำป่าไหลเข้าท่วมเต็มพื้นที่ และแม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์ แต่สภาพบ้านเรือนในขณะนี้การทำความสะอาดยังไม่แล้วเสร็จ หลายครอบครัว ยังไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ สภาพถนนและบ้านเรือนยังเต็มไปด้วยดินโคลน บางหลังหนาเกือบถึงชั้น 2 ของตัวบ้าน
จากนั้นในช่วงเย็นนักแสดงช่อง 3 ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย วัดถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพื่อมอบสิ่งของบริจาคที่จำเป็น และอยู่ระหว่างการทำความสะอาดฟื้นฟูเมืองให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
สำหรับ “โครงการกำลังใจจากช่อง 3 สู่เชียงราย” จะทำต่อเนื่องจากนี้ไป เพื่อร่วมฟื้นฟูและให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่เดือดร้อน ซึ่งนอกจากกิจกรรมในวันนี้แล้ว ทางช่อง 3 จะร่วมกับภาคีเครือข่าย และมูลนิธิต่างๆ ในการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ โดยสิ่งจำเป็นที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้ คืออุปกรณ์ทำความสะอาด เครื่องจักรขนาดเล็ก และแรงงานคน ที่สามารถรองรับการจัดการดินโคลนหนาแน่นในหลายพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ