คุณต้องการล้างการแจ้งเตือนทั้งหมด?
1. วัดไชยวัฒนาราม เป็นพระอารามขนาดใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางฝั่งทิศตะวันตก ตั้งอยู่บริเวณนิวาสสถานเดิมของมารดา เมื่อครั้งที่ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ที่รับราชการมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าทรงธรรม ได้จัดงานพิธีปลงศพมารดาซึ่งสิ้นชีวิตลงจนกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญต่อมา ทำให้ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ปราบดาภิเษกยึดอำนาจจากพระอาทิตยวงศ์ และทำการบรมราชาภิเษกในปี พ.ศ. 2172 ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5) ต่อมาในปี พ.ศ. 2173 โปรดให้สร้างวัดขึ้นประกอบด้วยพระมหาธาตุเจดีย์ ระเบียงคด เมรุทิศ เมรุราย พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ และพระราชทานนามว่า วัดไชยวัฒนาราม อันมีความหมายว่า “ชัยชนะอันถาวร” ให้เป็นพระอารามฝ่ายอรัญวาสี มีเจ้าอาวาสนามว่า “พระอชิตเถระ” เป็นพระราชาคณะ การจัดวางแผนผังองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของวัดไชยวัฒนารามเป็นลักษณะการจำลองแผนผังของจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และในคัมภีร์ไตรภูมิของศาสนาพุทธ โดยทรงกำหนดให้พระมหาธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ซึ่งมีต้นเค้ามาจากศิลปะขอมโบราณซึ่งเคยเป็นที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ให้กลับมาเป็นเจดีย์ประธานของวัดอีกครั้ง แต่ยืดทรงให้สูงขึ้น ปรับขนาดพระอุโบสถให้มีขนาดใหญ่กว่าวิหาร และก่อเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองให้อยู่ในแกนสมมาตรซ้ายขวาของพระอุโบสถ ซึ่งแผนผังลักษณะนี้ส่งอิทธิพลทางด้านรูปแบบและความนิยมต่อวัดสำคัญอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 3 วัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ถือเป็นสถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” และภาคต่อคือ “พรหมลิขิต”
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.00-18.00 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/MYEgt8TzjWKtEo1R9
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. กำพล จำปาพันธ์. (2559). อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. พิมพ์ครั้งแรก. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2561). อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
2. วัดพุทไธศวรรย์ เป็นพระอารามสำคัญขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางฝั่งทิศใต้ บริเวณพื้นที่เดิมก่อนการสร้างวัดพุทไธศวรรย์ เป็นที่ตั้ง “พระตำหนักเวียงเหล็ก” เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาอพยพผู้คนหนีโรคระบาดจากเมืองอโยธยาศรีรามเทพนครเมื่อปี พ.ศ. 1890 มาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวที่นี่เป็นเวลา 3 ปี เพื่อเตรียมการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี 1893 ครั้นขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระตำหนักเวียงเหล็กถวายพระพุทธศาสนา สร้างเป็นพระอารามขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธาน พระอุโบสถ วิหาร ระเบียงคด เสนาสนะต่าง ๆ ถวายพระนามว่า “วัดพุทไธศวรรย์” อันหมายถึง สวรรค์ของชาวพุทธ นอกจากนี้ยังปรากฏในละคร “บุพเพสันนิวาส” เป็นสถานที่ฝึกดาบสองมือของท่านอาจารย์ชีปะขาว รวมทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครได้ดังนี้ • ปรางค์ประธาน: เป็นพระสถูปทรงปรางค์แบบสมัยอยุธยาตอนต้นที่เรียกว่า “ทรงฝักข้าวโพด” เพราะคล้ายกับนำฝักข้าวโพดมาปักลงดิน สันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยหากหันหน้าไปยังซุ้มคูหาทางขึ้นพระปรางค์ บริเวณพื้นที่ว่างซ้ายมือของนักท่องเที่ยวคือจุดที่ใช้ถ่ายทำพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม ในละครเรื่องพรหมลิขิต • แนวกำแพงนอกระเบียงคด (หลังพระอุโบสถ): จุดนี้หากออเจ้าสวมชุดไทยใคร่เป็นแม่หญิงการะเกด ตอนที่แอบวาร์ปเข้าเขตอาคมจนเจอที่ฝึกดาบของคุณพี่เดช หมื่นเรือง ท่านอาจารย์ชีปะขาว • ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์: เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่มีภาพรอยพระพุทธบาทริมแม่น้ำนัมมทานที และพระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นจุดกำเนิดพิธีจองเปรียง ลอยโคม เพื่อเป็นพุทธบูชา แต่ขอความกรุณาออเจ้าอย่าได้เอามือสัมผัสภาพ และงดใช้แฟลชในการถ่ายภาพนะจ๊ะ • วิหารเปลื้องเครื่อง: เป็นศาลาโถงขนาดใหญ่ ในอดีตน่าใช้สำหรับเป็นที่ “เปลื้องเครื่อง” หรือผลัดเปลี่ยนเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นภูษาทรงศีลก่อนเข้าสู่เขตพุทธาวาส โดยขึงม่านกั้นทั้งสี่ด้านเพื่อป้องกันสายตาจากคนภายนอก
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: คนไทยเข้าชมฟรี ชาวต่างชาติ 50 บาท พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/ToATuru5UefZSCYC6
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : ทวีวัฒน์การพิมพ์. กำพล จำปาพันธ์. (2559). อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. พิมพ์ครั้งแรก. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2561). อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
3. วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ใกล้กับโบราณสถานป้อมเพชร ชื่อเดิมคือ “วัดทอง” เป็นโบราณสถานตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างขึ้นโดยพระอักษรสุนทรศาสตร์ หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ทองดี” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) และมีศักดิ์เป็นเหลนของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ต่อมาท่านทองดีได้สมรสกับธิดาของคหบดีชาวจีนย่านคลองนายก่ายนามว่า “ดาวเรือง” มีบุตร-ธิดาถึง 5 คน โดยบุตรลำดับที่ 4 ที่มีนามว่า “ทองด้วง” ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ต้นราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายโดยกองทัพอังวะ วัดทองแห่งนี้ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยมีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) เป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์ โปรดเกล้าฯ ให้ช่างสกุลวังหน้าเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องเทพชุมนุม ไตรภูมิ และพุทธประวัติไว้โดยรอบพระอุโบสถ และก่อพระสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ซึ่งเป็นพระราชบิดาไว้ด้านหลังพระอุโบสถ จากนั้นก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ และทำนุบำรุงเสนาสนะเรื่อยมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ด้วยถือเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการยกฐานะให้เป็นวัดหลวงโดยเปลี่ยนชื่อวัดจากนามสามัญเป็น วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร รวมทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครได้ดังนี้ • บริเวณพื้นที่ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถเป็นฉากสำคัญที่ใช้ในการถ่ายทำพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม • ภายในพระอุโบสถใช้พื้นที่เป็นฉากถ่ายทำตอนแม่แก้วและแม่ปรางซึ่งเป็นธิดาของแม่หญิงการะเกด มาไหว้พระปฏิมากรในวัด
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: ไม่เสียค่าธรรมเนียม พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/RX7CyNq7PW6JakBD8
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2561). อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 4. วัดพระราม เป็นพระอารามขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ใกล้กับวัดพระศรีสรรเพชญ์ และบึงพระราม ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า วัดพระรามเริ่มสร้างตั้งแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โดยหมายจะให้เป็นพระศรีรัตนมหาธาตุกลางเมือง เมื่อเริ่มสร้างก็สิ้นรัชกาลพระองค์เสียก่อน การก่อสร้างจึงต้องระงับไป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระราเมศวรซึ่งเป็นพระราชโอรส ทรงใช้พื้นที่บริเวณนี้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอู่ทอง แต่ก็มิได้สร้างบริเวณวัดพระรามต่อเป็นพระมหาธาตุประจำเมือง เนื่องจากย้ายพื้นที่ไปสร้างพระมหาธาตุประจำเมืองที่เป็น “วัดมหาธาตุ” มาจนปัจจุบันนี้
วัดพระรามได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีการระบุไว้ในพระราชพงศาวดารหลายฉบับ กล่าวว่า เป็นการเริ่มบูรณะภายหลังจากที่พระองค์ทรงอุทิศพื้นที่พระราชวังเดิมสถาปนาเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วย้ายบริเวณพระบรมมหาราชวังขึ้นไปสร้างใหม่ทางทิศเหนือติดลำน้ำลพบุรี แล้วจึงให้ก่อพระปรางค์มหาธาตุและพระวิหาร เป็นพระอารามในที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 1977-1983 และพระราชทานนามวัดพระราม ส่วนการบูรณะครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2284 ตรงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งถือว่าเป็นการซ่อมแซมครั้งใหญ่ที่กินเวลากว่า 1 ปี สิ่งสำคัญที่ควรชมในวัดพระรามได้แก่
• ปรางค์ประธาน: เป็นพระสถูปทรงปรางค์แบบสมัยอยุธยาตอนต้นที่เรียกว่า “ทรงฝักข้าวโพด” เพราะคล้ายกับนำฝักข้าวโพดมาปักลงดิน บนฐานไพทีเดียวกันกับพระปรางค์ประธาน รายล้อมด้วยเจดีย์ทรงปราสาทยอด มีภาพปูนปั้นประดับเล่าเรื่องเหตุการณ์พุทธประวัติ แม้ว่าบางส่วนจะชำรุดหักพัง แต่ก็ยังมองเห็นร่องรอยได้ เช่น ตอนประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.00-18.00 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/PCxB5jMztWT4LVGw9
อ้างอิง กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2561). อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 5. วัดพระศรีสรรเพชญ์ และพระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นพระราชวังหลวงในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ต่อมาในปี พ.ศ. 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงย้ายพื้นที่ไปสร้างพระราชวังใหม่บริเวณทิศเหนือริมแม่น้ำลพบุรี และทรงพระราชอุทิศที่พระราชวังเดิมให้สร้างพระอารามหลวงประจำพระบรมมหาราชวังโดยไม่มีพระภิกษุจำพรรษา (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีสําคัญของบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เป็นต้น นอกจากนี้ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาหุ้มทององค์สำคัญมีนามว่า “พระศรีสรรเพชดาญาณ” และมีสถานะเป็นสุสานหลวงที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ตลอดจนพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย ส่วนพระราชวังโบราณในสมัยต่อ ๆ มา ปรากฏการสร้างพระที่นั่งสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่การใช้ประโยชน์เป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน โดยในเขตพระราชฐานชั้นในนั้นเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นสตรี ชาวกรุงศรีอยุธยาจึงนิยมเรียกว่า “ฝ่ายใน” วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังโบราณได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สถานที่สำคัญในวัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังโบราณซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ดังนี้ • พระเจดีย์ประธาน: เป็นพระมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ทรงลังกา 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน องค์ฝั่งทิศตะวันออกสุดบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ องค์กลางบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และองค์ฝั่งทิศตะวันตกบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่างพระมหาเจดีย์คั่นด้วยมณฑปพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช • พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์: ในเขตพระราชฐานชั้นในส่วนหลังพื้นที่ตอนท้ายสุดของพระราชวัง มีสระน้ำขนาดใหญ่ 1 สระ บริเวณนี้น่าจะเป็นสวนหลวงภายในพระราชวังมาแต่เดิม ต่อมาเป็นที่ก่อสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ มีประตูชักน้ำเข้ามาใช้ในสระ 2 ประตู และเป็นที่นิยมประทับพักผ่อนพระราชหฤทัยนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.00-16.30 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/LyerfBsR7qCeW8W19
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2561). อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 6. หอกลอง หอกลองกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ สันนิษฐานว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยเครื่องไม้ จึงน่าจะถูกเผาทำลายไปพร้อมกับสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แต่อย่างไรก็ตาม ในเอกสารคำพรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา หรือคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้พรรณนาถึงรูปลักษณ์ของหอกลอง ตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษาโดยสรุปว่า หอกลองตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณคุกนครบาล ป่า (ตลาด) ผ้าเขียว ศาลพระกาฬ วัดเกษ และจุดตัดระหว่างถนนมหารัถยากับถนนป่าโทน ชาวเมืองนิยมเรียกจุดนี้ว่า “ตะแลงแกง” ซึ่งมีรากมาจากภาษาเขมรโบราณคือคำว่า “ตรอแลงแกง” หมายถึงทางแยก บริเวณนี้จึงเป็นทางสี่แพร่ง เป็นศูนย์กลางของพระนครศรีอยุธยา ตัวหอกลองมียอดซุ้มทาแดง หอกลองนั้นทำเป็นสามชั้น สูง 30 วา (60 เมตร) แบ่งการใช้งานดังนี้ ชั้นบนสุดมีกลองชื่อ “พระมหากฤษ” ไว้คอยดูข้าศึก ชั้นกลางมีกลองชื่อ “พระมหาระงับดับเพลิง” ใช้สำหรับตีเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในพระนคร ส่วนชั้นล่างมีกลองชื่อ “พระทิวาราตรี” ใช้สำหรับตีกลองใหญ่บอกเวลาทุกชั่วยาม เจ้าพนักงานกรมพระนครบาลจะเลี้ยงวิฬาร์ (แมว) เพื่อป้องกันไม่ให้มุสิกะ (หนู) กัดกลอง พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในป่าผ้าเขียวหน้าคุกจะต้องจ่ายภาษีเป็นเบี้ยร้านละ 5 เบี้ย (ประมาณ 0.08 สตางค์) เพื่อให้เจ้าพนักงานนำไปซื้อปลาย่างมาให้วิฬาร์กิน สันนิษฐานว่าปัจจุบันตำแหน่งหอกลองน่าจะอยู่บริเวณที่ตั้งปางช้างที่นักท่องเที่ยวนิยมไปนั่งช้างเที่ยวกันนั่นแหละหนาออเจ้า สถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่อง “พรหมลิขิต” คือย่านป่าผ้าเขียวที่คุณพี่ริดพาแม่พุดตานมาเที่ยว และเป็นอาณาเขตที่ “หมู่สง” ดูแลพื้นที่อยู่ นักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ดังนี้
• วังช้างอยุธยา แล เพนียด: ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหอกลองเดิม มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวขี่ช้างชมโบราณสถานรอบ ๆ เขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา • วัดเกษ: ปัจจุบันเป็นซากโบราณสถาน เหลือเพียงฐานพระอุโบสถและพระเจดีย์ประธาน สันนิษฐานว่าเป็นวัดประจำย่านป่าผ้าเขียว และใช้พักศพของนักโทษอุกฉกรรจ์ที่ถูกประหารบริเวณลานตะแลงแกง • ศาลหลักเมือง: ปัจจุบันเป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2527 เคียงคู่กับซากโบราณสถานศาลพระกาฬ ซึ่งเป็นศาลเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยา นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปสักการะขอพรเป็นจำนวนมาก
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 09.00-17.00 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชมโบราณสถาน ยกเว้นกิจกรรมการนั่งช้างที่วังช้างฯ ขึ้นอยู่กับระยะเวลา เริ่มต้นที่ 200-600 บาท พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/iPRjCEmTTUbLXVNy9
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2561). อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2559). อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวาราวดี มรดกความทรงจำแห่งสยามประเทศ. (พิมพ์ครั้งแรก) .กรุงเทพ: บริษัท อี.ที. พับลิชชิ่ง จำกัด. 7. วัดพนัญเชิง วัดพนัญเชิงตั้งอยู่นอกเกาะเมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันออก เป็นวัดที่มีมาแต่โบราณก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา 26 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นการบันทึกในลักษณะตำนานว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง เพื่อระลึกถึงพระนางสร้อยดอกหมาก พระธิดาของพระเจ้ากรุงจีนที่มาสิ้นพระชนม์ในเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงเชิญศพมาพระราชทานพระเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอารามให้นามว่าวัด “พระเจ้าพระนางเชิง” แต่นั้นมา วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ศิลปะอู่ทอง ปางมารวิชัย ซึ่งเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นที่นับถืออย่างยิ่งของชาวไทย ชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกกันโดยสามัญว่า “หลวงพ่อโต” ในขณะที่ชาวจีนนิยมเรียกว่า “ซำปอกง” สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์เดิมคือ “ซานเป่า” อันเป็นชื่อเดิมของ “นายพลเจิ้งเหอ” แม่ทัพสมัยราชวงศ์หมิงผู้มีชื่อเสียงในการเดินเรือไปถึงแถบทวีปแอฟริกา และน่าจะเดินทางเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยารวมถึงมีส่วนร่วมในการบูรณะวิหารหลวงของวัดพนัญเชิง นอกจากนี้ตำแหน่งที่ตั้งของวัดพนัญเชิงยังอยู่ใกล้กับน้ำวนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นปราการธรรมชาติของอยุธยา เรียกว่า “น้ำวนบางกะจะ” และใกล้กับ “ป้อมเพชร” ซึ่งเป็นป้อมขนาดใหญ่ของอยุธยา แม้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับละครเรื่อง “พรหมลิขิต” โดยตรง แต่ก็ถือเป็นสถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” คือจุดที่แม่หญิงการะเกดตื่นเต้นที่เห็นป้อมเพชรจนเรือล่ม ทำให้คุณพี่เดชจมน้ำใกล้น้ำวน เดชะบุญที่ช่วยชวิตได้ทันด้วยวิธี “CPR ผายปอด” จนเป็นเรื่องซุบซิบนินทาไปทั้งกรุงศรีอยุธยา นักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครได้ดังนี้ • พระวิหารหลวง: มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตามผนังใหญ่ด้านในทั้ง 4 ด้านเจาะช่องเป็นซุ้มไหว้พระพุทธรูปปางต่าง ๆ และพระพิมพ์จำนวน 84,000 องค์ ภายในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐาน (หลวงพ่อโต) พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทอง หน้าตักกว้าง 14 เมตรเศษ สูง 19 เมตร
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 07.00-17.30 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: คนไทยไม่เสียค่าธรรมเนียม ชาวต่างชาติ 50 บาท พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/ETHR3WwiEmZdQBrZ6
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. กำพล จำปาพันธ์. (2559). อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. พิมพ์ครั้งแรก. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส. 8. วัดกุฎีดาว เป็นพระอารามตั้งอยู่ทิศตะวันออกด้านนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณเดียวกับวัดประดู่ทรงธรรมและวัดจักรวรรดิ์ ประวัติการก่อสร้างวัดกุฎีดาวแต่ครั้งแรกเริ่มนั้นไม่ปรากฏชัดเจน แต่นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในรุ่นราวคราวเดียวกันกับการสร้างวัดมเหยงคณ์ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ ในปีถัดมาสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวซึ่งอยู่ฟากทุ่งตรงข้ามวัดมเหยงคณ์ และให้สร้าง “ตำหนักกำมะเลียน” ริมวัดกุฎีดาวเพื่อเสด็จฯ มาควบคุมและทอดพระเนตรงานบูรณปฏิสังขรณ์ ตามแบบอย่างของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระซึ่งเป็นพระเชษฐาธิราช ใช้ระยะเวลาถึง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ จึงอาจเรียกได้ว่า วัดมเหยงคณ์และวัดกุฎีดาวนั้นนับเป็นวัดพี่-วัดน้องกัน แต่เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วก็ยังมิได้มีการฉลองพระอารามทันที เนื่องจากน่าจะเป็นเพราะต้องให้ผ่านการฉลองวัดมเหยงคณ์ รวมถึงการต่อเรือกำปั่นใหญ่ที่วัดมเหยงคณ์ไปขายช้างที่เมืองมะริดจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองสมโภชวัดกุฎีดาวในปี พ.ศ. 2258 เป็นระยะเวลาถึง 7 วัน สถานที่สำคัญในวัดกุฎีดาวซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ดังนี้ • ตำหนักกำมะเลียน: เป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเสด็จฯ มาประทับแรมระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว เป็นลักษณะอาคารสองชั้นที่ใหญ่โตและงดงาม ได้รับอิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมจากตะวันตกผสมกับศิลปะอยุธยาตอนปลาย • พระเจดีย์ประธาน: เป็นพระมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณย่อมุมไม้ 20 ส่วน ยอดหักพังเหลือเพียงองค์ระฆังบางส่วน ไม่ปรากฏชั้นบัลลังก์อย่างเจดีย์ทรงลังกา ปล้องไฉนที่หักลงมามีขนาดใหญ่ นอกจากนี้บนลานประทักษิณยังมีเจดีย์บริวารประจำทิศรายล้อมอีก 8 องค์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผังที่มีความใกล้เคียงกับเจดีย์ทรงมอญ เช่น พระมุเตา ชเวดากอง ในทางโหราศาสตร์ลักษณะการวางผังเช่นนี้เป็นการวางทิศตาม “มหาทักษา” ประกอบด้วยบริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: ไม่เสียค่าธรรมเนียม พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/4PHjCpxaR4fk5fya9
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2507). คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. 9. วัดมเหยงคณ์ เป็นพระอารามตั้งอยู่ทิศตะวันออกด้านนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณเดียวกับวัดช้างและวัดสีกาสมุด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ในบริเวณพื้นที่ท้องทุ่งโบราณที่เรียกว่า “ทุ่งพระอุทัย” (ปัจจุบันคือทุ่งหันตรา) และเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ใน พ.ศ. 2112 วัดมเหยงคณ์เป็นที่ตั้งทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง การศึกครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่หงสาวดี สมเด็จพระมหินทราธิราชถูกนำตัวไปถวายพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ณ ค่ายวัดมเหยงคณ์อันเป็นที่ตั้งทัพหลวง วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์จากพระมหากษัตริย์ตลอดมา จนถึงรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทอดพระเนตรสภาพทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักกำมะเลียนริมวัดมเหยงคณ์ ทรงเป็นแม่กองเพื่อควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยพระองค์เองถึง 3 ปี จึงแล้วเสร็จ จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมหรสพสมโภชอยู่หลายวัน นอกจากนี้ยังโปรดให้มีการต่อเรือกำปั่นบริเวณหน้าวัดมเหยงคณ์เพื่อบรรทุกช้างไปขายยังเมืองมะริดด้วย สถานที่สำคัญในวัดมเหยงคณ์ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ดังนี้ • ตำหนักมเหยงคณ์: เป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเสด็จฯ มาประทับแรมในการบัญชาการระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ • พระเจดีย์ช้างล้อม: เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะเป็นสถูปทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยรอบฐานมีรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัวในช่องวงโค้งเกือกม้าที่เรียกว่า “ซุ้มหน้านาง” รวมด้านละ 20 เชือก รวมทั้งหมด 80 เชือก โดยที่ช้างและซุ้มหน้านางนั้นมีร่องรอยของการทำปูนปั้นประดับอย่างสวยงาม • ฉนวน: เป็นแนวกำแพงก่อด้วยอิฐสูงขึ้นมาด้านข้างทางเดินในระดับที่พ้นสายตา กว้างประมาณ 2.50 เมตร สูงประมาณ 2.50 เมตรเชื่อมจากกำแพงรอบนอกพุทธาวาสไปยังกำแพงแก้วที่ล้อมรอบพระอุโบสถ ใช้สำหรับเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้า-ออกของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่ปรากฎพบในพระอารามอื่น ๆ
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/mf2K7JFXJGNeUBLC9
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2507). คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. 10. วัดโคกพระยา เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งที่มีหลักฐานกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร เพราะเป็นสถานที่สําเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ปรากฏความครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์อู่ทอง ที่กล่าวถึงการสำเร็จโทษ “พระเจ้าทองลัน” โอรสของขุนหลวงพะงั่ว แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่อมาที่กล่าวถึงเหตุการณ์สำเร็จโทษเจ้านายอีกหลายพระองค์บริเวณโคกพระยา เช่น พระรัฏฐาธิราช พระศรีศิลป์ เจ้าฟ้าไชย พระศรีสุธรรมราชา ในยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก็ปรากฏเหตุการณ์สำเร็จโทษเจ้านายอีกหลายพระองค์ ได้แก่ เจ้าพระขวัญ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เป็นต้น มีจุดที่น่าสนใจของวัดที่นักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ดังนี้ • พระอุโบสถ และพระเจดีย์ประธาน: อยู่ในแนวแกนที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระอุโบสถยกฐานสูงมีบันไดทางขึ้นสองด้านซ้าย-ขวา บนฐานพระอุโบสถปรากฏร่องรอยของฐานชุกชีและชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย ด้านหลังพระอุโบสถมีเจดีย์ประธานที่มีทรวดทรงยืดสูงขึ้นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนยอดหักหายไป ด้านหน้าของพระอุโบสถมีแนวเจดีย์รายที่อยู่ในสภาพปรักหักพัง จากลักษณะรุปแบบสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่เหลืออยู่สันนิษฐานว่าวัดโคกพระยาแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายในอาณาบริเวณพื้นที่เดิมที่มีการสำเร็จโทษเจ้านาย
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 07.00-16.30 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม : ไม่เสียค่าธรรมเนียม พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/Vj2qumHYMertw2ei9
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์. 11. วัดพระงาม คลองสระบัว ชาวบ้านในละแวกนั้นเรียกว่า “วัดชะราม” เป็นวัดร้างนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว ในบริเวณทุ่งนาหลวงโบราณที่เรียกว่า “ทุ่งขวัญ” ซึ่งมีคลองสำคัญสายประวัติศาสตร์นามว่า คลองสระบัว” ไหลผ่าน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเรียกว่า “ทุ่งแก้ว” ที่ชาวบ้านเรียก “วัดชะราม” นั้น อาจเป็นเพราะสำเนียงแปร่งเสียงเพี้ยน เนื่องจากเป็นกลุ่มชนที่โยกย้ายมาจากที่อื่นก็เป็นได้ วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่จากลักษณะการวางผังของวัด และสถาปัตยกรรมหลัก ได้แก่พระสถูปประธานทรงลังกาในผัง 8 เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รวมถึงเป็นที่นิยมในกลุ่มศิลปะจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงกัน เช่น วัดหน้าพระเมรุ วัดตะไกร วัดจงกรม วัดพระงาม คลองสระบัว เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่อง “พรหมลิขิต” คือฉากเปิดตัวแม่พุดตาน นางเอกขี่สกู๊ตเตอร์ผ้านหน้าซุ้มประตูซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ของวัดที่นักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ดังนี้ • ซุ้มประตูปรกโพธิ์: เป็นซุ้มประตูโค้งรูปกลีบบัวที่ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกเมื่อคราวที่น่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซุ้มประตูนี้ก่อด้วยอิฐ และมีเสน่ห์ที่โดดเด่นคือ มีต้นโพธิ์และรากโพธิ์ปกคลุมงดงามอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวขนานนามว่า “ประตูแห่งกาลเวลา” นอกจากนี้หากรอช่วงจังหวะที่เหมาะสมในยามเย็น ระหว่างเวลา 16.00-18.30 น. ก็จะมีแสงอาทิตย์ยามเย็นลอดผ่านเกิดความงดงามแตกต่างกันไปตามช่วงฤดูกาล ส่วนต้นโพธิ์ที่ปกคลุมนี้ได้รับการยกย่องเป็น “รุกขมรดกแห่งแผ่นดิน” เมื่อปี พ.ศ. 2562 ด้วย
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 06.00-18.30 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชม พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/nwmwedVc7hNqa4YC6
บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (2551). โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: ทวีวัฒน์การพิมพ์.
12. วัดย่านอ่างทอง (จุฬาโลก) อยู่ที่ อ.ผักไห่ ห่างจากตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประมาณ 30 กิโลเมตร วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจนว่าเริ่มสร้างในยุคสมัยใด และมีชื่อเดิมว่าอย่างไร แต่หากพิจารณาจากภูมิศาสตร์พื้นที่ของวัดซึ่งอยู่ริมแม่น้ำน้อย สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างวัดมาแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เพราะแม่น้ำน้อยถือเป็นเส้นทางสัญจรหลักที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่สามารถเชื่อมโยงกับหัวเมืองที่สำคัญทางตอนเหนือ ได้แก่ เมืองแพรกศรีราชา เมืองชัยนาท เมืองพระบาง (นครสวรรค์) ดังปรากฏอยู่ตามหลักฐานต่าง ๆ เช่น แผนที่ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เป็นต้น ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหารทรงจัตุรมุขยอดปรางค์ พระสถูปย่อมุมไม้สิบสอง รวมทั้งมีบรรดาเจ้านายฝ่ายต่าง ๆ ได้ร่วมกันถวายสิ่งของมีค่าเพื่อร่วมกุศลเป็นจำนวนมาก เช่น โปรดเกล้าฯ ให้รื้อท้องพระโรงเดิมของวังหน้ามาประกอบขึ้นเป็นศาลาการเปรียญของวัด และรื้อเอาพระตำหนักต่าง ๆ ของเจ้านายมาปลูกขึ้นใหม่ในเขตสังฆาวาสเพื่อถวายเป็นกุฏิสงฆ์ สถานที่สำคัญในวัดย่านอ่างทองซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตามรอยละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ดังนี้ • อาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุ เป็นพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้า) ซึ่งเป็นฉากถ่ายทำตอนที่พุดตานมาพบคุณยายสิปาง รวมทั้งยังใช้เป็นฉากถ่ายทำวัดชานเมืองที่พระเรืองฤทธิ์บวชอยู่ • กลุ่มอาคารพุทธาวาส ประกอบด้วยพระอุโบสถที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างหอพระนาคในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ไม่ทำเสาเฉลียงรอบด้าน พระวิหารทรงจัตุรมุขยอดปรางค์อย่างปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวัง ลดรูปลงมาให้มีขนาดย่อมกว่ามาก และพระสถูปย่อมุมไม้สิบสองรอบพระวิหารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างสถูปวัดราชโอรสาราม ธนบุรี
ช่วงเวลาเข้าชม: ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.00 -17.00 น. ค่าธรรมเนียมการเข้าชม: ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชม พิกัดเส้นทาง: https://maps.app.goo.gl/p6XX64ZM5VR1GQuo9
บรรณานุกรม กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2527). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา. สถาบันอยุธยาศึกษา. (2565). ภูมิวัฒนธรรมชุมชนวัดย่านอ่างทอง. เอกสารอัดสำเนา. |