เทคโนโลยี

'Burn check' แอปฯช่วยวางแผนก่อนเผา ลดปัญหาฝุ่น นำร่องลองใช้แล้วในเชียงราย

โดย panwilai_c

11 มี.ค. 2566

285 views

การเผาพื้นที่ทางการเกษตรเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันทางภาคเหนือ ทำให้หลายหน่วยงานร่วมกันนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้แก้ปัญหาฝุ่นควันให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในพื้นที่ด้วยแอปพลิเคชัน Burn check เพื่อวางแผนการจัดการเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในจังหวัดเชียงราย



สภาพอากาศเชียงรายตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในช่วงปลอดเผา 60 วัน ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ แต่สภาพอากาศกลับยังมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐานในระดับสีส้มถึงสีแดงในทุกวัน นั่นเป็นเพราะส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าและการเกษตร ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน



ขณะที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จิสด้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษได้พยายามนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมปรับใช้บริหารจัดการพื้นที่ คือแอปพลิเคชันเบิร์นเช็ก ที่อยู่ระหว่างทดสอบใน 5 อำเภอของจังหวัดเชียงราย



ซึ่งอำเภอเทิง เป็น 1 ในพื้นที่ทดลองใช้ที่ประสบความสำเร็จ จากความร่วมมือของชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ จนทำให้จุดความร้อนของพื้นที่เป็นศูนย์ในช่วงห้ามเผาของปีที่ผ่านมา และสำหรับปีนี้ก็มีเพียงพื้นที่บางจุดเท่านั้นที่จำเป็นต้องเผา เพื่อป้องกันไฟลุกลามในช่วงฤดูแล้งจากสภาพอากาศที่แห้งจัด



การใช้แอปพลิเคชันเบิร์นเช็ก เกษตรกรสามารถจองคิวเผาเข้ามา เพียงกรอกข้อมูลระบุพิกัดของพื้นที่ที่เป็นเจ้าของและวันเวลาเผา โดยมีเงื่อนไขต้องไม่อยู่ติดกับพื้นที่ป่า และ สภาพอากาศวันนั้นจะต้องไม่อยู่เกินเกณฑ์มาตรฐานจากการคาดการณ์ล่วงหน้า จำกัดพื้นที่ไม่เกิน 30 ไร่ต่อครั้งต่อราย และ ไม่เกิน 900 ไร่ต่อวันในเขตอำเภอ



สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดเชียงราย ได้ปรับแผนการบริการจัดการเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัด อาศัยระยะเวลา 30 วัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละ 6 กลุ่มอำเภอภายในรอบสัปดาห์ โดยมีเงื่อนไขให้การเผาเป็นทางเลือกสุดท้ายของการจัดการเชื้อเพลิง



อย่างไรก็ตามจากการสอบถามการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานที่ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ก็ยังติดปัญหาในอีกหลายจุด เช่น ความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีของชาวบ้าน และ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เข้าไม่ถึงในบางพื้นที่



ที่สำคัญสำหรับอำเภอเทิงที่นำมาปรับใช้มากที่สุดก็พบปัญหาการสั่งการที่ขัดกับข้อบังคับทางกฎหมายในพระราชบัญญัติสาธารณสุข และ กฎหมายอาญาในบางข้อ ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานที่มีอำนาจปรับแก้



ปัจจุบันสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น pm2.5 ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าซึ่งควบคุมได้ยาก ทำให้ต้องขอความร่วมมือจากภาคชุมชนและภาคการเกษตรในการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น โดยในอนาคตจะมีการหารือเพื่อขยายช่วงระยะเวลาการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือขยับการเผาให้มากขึ้นเพื่อลดการกระจุกตัวของการเผาไหม้ที่จะเกิดขึ้น โดยยังคงแนวคิดการเผาคือทางเลือกสุดท้าย

คุณอาจสนใจ

Related News