กีฬา

จับโป๊ะ! เอ็มโอยู กกท.-ทรู ไม่ทำตามกฎ กสทช.จี้ต้องแก้ทันที ไม่งั้นยึดคืนเงิน 600 ล้าน

โดย petchpawee_k

3 ธ.ค. 2565

1.9K views

เผย เอ็มโอยู  ‘กสทช.-กกท.’ ระบุชัด กกท.ต้องดำเนินการให้ ‘ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.’ ที่อยู่ในกำกับดูแลของ กสทช. ทุกประเภท รวม IPTV ถ่ายทอดสดบอลโลก แต่ กกท.กลับสวนทาง ทำ เอ็มโอยู ‘กกท.-ทรู’ ให้ทรูได้สิทธิผูกขาด (exclusive) ระบุไม่ให้มีการนำสัญญาณถ่ายทอดฟุตบอลโลก เผยแพร่บนระบบ IPTV


บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่าง กสทช. และ กกท. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เป็นการยืนยันว่า กกท. รับทราบเงื่อนไขการรับเงิน 600 ล้านจาก กสทช. โดยในเอ็มโอยูระบุชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของ กสทช. ในการมอบเงินสนับสนุนให้กับ กกท. ที่ว่า ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ทุกประเภท (หมายรวมถึงผู้ประกอบการไอพีทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. อาทิ AIS 3BB NT เป็นต้น) สามารถถ่ายทอดสดบอลโลกได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังปรากฏในเอกสารเอ็มโอยู


ตามเอ็มโอยูระหว่าง กสทช. และ กกท. ข้อ 1.2 และ 2.2 ระบุชัดเจนว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ทุกประเภท ณ ทีนี้ หมายรวมถึง ระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission), ระบบดาวเทียม (Satellite Transmission), ระบบเคเบิ้ล Cable Transmission) และระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission) สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎ Must carry


ตามข้อ 2.8 และ 2.8 (2) กกท. ตกลง ยินยอม ให้ผู้รับใบอนุญาตภายใต้กำกับของ กสทช. ได้สิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 แบบไม่จำกัดจำนวนการรับส่งสัญญาณผ่านช่องทางและระบบ หรือรูปแบบการออกอากาศ ตลอดระยะเวลาที่กำหนด ตาม ข้อ 2.8 (2) ซึ่งหาก กกท. สละซึ่งสิทธิใดๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของสำนักงาน กสทช. และผู้ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดย กกท. จะดำเนินการเพื่อให้สำนักงาน กสทช.และผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงได้รับหรือสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย


อีกทั้ง กกท. จะดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศหลักเกณฑ์ และระเบียบที่ กสทช. กำหนด รวมถึงมติที่ประชุม กสทช. ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่และที่จะมีต่อไปในภายหน้า ตามระบุในเอ็มโอยูข้อ 2.10


นอกจากนี้ เอ็มโอยู ข้อ 8.1 ยังระบุชัดเจน เรื่องการเรียกคืนเงิน 600 ล้าน หาก กกท. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงนี้ สำนักงาน กสทช. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่าย รวมถึงมีสิทธิเรียกคืนเงินใดๆ ที่ได้สนับสนุนไปแล้วคืนจาก กกท. โดย กกท.จะต้องชำระคืนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง


เมื่อนำมาเทียบกับเอ็มโอยู ระหว่าง ‘กกท และ ทรู’ ที่ทำเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่าง บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด, บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย จะเห็นได้ชัดเจนว่า ‘เอ็มโอยู ระหว่าง กกท และทรู’ ไม่เป็นตามข้อตกลงของเอ็มโอยู ระหว่าง  ‘กสทช.และ กกท.’ อยู่หลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องไอพีทีวี และโดยเฉพาะไม่เป็นไปตามที่ นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย บอกผ่านสื่อมวลชนเสมอมาว่าได้ทำตามข้อตกลงทุกอย่างกับ กสทช. อย่างถูกต้อง ดังปรากฏในเอกสารเอ็มโอยู บางส่วน ดังนี้


ตามเอ็มโอยูฉบับ ‘กกท. และ ทรู’ ข้อ 4 การคุ้มครองสิทธิ ระบุว่า กกท. รับรองว่า กสทช.ได้แจ้งกำชับไม่ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้อง ทำการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup 2022) ผ่านระบบไอพีทีวี, ระบบอินเตอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบโอทีที ไม่ว่าจะเป็นบนช่องทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชัน ซึ่งสามารถรับชมได้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่กล่องรับสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นใด เพื่อคุ้มครองสิทธิของทรู


และ กกท. ตกลงว่า กกท. จะดำเนินการไม่ให้มีการนำสัญญาณถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ออกอากาศบนช่องดิจิตอลฟรีทีวี ไปเผยแพร่บนระบบไอพีทีวี, ระบบอินเตอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบโอทีที


โดยในกรณีที่มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์มีการกระทำละเมิดสิทธิของทรูตามบันทึกข้อตกลงนี้ กกท. ตกลงที่จะคืนเงินสนับสนุนให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนทั้งหมดทันที


นอกจากนี้ ในเอ็มโอยู ‘กกท. และ ทรู’ ยังระบุรายละเอียดสิทธิและประโยชน์ที่ กกท. ยกลิขสิทธิ์ให้กับทรูทั้งหมด โดยเฉพาะ ข้อ 2.3 สิทธิแบบ ‘เอ็กซ์คลูซีฟ’ ในระบบเคเบิ้ล, ระบบดาวเทียม, ระบบไอพีทีวีไม่ว่าจะเป็นบริการแบบเรียกเก็บค่าบริการหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่า เอ็มโอยู ระหว่าง กกท. และทรู ขัดต่อ เอ็มโอยูระหว่าง กสทช. และ กกท. ที่ตกลงกันไปก่อนหน้า


การที่ผู้ประกอบไอพีทีวีทุกรายที่ได้รับใบนุญาตจาก กสทช. ตัองจอดำ จึงไม่เป็นไปตาม ‘กฎมัสต์แครี่’ ที่เป็นเจตนารมณ์ของ กสทช. ในการสนับสนุนงบ 600 ล้าน ที่ต้องการให้คนไทยดูฟรีทีวีได้ทุกช่องทาง จึงเป็นเหตุให้ กสทช. จะเรียกเงินคืนทั้งหมด 600 ล้านจาก กกท.


ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ซึ่งยืนยันตลอดมาว่า กกท. ปฏิบัติตามข้อตกลงกับ กสทช. แต่เมื่อดูรายละเอียดของ เอ็มโอยู กลับผิดไปจากที่กล่าวมาโดยสิ้นเชิง กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทรูผูกขาดแต่เพียงรายเดียว และยังขัดต่อข้อกฎหมายของ กสทช. ด้วย


จับตาดูต่อไป ว่า กกท. จะแก้ไขข้อตกลงให้ถูกต้องตามเอ็มโอยูที่ได้ทำกับ กสทช. หรือไม่ โดย กสทช.ได้มีหนังสือเรียกเงินคืน 600 ล้าน คืนจาก กกท.แล้ว ตามเอ็มโอยู ‘กสทช.-กกท’


ขณะเดียวกัน เอ็มโอยู ‘กกท.-ทรู’ ก็กำหนดให้ กรณีที่มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ มีการกระทำละเมิดสิทธิของทรูตามบันทึกข้อตกลงนี้ กกท. ตกลงที่จะคืนเงินสนับสนุนให้แก่ทรูทั้งหมดทันที

---------------------

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยในรายการเจาะข่าวเช้านี้ สถานีวิทยุจุฬา ถึงกรณี กสทช. แจ้งเรียกคืนเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท จากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หากไม่ดำเนินการตามกฎมัสต์แครี่ ให้กล่องไอพีทีวีถ่ายทอดบอลโลกได้ ว่า

    ต้องเข้าใจก่อนว่า การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการส่งหนังสือถึง กสทช. ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับชม ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และ กสทช. จึงเห็นชอบการสนับสนุนเงินจาก กองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อให้มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ผ่านผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ได้ในทุกช่องทาง ทั้งระบบดาวเทียม โทรทัศน์ระบบดิจิทัล รวมถึงกล่องไอพีทีวี โดยจะต้องทำตามกฎของ กสทช.อย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกัน หากเป็นการถ่ายทอดสดผ่านระบบทีวีดิจิทัล จะมีกฎมัสต์แครี่ว่า เนื้อหาในทีวีดิจิทัล ต้องออกอากาศครบทุกช่องทาง เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึง เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีการรับชมผ่านเสาอากาศอยู่ 50% อีก 50% รับชมผ่านดาวเทียม เคเบิลทีวี และกล่องไอพีทีวี ดังนั้น หากจะรับชมได้เฉพาะทีวีดิจิทัลที่ต้องมีเสาอากาศ หรือมีหนวดกุ้ง จะส่งผลให้ประชาชนอีกครึ่งประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ใช้จานดาวเทียมไม่สามารถรับชมได้ กสทช.จึงมีการกำชับว่า ต้องสามารถรับชมได้ทุกช่องทาง


จากนั้น กกท.ได้เซ็นรับทราบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) แต่เนื่องจากไม่สามารถหาเงินสนับสนุนได้ครบ จึงมีเอกชนรายหนึ่งเข้ามาเจรจา เพื่อขอสนับสนุนเงิน จำนวน 300 ล้านบาท แต่ กกท.ดันไปมอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียว หรือสิทธิผูกขาด ทั้งดาวเทียม เคเบิลทีวี มือถือ ไอพีทีวี และโอทีที ด้วย ดังนั้น จึงแปลว่า หากเอกชนรายนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมได้ ทำให้เกิดการจอดำทั่วประเทศ


แต่ขณะที่เอกชนรายดังกล่าว มีเป้าหมายที่ต้องการผูกขาดในส่วนที่เป็นอินเตอร์เน็ต เนื่องจากมีบริการกล่องทรูไอดี ซึ่งไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เพราะเป็นการสตรีมมิ่ง เช่นเดียวกับ เน็ตฟลิกซ์ และดิสนีย์พลัส ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เพราะเนื้อหาที่ออกผ่านสตรีมมิ่งนั้น จำเป็นต้องซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ตรงไปตรงมา


แต่ที่ไม่ตรงไปตรงมา คือ มีการมอบสิทธิผูกขาดว่า หากออกอากาศผ่านมือถือ หรืออินเตอร์เน็ตทั้งหมด ห้ามออกอากาศเลย ได้เฉพาะทรูรายเดียว เพราะขัดกับวัตถุประสงค์การใช้เงินของ กทปส. รวมถึงขัดกับวัตถุประสงค์ของการเอ็มโอยู ขัดกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งถ้า กสทช.นั่งนิ่งเฉย มีโอกาสทำผิดกฎหมาย เพราะรู้ทั้งรู้ว่าคนรับเงินทำผิดกฎ กติกา ดังนั้น กสทช.จึงต้องมีหนังสือเตือน


 นพ.ประวิทย์กล่าวว่า กสทช.และ กกท. เอ็มโอยูร่วมกันเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ขณะที่ กกท.และเอกชน เอ็มโอยูร่วมกันเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ก่อนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกในวันที่ 20 พฤศจิกายน ดังนั้น กสทช.จึงใช้สิทธิตามเอ็มโอยู ในการตรวจสอบว่าทำตามข้อตกลงหรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุน ขอดูเอ็มโอยูระหว่าง กกท.และเอกชน รวมถึงขอดูสัญญาระหว่าง กกท.และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ด้วย แต่ กกท.ไม่ส่งให้ โดยให้เหตุผลเพียงว่าเป็นความลับ


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ยืนยันด้วยมติเป็นเอกฉันท์ว่า การปิดกั้นกล่องไอพีทีวีและไม่ทำตามกฎมัสต์แครี่ ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยถูกกฎหมาย ไม่สามารถถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้นั้น ผิดข้อตกลงของ กสทช. ดังนั้น สิ่งที่ กกท.ควรทำคือแก้ไขให้ถูกต้อง


“ก่อนหน้านี้ กกท.รับทราบ และเคยมีหนังสือถึงเอกชนรายนี้แล้วด้วยว่า หากเอ็มโอยูระหว่าง กกท.กับเอกชน ขัดกับเอ็มโอยูหลักระหว่าง กสทช.และ กกท. เอ็มโอยูดังกล่าวไม่มีผล ดังนั้น หาก กสทช.ชี้แล้วว่า กกท.ทำผิดข้อตกลง หรือผิดกฎหมาย ง่ายที่สุดคือ กกท.ต้องไปตกลงกับเอกชนว่าให้สิทธิออกอากาศผ่านสตรีมมิ่งได้ แต่ไม่ใช่สิทธิผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว โดยต้องอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเขามีหน้าที่ออกอากาศตามกฎมัสต์แครี่ แค่นั้นก็จบ


แต่ตอนนี้ กกท.กำลังหลงประเด็น เนื่องจากเอกชนรายนี้ฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยอ้างว่าเป็นไปตามสิทธิ ดังนั้น ผู้ให้บริการรายอื่นห้ามถ่ายทอดสด ซึ่งตามความเป็นจริง ถือว่าถูกต้องแค่ครึ่งเดียว ซึ่งสิทธินั้นไม่ใช่สิทธิจากฟีฟ่า แต่เป็นสิทธิจาก กกท. หาก กกท.เพิกถอนสิทธิตรงนั้น ก็จบ และหาก กกท.เพิกถอนสิทธิถูกขาด ให้ผู้ให้บริการรายอื่นสามารถถ่ายทอดสดได้ ทุกอย่างก็จบศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็จะเพิกถอนคำสั่ง” นพ.ประวิทย์กล่าว


ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เอกชนรายดังกล่าว ภายหลังได้รับสิทธิผูกขาดจาก กกท. มีการส่งหนังสือแจ้งเวียนไปยังผู้ให้บริการไอพีทีวีทุกรายว่า ไม่ให้ออกอากาศ โดยไอพีทีวีรายอื่นมีการโต้แย้งว่า ต้องสามารถถ่ายทอดสดได้ตามกฎมัสต์แครี่ และมีการทำหนังสือถึง กสทช. ดังนั้น กสทช.จึงมีมติ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้ไอพีทีวีสามารถถ่ายทอดสดได้ แต่หลักจากนั้น เอกชนรายดังกล่าว มีการฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ โดยฟ้องบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX เพียงรายเดียว เพื่อห้ามออกอากาศ


จากนั้น ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามออกอากาศ จึงทำให้เกิดการลักลั่นว่า ศาลได้รับข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนที่เอกชนถือสิทธิ แต่ไม่ได้สืบข้อเท็จจริงในส่วนที่ กสทช.มอบสิทธิโดยมอบเงินสนับสนุนให้ กกท.เพื่อให้คนไทยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ดังนั้น หาก กกท.เพิกถอนสิทธิส่วนนั้น ทุกอย่างจบ


แต่ขณะนี้ กกท.ยังไม่เพิกถอน และหลงประเด็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯคุ้มครองอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยว เพราะการเพิกถอนสิทธิผูกขาดกับเอกชนไม่ละเมิดคำสั่งศาล และจะทำให้คดีนี้จบทันที แต่ถ้า กทท.ไม่เพิกถอน ก็เป็นไปได้ว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู จึงต้องคืนเงิน 600 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ภายใน 15 วัน


 ทั้งนี้ กรณีที่เอกชนรายนี้ยื่นฟ้องผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX รายเดียว อาจเพราะเป็นคู่แข่งทางการค้ามาโดยตลอด และหากยังจำได้ การแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อ 4 ปีก่อน ก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้แต่ครั้งนั้นเอกชนเป็นผู้ลงขัน 100%


 ขณะเดียวกัน มีการกล่าวอ้างว่า กรณีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เมื่อ 2 ปีก่อน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้รับสิทธิเช่นกัน โดยซื้อลิขสิทธิ์ผ่านผู้แทนของ กกท. จึงทำให้กล่องทรูไอดีไม่สามารถรับชมได้ แต่ต้องอธิบายว่า เอไอเอสยืนยันว่าครั้งนั้นซื้อลิขสิทธิ์เฉพาะโอทีที ส่วนของไอพีทีวี ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ยังออกอากาศตามกฎมัสต์แครี่ได้ 100% ซึ่งต่างจากครั้งนี้ ที่พอซื้อสิทธิไอทีที แต่ห้ามไอพีทีวีออกอากาศด้วย ดังนั้น กรณีโอลิมปิกกล่องทรูไอดี ซึ่งไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และไม่มีหน้าที่ตามกฎมัสต์แครี่ หากจะออกอากาศต้องซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ตรงไปตรงมา แต่กลับกันครั้งนี้ AIS PLAYBOX เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต จึงต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกอยู่แล้ว แต่ถูกคำสั่งศาลห้ามออกอากาศ


นพ.ประวิทย์กล่าวว่า ทั้งนี้ สมมุติว่าเอกชนซื้อลิขสิทธิ์ได้ ต้องสามารถถ่ายทอดสดได้ตามกฎมัสต์แครี่อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน สามารถนำรายการไปออกอากาศในช่องทางอื่นได้ หากมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อลิขสิทธิ์เพิ่ม แต่พื้นฐานคือกฎมัสต์แครี่ คือทุกคนต้องได้รับชมเหมือนกันหมด แต่เอกชนรายดังกล่าวต้องการออกอากาศผ่านช่องทางอื่นด้วยจึงต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อลิขสิทธิ์เพิ่มก็สมเหตุสมผล ส่วนเอไอเอสไม่จ่ายเงิน จึงไม่สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันได้ จะได้เฉพาะกฎมัสต์แครี่


“กฎมัสต์แครี่ กสทช. ไม่เลือกปฏิบัติ เราสั่งให้ออกอากาศได้ทุกช่องทีวีดิจิทัล แม้ช่องเรตติ้งน้อยก็ได้รับสิทธิ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ กกท.และ กสทช.ทำเอ็มโอยูร่วมกัน คิดว่า กกท.เข้าใจแล้ว แต่ตอนทำเอ็มโอยูกับเอกชน อาจเข้าใจผิดว่าสามารถมอบสิทธิผูกขาดได้ ด้วยเข้าใจว่า กกท.ศึกษาข้อกฎหมายไม่ละเอียด ลึกซึ้งพอ


 และก่อนหน้านี้ กกท.เคยมีหนังสือถึงไอพีทีวีแล้วว่า ให้ไปขอสิทธิต่อจากทรู แต่ปรากฏว่กล่องไอพีทีวี 3 ราย ทั้ง AIS PLAYBOX, 3BB และ NT นั้น ไม่ต้องการออกอากาศเพิ่ม แต่ต้องการออกเฉพาะกฎมัสต์แครี่ จึงไม่ร่วมสนับสนุน เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ กกท.เคยมีหนังสือถึงทรูว่า หากเอ็มโอยูระหว่าง กกท.และทรู ขัดกับ กสทช.เอ็มโอยูนั้นจะไม่มีผล ดังนั้น หาก กกท.ยืนยันว่าเอ็มโอยูดังกล่าวขัดกับ กสทช.ไม่มีผลก็จบ” นพ.ประวิทย์กล่าว


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กกท.ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา แต่เท่าที่ทราบจากสื่อ กกท.ขอให้ กสทช. รอศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก่อน ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เพราะส่วนแรกส่วน คือ สิทธิในการถ่ายทอดสด ซึ่งก่อตั้งโดยกฎของกองทุน กทปส. ส่วนที่ 2 สำหรับศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ เป็นสิทธิที่ กกท.มอบให้กับเอกชน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ กสทช. แต่บังเอิญว่าสิทธิที่มอบ ขัดกับวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู จึงขอสงวนสิทธิ์การสนับสนุนเงินในรอบแรก เพราะเงินสนับสนุน จำนวน 600 ล้านบาท ต้องสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทุกช่องทางของผู้ที่ได้รับในอนุญาตจาก กสทช.ดังนั้น จึงจะปิดกั้นไม่ได้


 ทั้งนี้ การที่ กสทช.ไม่สามารถหารือกับทรูได้โดยตรง เพราะเป็นไปตามสิทธิเอ็มโอยู ต้องทำกับคู่สัญญาเท่านั้น แต่ต้องชี้แจงว่า ขณะนี้แม้แต่ กกท. ก็สับสนว่า ทำเอ็มโอยูร่วมกับใคร เพราะก่อนหน้านี้ กกท.แจ้งกับ กสทช.ว่า ทำเอ็มโอยูกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัท แต่ในเอกสารของเอกชน ระบุเป็น ทรูดิจิทัล ทรูวิชั่น รวมถึงอื่นๆ ดังนั้น จึงเกิดความสับสนว่าผู้ที่เอ็มโอยูร่วมกับ กกท.คือบริษัทใด กสทช.จึงไม่ทราบว่าจะแจ้งไปเอกชนรายใด เพราะแม้แต่ผู้ร่วมเอ็มโอยูยังคลุมเครือขนาดนี้ อีกทั้งขอสัญญาก็ไม่ให้


นพ.ประวิทย์กล่าวว่า ส่วนที่ กกท.อ้างว่า ส่งบันทึกให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ยืนยันว่าเอ็มโอยูระหว่าง กกท.กับเอกชนยังตรวจไม่แล้วเสร็จจริง ดังนั้น สำนักงานอัยการสูงสุด ควรขอเอ็มโอยูระหว่าง กกท.กับ กสทช. เพื่อพิจารณาควบคู่กันว่าเอ็มโอยูทั้งสองฉบับ ขัดกันอย่างไร


“เรื่องนี้เป็นเรื่องการใช้เงินแผ่นดิน ที่ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรเข้ามาตรวจสอบด้วย แต่ขณะนี้ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด และ สตง. ยังไม่เรียกข้อมูลจาก กสทช. ซึ่งหากตัดสินผิดพลาด ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเงินแผ่นดิน ใครจะรับผิดชอบ


 ทั้งนี้ สำหรับเงินจำนวน 600 ล้านบาทที่ กสทช.เรียกคืน เพราะทำผิดเอ็มโอยู เชื่อว่ากองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีเพียงพอที่จะสำรองจ่ายก่อนได้ หรือของบประมาณจากรัฐ รวมถึงทำหนังสือขอผ่อนผัน พร้อมดอกเบี้ยก็สามารถทำได้ ซึ่งหาก กกท ยังไม่ชี้แจง หลังจากนี้ ต้องรอมติ กสทช. ส่งหนังสือเพื่อขอคืนเงินต่อไป” นพ.ประวิทย์กล่าว



ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/Pcd-Sjxp2ys


คุณอาจสนใจ

Related News