กีฬา

แฉภาพประเทศเพื่อนบ้าน สอยสัญญาณถ่ายบอลโลก 'ฟีฟ่า' ขู่ไทยจอดำ หลังพบละเมิดลิขสิทธิ์

โดย thichaphat_d

24 พ.ย. 2565

3.2K views

จากกรณีที่ "แคน สาริกา" คอลัมนิสต์ดัง เผยภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ สปป.ลาว จัดเทศกาลบอลโลกรับชมถ่ายทอดสด โดยรับสัญญาณจากทีวีไทยและจีน เพราะ Laosat ไม่ได้ลิขสิทธิ์บอลโลกเหมือนที่มีข่าวมาก่อนหน้า 


วานนี้ (วันที่ 23 พ.ย.) ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึง "กสทช." หลังได้รับคำเตือนจาก "ฟีฟ่า" ว่ายังมีการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะสัญญาณการถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลโลก 2022 จากประเทศไทย รั่วไหลไปสู่ประเทศอื่นๆ พร้อมสั่งให้เร่งแก้ไขโดยด่วน  เตือน MUX เข้ารหัส ป้องละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่เช่นนั้น "ฟีฟ่า" จะทำการตัดสัญญาณ หรือ "จอดำ" ทันที ซึ่งจะส่งผลให้ "คนไทย" ทั้งประเทศ อดชมศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ทันที


ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ได้ส่งหนังสือเรื่องขอความอนุเคราะห์แจ้งให้ดำเนินการเข้ารหัสสัญญาณให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่า ไปยังเลขาธิการ (กสทช.)


ตามที่อ้างถึง การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ขอความอนุเคราะห์คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ให้บริการวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ อันประกอบด้วย ผู้ให้บริการ Multiplexer DTT ทั้ง 5 MUX และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Cary (มัสต์ แครี) และผู้ให้บริการกล่อง STB คุ้มครองสิทธิการถ่ายทอดสด


การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) โดยเข้ารหัสสัญญาณและดำเนินการทำ OTA ของกล่องเครื่องรับระบบโทรทัศน์ดาวเทียม นั้น กกท. ได้รับแจ้งจากทางสหพันธ์ฟตุบอลนานาชาติ ว่า สัญญาณออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ยังคงแพร่กระจายไปละเมิดลิขสิทธิ์ในดินแดนของประเทศอื่น นอกเหนือลิขสิทธิ์ที่ได้รับตามข้อกำหนดของสหพันธ์ฯ


ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ ได้ขอให้ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของประเทศไทย ดำเนินการแก้ไขการเข้ารหัสสัญญาณ (Encryption) ที่ส่งผ่านดาวเทียมให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานของสหพันธ์ฯ โดยด่วนที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาสัญญาณการออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ไปละเมิดลิขสิทธิ์ในดินแดนของประเทศอื่น ตามที่สหพันธ์ฯ แจ้งมา


กกท. ใคร่ขอความอนุเคราะห์และความร่วมมือจาก กสทช. ดำเนินการแจ้งผู้ให้บริการ Multiplexer DTT ทั้ง 5 MUX และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Cary และผู้ให้บริการกล่อง STB คุ้มครองสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) โดยดำเนินการดังต่อไปนี้


1.ให้ดำเนินการเข้ารหัส (Encryption) ในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามมาตรฐานของ FIFA ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ BISS CA Director หรือ Power/u

2.ในส่วนของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Carry และผู้ให้บริการกล่อง STB จะต้องเข้ารหัส โดยไมใช่การดำเนินการในลักษณะ BISS 1 Simultcrypt เหมือนที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

3.ในกรณีที่ผู้ให้บริการใด ไม่สามารถเข้ารหัสให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สหพันธ์ฯ กำหนด มีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณที่จะส่งไปเผยแพร่ผ่านผู้บริการนั้น ซึ่งต้องดำเนินการในลักษณะส่งข้อความขี้แจงข้อกำหนดการเผยแพร่ตามข้อกำหนดลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยได้รับ (หรือตามที่ผู้รับชมทั่วไปจะเข้าใจในลักษณะการขึ้น “จอดำ”


ในการนี้ ทางสหพันธ์ฯ ได้กำชับให้ผู้ได้รับลิขสิทธิ์และดำเนินการเผยแพร่ในประเทศไทย แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วนที่สุด หากไม่สามารถดำเนินการได้ ทางสหพันธ์ฯ มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งการดำเนินการของสหพันธ์ฯ ที่ร้ายแรงที่สุด คือ การตัดสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่จะส่งมาเผยแพร่ในประเทศไทย อันจะส่งผลกระทบต่อโอกาสในการติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอสโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ของประชาชนชาวไทย ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจบการแข่งขัน


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 พ.ย.มีรายงานว่า ประเทศไทยได้รับคำเตือนจาก "ฟีฟ่า" ว่ายังมีการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะสัญญาณการถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลโลก 2022 จากประเทศไทยรั่วไหลไปสู่ประเทศอื่นๆ พร้อมสั่งให้เร่งแก้ไขโดยด่วน ไม่เช่นนั้น "ฟีฟ่า" จะทำการตัดสัญญาณ หรือ "จอดำ" ทันที


เมื่อวานนี้ ( 23 พ.ย.) การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือแนวทางการจัดสรรเวลาออกอากาศ ฟุตบอลโลก 2022 และจับสลากคู่การแข่งขันถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ใหม่


หลังจากที่ บริษัท ทรู คอร์ปเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยินดีมอบการแข่งขัน จำนวน 16 นัด มาจัดสรรให้กับสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน


ประกอบด้วย รอบแรก 14 นัด รอบชิงที่ 3  จำนวน 1 นัด และรอบชิงชนะเลิศ 1 นัด รวม 16 นัด เพื่อนำมาจัดสรรให้กับสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน ต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News