ข่าวโซเชียล

เตรียมกลับบ้าน เด็กลาว 10 เดือน หลังผ่าตัดหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่รพ.จุฬาฯ

โดย attayuth_b

17 เม.ย. 2567

74 views

ผู้ป่วยเด็กลาววัย 10 เดือน เข้าผ่าตัดโรคหัวใจ เมื่อปลายเดือนม.ค. ล่าสุดแข็งแรงขึ้น จะได้กลับบ้านที่ลาว ในวันพรุ่งนี้


เหตุการณ์วันนั้นเป็นภาระกิจด่วน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ตั้งแต่เช้า ที่รถฉุกเฉินนำส่งเด็กชาวลาววัย 10 เดือน ผ่าตัดโรคหัวใจด่วน ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยรถออกจากโรงพยาบาลหนองคาย แล่นไปตามถนนมิตรภาพ แต่ละจังหวัด เข้าสู่ถนนพหลโยธิน ปลายทางกทม.

โดยทุกๆจุดที่รถฉุกเฉินวิ่งผ่าน ได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้เส้นทางจราจรเป็นอย่างดี รวมถึงพลังโซเชียลที่คอยบอกทางเป็นระยะว่า รถวิ่งถึงไหนแล้ว..ก่อนใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง ในระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ถึงมือหมอจากปลอดภัย

นพ.ฉันชาย สิทธพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า น้องบอย เป็นหนึ่งในเด็กน้อยที่เข้าร่วมโครงการ "รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง" ปัจจุบันน้องบอย อายุ 1 ปี 1 เดือน ทีมแพทย์พบว่า น้องมีอาการเส้นเลือดหัวใจสลับห้องกัน มีรูรั่วที่ผนังห้องหัวใจ ตัวมีอาการเขียว จากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งขณะนั้น (อายุ 10 เดือน ) น้องบอยมีน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น

ทีมแพทย์จึงลงความเห็นว่า จำเป็นต้องนำตัวมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อย่างเร่งด่วน หลังการผ่าตัดผ่านไปจนถึงขณะนี้ เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว น้องบอย มีอาการคงที่ ร่างกายแข็งแรงจากเดิมเป็นอย่างมาก ทีมแพทย์จึงเห็นสมควรว่า มีความพร้อมที่จะเดินทางกลับไปที่เมืองหลวงพระบางแล้ว ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 18 เม.ย.67 ) ทางทีมแพทย์จะส่งตัวน้องบอย โดยสารเครื่องบินกลับบ้านที่หลวงพระบาง

ด้านคุณพ่อคุณแม่ของน้องบอย ได้กล่าวขอบคุณทีมแพทย์ ผ่านคลิปวิดิโอ ที่รักษาน้องบอย อาการปลอดภัยและกลับบ้านได้

เมื่อช่วงบ่าย นพ.ฉันชาย พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ และผู้เกี่ยวข้องร่วมกัน แถลงถึงภารกิจความร่วมมือในโครงการ "รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง" ว่า เป็นความร่วมมือระหว่าง สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก และ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สปป. ลาว และโรงพยาบาลมะโหสด ซึ่งเป็นศูนย์โรคหัวใจเฉพาะทางแห่งเดียวของ สปป. ลาว ยังต้องการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการผ่าตัดโรคหัวใจเด็กตั้งแต่กำเนิด จึงหารือกันครั้งแรกที่ ลาว เมื่อวันที่ 18 พ.ค.66

ก่อนออกหน่วยคัดกรองเด็ก 92 รายในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน พบว่าในจำนวนนี้ มีเด็ก 37 ราย ที่จำเป็นต้องนำไปผ่าตัดรักษาที่ประเทศไทย และมีเด็ก 3 ราย ต้องนำตัวไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ (หนึ่งในนั้น คือ น้องบอย )

โดยสรุปผลการดำเนินโครงการ นี้มีผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัด 37 ราย (มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอผ่า 2 ราย ) ผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ 2 ราย ทั้ง 2 คน อาการปลอดภัยดี และผ่าตัดที่โรงพยาบาลเกษมราฎร์ ประชาชื่น 27 ราย ทุกคนปลอดภัยดี เท่ากับว่าเด็กที่เข้าโครงการและได้รับการผ่าตัด มีอัตรการรอดชีวิต 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ยังเหลือเด็กที่รอผ่าตัดอีก 11 ราย

สำหรับโครงการนี้ได้ปิดลงแล้ว โดยทางทีมแพทย์จุฬาฯจะช่วยไปวางระบบให้กับโรงพยาบาลมะโหสด ของลาว


https://youtu.be/wmnnx4zL1mw

คุณอาจสนใจ