ข่าวโซเชียล

เตือนคนออกกำลังกาย! นักธุรกิจดังเล่าปั่นจักรยานวูบ ประสบอุบัติเหตุเจ็บหนัก คาดน้ำตาลหมด

โดย passamon_a

7 ม.ค. 2568

1.7K views

นักธุรกิจชื่อดัง เล่าประสบการณ์ออกกำลังกาย วูบจากการปั่นจักรยาน ทำประสบอุบัติเหตุเจ็บหนัก กะโหลกแตก ฟันหัก กรามหัก เย็บเพดานปาก จนต้องนอน รพ. 4 คืน พักฟื้นร่วม 4 เดือน หมอสันนิษฐานสาเหตุ วูบจากการใช้น้ำตาลจนหมด ไม่พอไปเลี้ยงสมอง หมอเตือนออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องดูสภาพร่างกายตัวเอง


นายวรวุฒิ อุ่นใจ หรือ หมู ผู้ก่อตั้ง บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) เล่าเรื่องการปั่นจักรยานออกกำลังกายนานเกินไป 2 ชั่วโมงกว่าต่อเนื่อง จนน้ำตาลหมด วูบจนประสบอุบัติเหตุ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Worawoot Ounjai ระบุว่า “เมื่อราว 2 เดือนที่ผ่านมา ผมประสบอุบัติเหตุวูบจากการปั่นจักรยานครับ สาเหตุคือออกกำลังกายมากและนานเกินไป ปั่นไปต่อเนื่องร่วม 2 ชั่วโมงเศษ ระหว่างปั่นก็ดื่มน้ำโดยตลอด ไม่ได้ขาดน้ำครับ แต่คุณหมอสันนิษฐานว่าวูบจากการใช้น้ำตาลจนหมด ไม่พอไปเลี้ยงสมอง


วูบครั้งนี้ ถึงขั้นเจ็บหนักครับ ต้องไปนอนโรงพยาบาลอยู่ 4 คืน เพราะกะโหลกหน้าแตก ฟันหักไป 3 ซี่ กรามหัก และต้องเย็บเพดานปากด้านในอีก 16 เข็ม ต้องกินแต่อาหารเหลวอยู่เดือนครึ่ง ผ่านหลอดดูด เพราะต้องยึดฟันบนกับล่างให้ติดกันด้วยลวดเหล็กจนพูดไม่ถนัด อ้าปากไม่ได้จนถึงวันนี้ ทำให้ต้องงดงานบรรยายและนัดหมายอื่น ๆ ทั้งหมดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งต้นกุมภานี้น่าจะหายดีครับ


ที่เอามาเล่าให้ฟังนี้ เพราะอยากจะให้เป็นข้อเตือนใจครับ ว่าคนที่อายุมากแล้ว เวลาออกกำลังกายต้องระมัดระวัง อย่าคิดว่าร่างกายเรามันจะเหมือนตอนอายุน้อย ๆ แข็งแรงเหมือนก่อน อย่างเคสผมคือใจมันไปเกินสังขาร เพราะตอนออกกำลังกายก็สนุกและคิดว่าร่างกายเราไหว ส่วนหนึ่งเพราะขาดความรู้ด้วยครับ คิดแต่ว่าเราไหว และไม่ได้ขาดน้ำ แต่สำหรับคนปั่นจักรยานนาน ๆ ไกล ๆ จะต้องมีน้ำเกลือแร่หรือน้ำหวานคอยจิบเป็นระยะ ๆ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำตาลหรือเกลือแร่จากการออกกำลังกายเป็นเวลานาน ๆ


บทเรียนครั้งนี้ทำให้ต้องระมัดระวังให้มาก เมื่อจะกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง เพราะเจ็บหนักรอบนี้ ต้องพักรักษาตัวนานกว่า 2 เดือนเลยทีเดียว และโชคดีที่ไม่เป็นอะไรไปมากกว่านี้ สำหรับท่านที่ติดต่อมา ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็ต้องขออภัยด้วยครับ ที่ไม่สามารถพบปะ และการบรรยายก็ต้องงดไปด้วย 2-3 งาน เพราะอุบัติเหตุครั้งที่ผ่านมานี้ มาตอนนี้ร่างกายก็ดีขึ้นมากแล้วครับ อาทิตย์หน้าก็คงจะทานอาหารได้เป็นปกติ ไม่ต้องคอยดูด ensure แบบที่ผ่านมา ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังกัน จะได้ระมัดระวังกันไว้ครับ โดยเฉพาะท่านที่อายุมากแล้วในการออกกำลังกายครับ”


ทีมข่าวสอบถามไปยัง นายวรวุฒิ เปิดเผยทางโทรศัพท์เพิ่มเติมว่า วันเกิดเหตุตนไปปั่นจักรยานก่อน 1 รอบ จากนั้นภรรยาก็ไปปั่นจักรยานด้วย ตนจึงช่วยสอนขี่จักรยาน จึงทำให้ปั่นนานกว่าทุกครั้ง จากปกติปั่นจักรยานแค่ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่ครั้งนี้ 2 ชั่วโมงเศษ พอปั่นเสร็จตนก็ไม่ได้เหนื่อยหรืออ่อนเพลียมากสักเท่าไหร่ จากนั้นกำลังปั่นกลับบ้าน ย่านสวนหลวง ร.9 ก็เกิดอาการบวูบ รู้ตัวอีกทีหน้ากระแทกพื้นแล้วสลบไปเลย


หลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หมอได้ทำการตรวจและสอบถามว่า ก่อนวูบมีอาการเหนื่อยหอบหรือไม่ ซึ่งตนไม่มีอาการเหล่านี้ หมอจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะน้ำตาลหมด เพราะตนทานอาหารตั้งแต่เที่ยง แล้วไปปั่นจักรยานช่วง 3-4 โมง ปั่นยาวจนถึง 6 โมงเย็น น่าจะทำให้พลังงานน้ำตาลที่สะสมอยู่หมด ปกติตนปั่นจักรยานใช้ 650 กิโลแคลอรี่ แต่วันนั้นใช้ไป 1,000 กิโลแคลอรี่ มากกว่าปกติพอสมควร บางทีเราคิดว่าดื่มน้ำก็น่าพอ ทั้งนี้ตนทำบอลลูนเมื่อ 7-8 ปีก่อน แต่ตอนที่มาปั่นจักรยานช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ความดันต่าง ๆ ก็ดี ตรวจเลือดเดือนเว้นเดือนไม่มีค่าอะไรผิดปกติ


ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง รองศาตราจารย์นายแพทย์ เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ว่า เวลาเจอคนไข้วูบก็คือหมดสติในทางการแพทย์จะนึกถึงว่ามีปัญหาหัวใจหรือมีปัญหาทางสมองระบบประสาทหรือไม่ แต่กรณีนี้ระบุว่าน้ำตาลต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้สมองขาดอาหารไปเลี้ยงจึงทำให้มีอาการวูบ ทั้งนี้เดาว่าผู้บริหารรายนี้น่าจะได้รับการเจาะเลือดตรวจแล้ว ซึ่งถ้าน้ำตาลในลือดต่ำมากและเป็นอย่างนั้นจริงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้วูบได้


ทั้งนี้ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ก็เสี่ยงที่จะเกิดอาการวูบได้เช่นกัน คนที่เป็นเบาหวานถ้ากินยาปกติแต่ไม่ได้กินอาหารถึงแม้จะดื่มน้ำ ซึ่งในน้ำไม่มีน้ำตาล ก็เป็นไปได้ว่าหากขาดอาหารแล้วกินยาลดน้ำตาลเพื่อรักษาเบาหวานก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกะทันหันได้ เพราะยาจะไปลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่มีอาหารไปเสริมจึงทำให้เกิดอาการวูบได้จากน้ำตาลต่ำ หรือคนที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะก็อาจจะเกิดอาการวูบขณะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้


อย่างไรก็ตามอาการวูบเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกช่วงอายุ ถ้าเป็นผู้สูงอายุแพทย์ก็จะมองหาสาเหตุจากโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการออกกำลังกายต้องดูสภาพร่างกายของตัวเองด้วย หากเป็นเบาหวานแล้วกินยาอยู่ต้องระมัดระวังเรื่องการขาดน้ำตาล หากเป็นโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ว่าออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด ส่วนคนที่อายุน้อยไม่มีโรคประจำตัวอะไรก็ยากที่จะป้องกันเพราะมักจะไม่ทราบว่ามีโรคที่หลบอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะออกอาการเมื่อไหร่ก็ได้ ยืนยันทุกคนสามารถออกกำลังกายได้แต่ต้องเหมาะต่อสภาพร่างกายของแต่ละคน


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/2tmUmeyO55U

คุณอาจสนใจ