ข่าวโซเชียล

ร้านข้าวแกง แจงดรามา 'ตักบาตรไลฟ์สด' ทำด้วยใจ ไม่เวียนขายซ้ำ - 'พระพยอม' ชี้ทำได้ แต่อย่าใส่แต่องค์ที่ชอบ

โดย nattachat_c

20 ก.ย. 2565

13 views

มาถึงยุค 5 จี ชาวพุทธอนุโมทนาบุญ ใส่บาตรมิติใหม่ผ่านไลฟ์สดพ่อค้าร้านข้าว เจ้าของร้านหลั่งน้ำตา ยันทำด้วยใจ ทุกถุงทานได้จริง ไม่เคยเวียนขายซ้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทำบุญ ด้านพระพยอม ชี้ใส่บาตรออนไลน์ไม่ได้เสียหาย ยุคสมัยเปลี่ยนเปิดมิติใหม่


จากกรณีที่เพจ ข่าวสารเมืองปราการ V2 ได้โพสต์คลิปวิดีโอ พร้อมกับระบุข้อความว่า "มิติใหม่แห่งการตักบาตร โดยที่ไม่ต้องลุกจากที่นอน อยากใส่บาตร ไม่ต้องไปถึงที่แล้วนะ ในขณะที่เลื่อนช้อปปิ้งของในติ๊กต็อก เพราะนอนไม่หลับ สิ่งนี้ทำฉันว้าวที่สุด ในตอน 6 โมงเช้าคือ การ live ขายของใส่บาตร พร้อมเขียนชื่อ -นามสกุล และใส่บาตรให้ ลูกค้าแค่โอนก็ได้ใส่บาตรแล้ว ไอเดียดีมาก ยุคนี้ใครไม่ปรับตัว อยู่ไม่รอดนะบอกเลย แล้วคือร้านขายดี จนสงสารพระ รับของไม่ทัน 5555"


หลังจากที่เพจได้มีการโพสต์คลิปลงไป ก็มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก ถึงความเหมาะสมว่า พระยืนรับบาตรแบบนี้ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่ ของที่ใส่บาตรมีการนำมาเวียนขายซ้ำหรือไม่ ซึ่งก็มีบางคอมเมนต์ที่เห็นด้วยกับการทำบุญออนไลน์แบบนี้ มองว่าดีที่ทางร้านเป็นสะพานบุญ


ล่าสุด วานนี้ (19 ก.ย. 65) เวลา 05.00 น. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปที่ร้านขายของใส่บาตร ในตลาดบางฆ้อง ถนนศรีสมุทร อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พบเป็นร้านขายข้าวแกงและของใส่บาตร โดยมี 2 สามีภรรยาไลฟ์สด ขายข้าวแกงเป็นชุดใส่บาตร ผ่านแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อก โดยมีชาวติ๊กต็อกให้ความสนใจโอนเงินซื้อชุดข้าวแกงใส่บาตรจำนวนมาก


ซึ่งปกติทางร้านมีลูกค้าประจำเป็นคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ สนใจทำบุญออนไลน์ด้วย ทางร้านจะไลฟ์สดเปิดให้จองชุดใส่บาตรตั้งแต่ช่วงเวลา 05.30 - 07.00 น.โดยการเขียนชื่อ-นามสกุลคนที่ซื้อผ่านออนไลน์ใส่ไปในถุงทุกถุง


และจะนิมนต์พระสงฆ์ที่เดินผ่านร้าน เพื่อใส่บาตร และให้คนที่ทำบุญออนไลน์รับพรกับพระสงฆ์กันแบบสดๆ โดยที่ไม่มีการนำชุดใส่บาตรมาเวียนขายซ้ำ และพระสงฆ์ไม่ได้ยืนปักหลักเพื่อรับบาตรที่หน้าร้าน อย่างที่ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย


ด้านนายวรพงศ์ อายุ 45 ปี เจ้าของร้านข้าวแกงเฮียโก๋ เปิดเผยว่า ตนเปิดร้านขายข้าวแกงใส่บาตรที่ตลาดแห่งนี้มาเกือบ 9 ปี เมื่อเดือนที่แล้วตนไลฟ์สดอยู่ ลูกค้าถามตนว่าทำอะไร ตนเลยบอกว่ากำลังทำกับข้าวใส่บาตรส่งพ่อค้าแม่ค้าในตลาดบางฆ้อง ลูกค้าเลยขอฝากทำบุญด้วย เพราะต้องดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียง ไม่สามารถออกมาทำบุญได้ ตนเลยมองว่าเป็นการดี ที่เป็นสะพานบุญให้คนอื่น ซึ่งแนวคิดนี้ตนคิดเองไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร ทำด้วยใจซื่อบริสุทธิ์ วันนึงจะขายผ่านออนไลน์ได้ประมาณ 60 ชุด ขายราคาปกติชุดละ 40 บาท แต่ละชุดจะมีแกงหนึ่งถุง ข้าวสวยหนึ่งถุง ขนมหวาน และน้ำดื่ม


ส่วนประเด็นดรามาในโลกออนไลน์ ตนมองว่าทุกคนมีสิทธ์ที่จะคิด ซึ่งตอนนี้ยอมรับว่าอ่านคอมเมนต์แล้วกระทบต่อจิตใจตน และคนในครอบครัว คมชมก็มี คนด่าก็เยอะ ตนเข้าใจดีว่าไปห้ามความคิดใครไม่ได้ ซึ่งบางวันที่ขายของไม่หมด ตนก็ไปทำทานนำไปให้คนจร และคนไร้บ้านในย่านนี้ เพื่อเป็นการทำทาน


นายวรพงศ์ กล่าวอีกว่า พระที่มารับบาตรที่ร้านตน เดินบิณฑบาตผ่านร้านตนทุกวัน วันละ 6-8 รูป พอเดินผ่านมา ตนก็นิมนต์เอาไว้ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องใส่พระรูปไหน พระท่านไม่ได้นั่งหรือยืนรอรับบาตรที่หน้าร้านอย่างที่โลกโซเชี่ยลตั้งข้อสังเกต และร้านตนไม่เคยนำชุดใส่บาตรมาวนขายใหม่ เพราะตนรู้ดีว่าถ้าทำแบบนั้นลูกค้าและตนย่อมไม่สบายใจ


หลังจากที่ มีการเผยแพร่ไปในโลกโซเชี่ยล ยอมรับว่ามีผลกระทบ บางคนด่าตนแบบเสียหาย โดยที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง และพระสงฆ์ที่เคยมารับบาตรบางรูปไม่กล้าเดินผ่านร้าน เพราะกลัวชาวพุทธไม่สบายใจ


ล่าสุด เมื่อเวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วัดสวนแก้ว อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เพื่อสอบถามกรณีดังกล่าวกับทาง พระพยอม กลฺยาโณ หรือพระพยอม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นความเจริญก้าวหน้าของยุคสมัยจะไปทำแบบเดิม ถ้าไม่ว่างไปวัด จิตเป็นกุศล แต่ไม่มีเวลาไปทำบุญที่วัด บางคนอายุเยอะ ไม่มีใครพาไปก็ไม่ได้ไปใส่บาตร เพราะฉะนั้นโลกได้พัฒนาการขึ้น ก็ต้องไปตาม


ส่วนเรื่องได้บุญ ขึ้นอยู่กับพระว่าพระที่มาบิณฑบาตเป็นเนื้อนาบุญหรือไม่ และเงินที่ญาติโยมโอนมาให้แม่ค้าได้มาอย่างบริสุทธิ์หรือไม่ ถ้าทั้งสองล้วนบริสุทธิ์ทุกอย่างจะเกิดบุญ ส่วนวิธีการอาจจะได้ยินเสียงพระให้พรก็ ได้ยินเสียงเช่นเดียวกัน แค่ไม่ได้เห็นองค์ใกล้ๆ มีการถ่ายทอดสดให้ดู ถึงเรียกว่าเป็นยุคสมัยใหม่ที่แท้จริง


ถ้าจะต้องยึดติดและทำแบบเดิมอาจจะไม่ได้ทำบุญ ถ้ามีโอกาสก็ควรทำ ให้สังเกตดูพระที่เป็นเนื้อนาบุญ ไม่ใช่พระที่วนเวียนอยู่บริเวณนั้นๆ ตลอด แม่ค้าต้องทำใจให้เป็นกลาง อย่าไปใส่บาตรแต่องค์ที่ชอบ หรือใส่บาตรกับพระที่เป็นญาติกัน ถ้าทำเป็นหัวเฉลี่ยได้จะเรียกว่าเป็นสงฆ์หมู่สงฆ์ ถือว่าจะได้บุญในเรื่องของการใส่บาตรออนไลน์ ถ้าไปยึดติดแบบเดิมการจะได้ทำบุญนั้นจากโอกาสจาก 10 จะเหลือเพียง 1 จะว่าเป็นการที่ดีก็มีหลายมุม ไม่ได้ดีที่สุด แบ่งเป็น ดี ดีเยี่ยม ดียอด และดีที่สุด


ถ้าเป็นการที่ดีที่สุด ก็ต้องมาสัมผัสที่วัดวาอารามด้วยตนเอง จะต่างกับอยู่ที่บ้านและใส่บาตรออนไลน์ ญาติโยมสบายใจแบบไหนก็ย่อมทำได้เพื่อบำรุงพุทธศาสนา ถ้าจิตของผู้ทำบุญเป็นกุศลและมีจิตศรัทธาบริจาค จะไม่ได้บุญได้อย่างไร เพราะการใส่บาตรมีการเอ่ยชื่อผู้ที่ร่วมทำบุญใส่บาตรทุกคน บุญจะอยู่ที่ปิติสุขใจ เพราะตัวเองได้สละการใส่บาตรทุกเช้า เป็นการแกล้งกิเลศตัวงก เพราะเดี๋ยวนี้คนหลอกกันเยอะ หาเวรหากรรมหากงหาเกวียน จึงแนะนำให้มาหาบุญหากุศลจะดีกว่า


คุณอาจสนใจ

Related News