สังคม

ประสานอินเตอร์โพล ล่าตัว ‘หมอบุญ’ เผ่นไปจีน - สอบเครียด 'ภรรยา-ลูกสาว' อ้างถูกปลอมลายเซ็นกู้เงิน

โดย thichaphat_d

24 พ.ย. 2567

335 views

ตำรวจยืนยัน 'หมอบุญและพวก' รวมกันหลอกประชาชนลงทุนห้าโครงการ มูลค่า 7500 ล้านบาท พบ พฤติกรรมเซ็นเช็กคำประกันเลี้ยงความผิดฟอกเงิน

เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (23 พ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าทลายเครือข่าย นายแพทย์บุญ วนาสิน พร้อมกับผู้ร่วมขบวนการรวม 9 คน ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ก พ.ศ.2537 ผู้เสียหายจำนวน 247 คน จากการหลอกลวงให้มาร่วมลงทุน ธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาล บริการทางการแพทย์ มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท


พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. เปิดเผยว่า ตั้งเดือนธันวาคม 2566 มีผู้เสียหายมาเเจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง 1 ราย จากนั้นปี 2567 ตลอดทั้งปี จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน รวม 247 ราย ตาม พรบ.เช็ก จากนั้น สน.ห้วยขวางจึงส่งเรื่องมายังกองบัญชาการตำนครบาลว่า มีความสลับซับซ้อน จึงได้แต่งตั้ง คณะ บกน.1 เป็นพนักงานสอบสวน ร่วมรวมพยานหลักฐาน พบพฤติกรรม ของนายแพทย์บุญและพวกมีการระดมทุน ชักชวนจากตัวแทน บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ว่าตนเป็นตัวแทนการระดมเงินลงทุน ให้นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือ หมอบุญ และครอบครัว

โดยมีการแจ้งว่า นำไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ 16,000 ล้านบาท ใน 5 โครงการ ประกอบไปด้วย

โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า 4,000 พันล้าน

โครงการเวลเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 4,000-5,000 ล้าน

สร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 เเห่ง รวม 2 พันล้านบาท

เข้าร่วมลงทุนโรงพยาบาลในเวียดนาม 4,000-5,000 ล้านบาท

และเมดิคอร์ อินเทเลเจนท์ บางละมุง ชลบุรี งบลงทุน 100 ล้านบาท

โดย 5 โครงการดังกล่าว หลังระดมทุนเรียบร้อยแล้ว ก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทไทยเมดิคิลกรุ๊ป จำกัด หรือ TMG ดูแลโครงการทั้งหมดเนื่องจากมีการเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เข้ามาบริหารต่อ ยังมีแผนการนำเข้าบริษัทตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567

แต่พฤติกรรมในการหาแหล่งเงินทุน ของหมอบุญ และพวกกับมีลักษณะการไปกู้ยืมเงินกับแหล่งเงินกู้ โดยมีภรรยาและลูกสาว ผู้ค้ำประกัน เซ็นสลักหลังในเช็กทุกฉบับ มอบให้ผู้เสียหาย ในช่วงแรกมีการชำระดอกเบี้ยในอัตราสูง ให้กับบางส่วนบางคน ต่อมาไม่มีการจ่ายเลย ทั้งเจ้าหน้าที่ยังพบว่า หลังจากได้เงิน ทุน 7,500 ล้าน พบว่าให้โบรกเกอร์ทยอยไปถอนเงินครั้งละเป็นร้อยล้าน โดยโบรกเกอร์จะได้ดอกเบี้ยและเปอร์เซนต์เป็นค่าตอบแทน ซึ่งการกระทำทั้งหมอบุญและโบรกเกอร์ จะไปชักชวนผู้ร่วมลงทุน ที่เป็นนักเล่นหุ้น กระเป๋าหนัก โดยพบว่ามีผู้เสียหาย

ต่อมามากองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จึงได้แต่งตั้งตั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้น โดยเร่งดำเนินการโดยด่วน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายสูง ผู้ที่เสียหายมากที่สุดที่ร่วมลงทุน มากที่สุดมากถึง 600-700 ล้าน เป็นนักธุรกิจที่หลงเชื่อว่าจะมีการลงทุนจริง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งหมด 247 คน ความเสียหาย 7,564 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนตุลาคม 2567

ส่วนเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการนำไปใช้จ่ายในธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีอยู่จริง 4-5 โรงพยาบาล จะต้องไปตรวจสอบ รวมถึงต้องไปตรวจสอบในช่วงที่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด19 ว่าเงินดังกล่าวไปอยู่ที่ไหน

นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า นายแพทย์บุญ มีรถยนต์ 19 คัน พบว่าหายไป ส่วนอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงโฉนดที่ดิน พบมี 21 แปลง พบว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปยังคนในครอบครัว ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่า ทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในช่วงปี 2567 หรือไม่ สำหรับผู้ร่วมขบวนการ

โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับมี 9 ราย ประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 คือ นายแพทย์บุญ วนาสิน นางจารุวรรณ อายุ 79 ปี ภรรยาของ นายแพทย์บุญ , นางสาวนลิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของนายแพทย์บุญ

กลุ่มสอง คือ นางสาวศิวิมล อายุ 38 ปี ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสาร สัญญาต่างๆ และจัดการด้านการเงิน

กลุ่มที่ 3 โบกเกอร์ คือ นางอัจจิมา อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่ของ บริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน , นายภาคย์ อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่ บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประสานงานให้คำปรึกษา ชักชวนลงทุน , นางภัทรานิษฐ์ อายุ 55 ปี เป็นนายหน้า และผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน

และ นายธนภูมิ อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญา ซึ่งขณะนี้ตำรวจจับได้เเล้ว 6 ราย และได้มีการนำตัวส่งศาลอาญาฝากขังเรียบร้อยเเล้ว

ส่วนหมอบุญได้ประสาน ตม. พบว่า พบว่าเดินทางออกจากไทยตั้งเเต่ 29 กันยายน เวลา 14.25 น. เส้นทางกรุงเทพ ฮ่องกง ล่าสุดพบว่า ทราบว่านายเเพทย์บุญ เดินทางต่อจากฮ่องกงไปจีนเเล้ว อยู่ระหว่างการประสานตำรวจสากล  

สำหรับพฤติการณ์ หมอบุญชุดสืบสวนพบว่า พยายามจ่ายเช็กให้กับเจ้าหนี้ โดยใช้เช็กที่ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปใช้ดำเนินการขึ้นเงินได้เพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องความผิดการฟอกเงิน ที่มีอัตราโทษสูง เเละจะต้องถูกยึดอายัดทรัพย์ อีกทั้งพฤติกรรมกลุ่มผู้ต้องหายังทำการตลาด ซื้อโฆษณา สื่อออนไลน์ สำนักพิมพ์หลายแห่ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตามจะพยายามถึงที่สุดในการตามล่าตัว ตามหาทรัพย์สินกลับมาคืนผู้เสียหายให้ได้ ฝากถึงผู้ที่จะลงทุน ก่อนร่วมลงทุน ให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าโครงการต่างจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

----------------------------

สอบเครียด 'ภรรยา-ลูกสาวหมอบุญ' หลังเข้ามอบตัวตามหมายจับ ทนายความอ้างถูกหมอบุญปลอมลายเซ็น

วานนี้ (23 พ.ย.) เวลา 13.00 น. นางจารุวรรณ อายุ 79 ปี และ น.ส.นลิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของ นพ.บุญ วนาสิน ผู้ต้องหาตามหมาย พร้อมด้วย ทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 โดยทั้งคู่ไม่ตอบคำถามสื่อ พูดสั้นๆ ว่า ไม่มีอะไรจะพูด และก้มหน้า รีบเดินเข้าไปพบพนักงานสอบสวนทันที

ด้านนายชำนาญ ชาดิษฐ์ ทนายความ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ทางลูกความตน ทั้งนางจารุวรรณและนางสาวนลินบอกว่าถูกปลอมแปลงลายเซ็น โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนทำ แต่มีการปลอมแล้วนำเอกสารพวกนี้ไปใช้กู้ยืมเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว ยืนยันว่าไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร แต่มาทราบตอนที่มีหมายศาลฟ้องที่ตัวนางจารุวรรณ เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า กรณีที่มีการกู้ยืมเงินและค้ำประกันต่างๆ เป็นลายเซ็นปลอมทั้งหมด โดยตัวนางจารุวรรณไม่เคยไปกู้ยืมเงินแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้เซ็นค้ำประกัน

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีความผิดปกติ ทั้งลายเส้น น้ำหนักมือรวมทั้งรูปแบบอักษร จากลายเซ็นของทั้งสองคนอย่างชัดเจน

และถึงแม้ว่าลายเซ็นที่อ้างว่ามีการปลอมแปลง ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องดังกล่าวทางทนาย และผู้เสียหายได้ไปแจ้งความไว้ที่ตำรวจ ปอศ.ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2566 แต่ไม่ได้เปิดเผยให้เป็นข่าว เนื่องจากการปลอมลายเซนมีความเชื่อมโยงกับอีกหลายคดี ที่เกี่ยวข้องกับคดีทางเศรษฐกิจ จึงต้องไปแจ้งที่ ปอศ.

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลแพ่ง โดยศาลมีการนัดคู่ความทั้งสองฝ่ายเพื่อสืบพยานในเรื่องการปลอมลายเซ็นและคดีอื่นๆ เร็วๆ นี้

สำหรับสถานะความสัมพันธ์ของนางจารุวรรณ ภรรยา กับ หมอบุญ มีการหย่าร้างกันนานแล้ว และช่วงที่ปลอมแปลงลายเซ็นเกิดขึ้นหลังมีการหย่าร้างกัน ช่วงเวลาที่มีการปลอมแปลงลายเซ็น เพื่อทำสัญญาคำประกัน ตัวภรรยาหมอบุญ ก็อยู่ต่างประเทศ แต่จำไม่ได้ว่าเดินไปช่วงไหน เพราะเดินทางบ่อย โดยมั่นใจว่าคนที่ปลอมลายเซ็น เป็นหมอบุญ เพราะสัญญาในการกู้ยืม มีการระบุชื่อ นายแพทย์บุญ อย่างชัดเจน

ส่วนเหตุผลของการหย่าร้าง และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ตนเองไม่ทราบ เพราะเรื่องครอบครัว ส่วนการหลบหนีของ หมอบุญ ไม่สามารถติดต่อได้ เพราะตนเองเป็นทนายให้ภรรยา และลูกสาวเท่านั้น

ทนายความกล่าวอีกว่า ทางนางจารุวรรณจะมีการเอาผิดทั้งหมอบุญและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการประกันตัวต้องอยู่ที่ทางพนักงานสอบสวนจะอนุญาตหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังสอบปากคำภรรยาและลูกสาวของหมอบุญตั้งแต่ช่วงบ่าย เวลาผ่านไปกว่า 5 ชั่วโมง พบว่าการสอบปากคำเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเงินกู้ เช็ค การโอนเงิน การโอนหุ้น การเช่าห้องพัก การเซ็นลงเอกสารต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงประเด็นอื่นๆ รวมมากกว่า 50 คำถาม ซึ่งตลอดการสอบปากคำพบว่าผู้ต้องหาได้ให้ทนายความตรวจและอ่านเอกสารหลักฐานต่างๆ อย่างละเอียด จึงทำให้การสอบสวนค่อนข้างนานกว่าปกติ อีกทั้งผู้ต้องหายังขอรับประทานยารักษาโรคประจำตัวในระหว่างการสอบปากคำเกือบทุกชั่วโมง

จนกระทั่งเวลา 19.40 น. ผ่านไปกว่า 6 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนจึงได้พักการสอบปากคำ และให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนโดยรถตู้ของ สน.ห้วยขวางนำไปฝากควบคุมตัวไว้ที่ สน.พญาไท เนื่องจากต้องควบคุมตัวกลับมาสอบปากคำอีกครั้งในช่วงสายวันนี้ (24 พ.ย.) เนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องสอบปากคำเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น ก่อนพิจารณานำตัวไปส่งฝากขังในช่วงเช้าวันจันทร์

โดยระหว่างที่ควบคุมตัวลงมาผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่ามีอาการเครียดหรือไม่ แต่ภรรยาของหมอบุญไม่ตอบคำถาม แต่ยกมือปฏิเสธที่จะพูด และอยู่ในอาการที่อิดโรยเดินช้าซึ่งมีลูกสาว ที่เป็นผู้ต้องหาเช่นเดียวกัน เดินประคองมาตลอดทางก่อนจะขึ้นรถตู้ของตำรวจขับออกไปจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลทันที

ด้านพลตำรวจตรี อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยว่า การติดตามจับกุมตัวนายแพทย์บุญ ที่ยังหลบหนีอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ได้ประสานไปยังกองการต่างประเทศให้ทำหนังสือไปยังอินเตอร์โพล หรือตำรวจสากล เพื่อออกหมายแดงให้ช่วยติดตามจับกุมตัวนายแพทย์บุญมาดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทางธุรการ และประสานงานไปยังตำรวจสากล ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าประเทศจีนมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ พบว่ามีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงมีความหมิ่นเหม่ว่าจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งหากตำรวจสากลออกหมายแดงเรียบร้อยแล้ว และสืบหาตัวผู้ต้องหาได้ ก็จะทำหนังสือชี้แจงรวมถึงนำพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีรวมถึงความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทางการจีนพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง


รับชมทางยูทูบที่ :  https://youtu.be/O-BqCPLpcZo


คุณอาจสนใจ

Related News