สังคม
หวาดกลัวเกินจริง! ‘อ.เจษฎา’ ท้วงผลสำรวจสารตกค้าง ‘องุ่นไชน์มัสแคท’ อย.ยันกินได้ แต่ล้างให้สะอาด
โดย thichaphat_d
26 ต.ค. 2567
290 views
‘อาจารย์เจษ’ ท้วงผลสำรวจสารเคมีตกค้างใน ‘องุ่นไชน์มัสแคท’ ทำหวาดกลัวจนเกินจริง ชี้แทบทุกตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสารเคมีตกค้าง หรือไม่ก็มีค่าเกินแค่เล็กน้อย
วานนี้ (25 ต.ค.) อาจารย์เจษฎ์ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไลฟ์เฟซบุ๊กกรณี ผลการตรวจหาสารปนเปื้อนใน ‘องุ่นไชน์มัสแคท’ จำนวน 24 ตัวอย่าง โดยพบว่า 23 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนดนั้น
อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า องุ่นเป็นผลไม้ที่เป็นเรื่องปกติมากที่มีการใช้สารเคมี เพื่อป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช และเชื้อราต่างๆ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้กลัว หรือแอนตี้ สามารถใช้ได้แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง โดยตามหลักสารเคมีสามารถตกค้างได้ แต่ต้องไม่มากเกินจนเกิดอันตราย ส่วนขององุ่นไชน์มัสแคท พอมานั่งดูรายละเอียดพบว่าสารเคมี 30 กว่าตัวที่ตรวจพบส่วนใหญ่ผ่านเกินมาตรฐาน และแนะนำให้ล้างด้วยน้ำหลายครั้ง หรือใช้เบกกิ้งโซดาช่วยเพื่อความปลอดภัย
จากนั้นอาจารย์เจษฎ์ ยังโพสต์ข้อความผ่านเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ระบุข้อความว่า “สงสารพ่อค้าแม่ค้าที่ขาย "องุ่นไชน์มัสแคท" ตอนนี้ครับ ที่คงเจ๊งกันระนาว เนื่องจากสังคมไทยถูกทำให้หวาดกลัวจนเกินจริง อ่านที่ผมเขียนอธิบายผลการสำรวจสารเคมีตกค้างในองุ่น "เจาะผลสำรวจ องุ่นไชน์มัสแคท : แทบทุกตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสารเคมีตกค้าง หรือไม่ก็ มีค่าเกินเล็กน้อย ครับ"
คงได้เห็นข่าวนี้แล้ว ที่มีการสุ่มตรวจ "องุ่นไซมัสคัส หรือ องุ่นไชน์มัสแคท" ในกรุงเทพและปริมณฑล แล้วข่าวระบุว่า พบสารเคมีตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ ทำให้หลายๆ คนตกใจกับข่าวนี้มาก และทำเอาไม่กล้ากินองุ่นไชน์มัสแคทนี้ พร้อมทั้งส่งหลังไมค์มาถามความเห็นผมด้วย
ซึ่งพอเข้าไปดูในรายละเอียดของผลการสำรวจแล้ว โดยส่วนตัว ผมยังไม่คิดว่าน่าวิตกอะไรมากนะครับ ! เพราะเรื่องสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ที่เพาะปลูกทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) มันเป็นเรื่องที่มีได้อยู่แล้ว แต่อย่าให้เกิดเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
และเมื่อไปเจาะดูในรายละเอียดของผลการศึกษาก็พบว่าจริงๆ แล้ว แทบทุกตัวอย่างที่ตรวจนั้น มีค่าปริมาณของสารเคมีตกค้าง ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรฐาน CODEX
หรือถ้ามีค่าเกิน อันเนื่องจากไม่มีค่า CODEX เลยต้องไปใช้ตามเกณฑ์ค่าต่ำสุดของ อย. ก็พบว่า เกินไปไม่มากนัก (แต่อิงตามกฏหมาย ก็ต้องเรียกว่า ไม่ผ่านเกณฑ์) ..
จริงๆ มีแค่ 1 เจ้าเท่านั้น ที่มีค่าเกินไปมาก กับ 1 สารเคมี (ดูในภาพประกอบ ที่กากบาทสีแดง เอาไว้ให้)
ขออธิบายคร่าวๆ อ้างอิงจากเนื้อหาข่าว (ลิงค์อยู่ด้านล่าง) ตามนี้นะครับ
1. เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) ได้แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรใน องุ่นไชน์มัสแคท ที่สุ่มตรวจมา 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่าย ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล (ได้แก่ บางสาขาของ ห้างบิ๊กซี ท็อปส์ โลตัส แม็คโคร วิลล่ามาร์เก็ท แม็กซ์แวลู GOURMET MARKET GO WHOLESALE รวมถึงร้านผลไม้ ในย่านต่างๆ และร้านขายผลไม้ออนไลน์) มีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 ถึง 699 บาท
2. ส่งตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท ไปยังห้องปฏิบัติการ BVAQ เพื่อวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 419 รายการ และพบสารเคมีตกค้างอยู่ในองุ่นทุกตัวอย่าง ในปริมาณต่างๆ กันไป (ดู เอกสารผลวิเคราะห์สารพิษตกค้างในตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตุลาคม 2567 https://thaipan.org/wp-content/uploads/2024/10/live_friut_present.pdf )
3. องุ่นเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอยู่แล้ว ทั้งเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และป้องกันกำจัดโรคพืชต่างๆ ที่จะมาทำลายผลผลิต แต่จะต้องจัดการในการใช้และเก็บเกี่ยว ให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ไม่มีสารเคมีตกค้างมากเกินมาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
4. โดยองค์กร FAO ของสหประชาติ ได้เผยแพร่ค่า "ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL)" ที่กำหนดโดย Codex Alimentarius Commission สำหรับการตกค้างยากำจัดศัตรูพืช (pesticide) ขององุ่น ไว้นับ 100 สาร ในปริมาณที่แตกต่างกันขึ้นกับชนิดของสารเคมีตัวนั้น (ดู https://www.fao.org/fao-who-codexalimentarius/codex-texts/dbs/pestres/commodities-detail/en/?c_id=113)
5. ซึ่งเมื่อเจาะดูข้อมูลการสำรวจและวิเคราะห์ปริมาณสารตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท ดังกล่าวข้างต้น พบว่าสารเคมีตกค้างที่ตรวจพบในองุ่น และเป็นสารชนิดที่มีการระบุค่า MRL ตาม CODEX นั้น "ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน" ทุกตัวอย่างครับ แถมส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มากด้วย (ดูเส้นสีเขียวที่ขีดไว้ให้ภาพประกอบ)
6. ประเด็นปัญหาคือ ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ มีการตรวจสารเคมีอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในลิสต์ของ CODEX และทำให้ไม่ได้มีค่า MRL มาตรฐานไว้ให้เทียบ ... ผู้สำรวจจึงไปเอาเกณฑ์ "ค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit)" ที่มีค่าเพียง 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มาใช้เทียบไปก่อน ... ซึ่งค่านี้ มีค่าต่ำมากๆ เมื่อเทียบการค่า MRL ส่วนใหญ่ที่กำหนดอยู่ใน CODEX
7. ดังนั้น ถ้าสารเคมีใดที่ไม่มีการกำหนดค่า MRL ตาม CODEX ผู้สำรวจก็จะเอาค่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มาเป็นเกณฑ์แทน ... แต่ถึงกระนั้น องุ่นตัวอย่างส่วนใหญ่ ก็ยังผ่านค่านี้อยู่ดี หรือถ้าเกิน ก็เกินไปไม่มาก (ดูที่กากบาทสีส้มไว้ให้ในภาพประกอบ)
8. จากทั้งหมด มีองุ่นเพียงแค่ตัวอย่างเดียว จากร้านเดียว ที่มีสารเคมีตัวหนึ่ง มีค่าตรวจพบสูงกว่าค่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มากๆๆ (ดูที่กากบาทสีแดง ในภาพประกอบ)
9. ส่วนที่มีการเน้นเรื่องพบสาร คลอไพรีฟอส Chlorpyrifos ใน 1 ตัวอย่าง (จาก 24 ตัวอย่าง) และเน้นว่า ต้องไม่พบเลยนั้น ก็เนื่องจากประเทศไทยเลิกใช้สารนี้ไป หลังจากที่มีการประท้วงรณรงค์แบนสารเคมีทางการเกษตร 3 สาร ไปเมื่อหลายปีก่อน ... แต่สารตัวนี้ ใน CODEX กำหนดให้มีตกค้างได้มากถึง 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งมีค่ามากกว่าที่ตรวจพบ (คือ น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) มากๆ
10. เช่นเดียวกันกับที่มีการเน้นเรื่องพบสารอีกตัว คือ เอนดริน อัลดีไฮด์ Endrin aldehyde ในอีก 1 ตัวอย่าง (คนละตัวอย่างกับในข้อ 9.) และเน้นว่า ต้องไม่พบเลยนั้น ... สารตัวนี้ ไม่มีระบุค่าใน CODEX แต่ค่าที่ตรวจพบนั้น ก็น้อยมากเช่นเดียวกันกับ สารคลอไพรีฟอส คือ น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้อยกว่า ค่าดีฟอลต์ลิมิต ที่ผู้สำรวจวางไว้)
11. ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ผลการตรวจตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ CODEX / หรือถ้าไม่มีการค่า CODEX แล้วไปใช้ค่า ดีฟอลต์ลิมิต แทน ก็ยังพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่มีค่าไม่เกิน หรือถ้าเกิน ก็เกินไปไม่มาก (แต่ตามกฏหมาย ก็ยังถือว่า "ตกมาตรฐาน" นะ ) / มีเพียงแค่ตัวอย่างเดียว ที่เกินค่า ดีฟอลต์ลิมิต นี้ไปมาก
ความเห็นส่งท้าย : องุ่น ที่เพาะปลูกโดยวิธีปรกติ (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) นั้นเป็นผลไม้ที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช และทำให้มีสิทธิจะมีสารเคมีตกค้างได้ จึงควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค โดยการล้างน้ำไหลผ่านมากๆ หรือนำไปแช่ในสารละลายเบกกิ้งโซดา ก่อนจะล้างออกอีกครั้งเพื่อกำจัดสารเคมีตกค้างออกให้มากที่สุด หรือถ้ายังกังวลอยู่ ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคไปครับ
--------------------------------------
อย. แจงสารตกค้างที่ตรวจพบในองุ่นไชน์มัสแคทมีเพียงตัวอย่างเดียว ที่พบคลอร์ไพริฟอส ซึ่งกฎหมายห้ามใช้ ส่วนสารตกค้างอื่นๆ มีทั้งกลุ่มที่กฏหมายระบุค่าความปลอดภัย ซึ่งผลการตรวจไม่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนด และกลุ่มสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับสากล ไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวังเนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย ขอผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก ทั้งนี้ อย. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และขอให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการล้างผักผลไม้อย่างถูกวิธี เพื่อลดสารตกค้าง
จากการที่มีการแถลงผลการตรวจองุ่นไชน์มัสแคท ซึ่งทำให้ประชาชนบางกลุ่มเข้าใจผิดและเกิดความตื่นตระหนกนั้น นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข่าวที่ระบุพบมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 50 รายการใน 24 ตัวอย่าง โดยข้อเท็จจริงแล้วผลการตรวจพบว่ามีสารกำจัดศัตรูพืช 36 รายการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีความปลอดภัย
ส่วนสารกำจัดศัตรูพืช อีก 14 รายการ เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับสากล ไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 0.01 ppm ซึ่งผลการตรวจพบเกินเพียงเล็กน้อย จึงสามารถรับประทานองุ่นไชน์มัสแคทได้ แต่ควรล้างให้ถูกวิธีเพื่อลดสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรณีล้างด้วยน้ำเปล่า ให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหล ถูลูกองุ่นไปมาเบาๆ ล้างผ่านน้ำสะอาดไหลซ้ำอีกไม่น้อยกว่า 30 วินาที กรณีล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู/เบคกิ้งโซดา) ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา ต่อน้ำสะอาด 4 ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด กรณีล้างด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ทั้งนี้ อย. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังผักผลไม้นำเข้าเชิงรุก โดยหากพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด จะถูกกักไม่สามารถนำเข้าได้และถูกดำเนินคดี และในปีงบประมาณ 2568 นี้ อย. ยังมีแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการตรวจโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ทั่วประเทศ และเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จำนวน 1,530 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/iDyV2G1jFNs
แท็กที่เกี่ยวข้อง เจษฎาเด่นดวงบริพันธ์ ,อย. ,องุ่นไชน์มัสแคท ,สารเคมีตกค้าง ,องุ่น