สังคม
'ปลาหมอคางดำ' บุก กทม. ระบาดแล้ว 3 เขต - สมุทรปราการโอด ล้นคลอง ทอดแหได้แต่คางดำ
โดย passamon_a
14 ก.ค. 2567
2.6K views
เมื่อวันที่ 13 ก.ค.67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางขุนเทียน ผู้บริหารสำนักงานเขตบางขุนเทียน ผู้แทนกรมประมง และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เขตบางขุนเทียน
ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้มาลงพื้นที่ดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำซึ่งเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยแพร่มาจากจังหวัดสมุทรสงคราม สำหรับการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เข้ามาถึง ณ ขณะนี้ คือ เขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ และบางบอน ซึ่งมีเกษตรกรประมาณ 900 ราย ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ มีวังกุ้ง วังปลา การแพร่ระบาดเข้ามาของปลาหมอคางดำที่แพร่พันธุ์ได้เร็วมาก ทนทานต่อสภาพแวดล้อม กินปลาเล็ก ไข่ปลา เป็นอาหาร ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมาก และจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่เพียงเฉพาะเกษตรกร และ กทม.ต้องเร่งประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้
"กรุงเทพมหานครทำงานร่วมกับกรมประมงอย่างใกล้ชิด และต้องหาวิธีเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพราะกิจการเสียหายมาก รายได้ลดลงเป็น 10 เท่า ในการแก้ปัญหา กทม. ต้องฟังกรมประมงเป็นหลักเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะแพร่ระบาดใน 3 เขตของ กทม. แต่แนวโน้มคงขยายไปไกลกว่านี้ ต้องร่วมมือหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวกรุงเทพมหานครอย่างดีที่สุด" นายชัชชาติ กล่าว
ด้าน นายศรายุทธ์ เมธินาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านประมง กรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้สรุปเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา 6 มาตรการ คือ
มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ
มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง
มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์
มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง
มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด
มาตรการที่ 6 การติดตาม ประเมินผล ทั้งนี้รวมถึงนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เช่น การผลิตปลาหมันเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติเพื่อให้เป็นหมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้
ขณะที่ทางด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยนายณัฐชาได้แนะนำทางผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เร่งพิจารณางบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานปลาหมอคางดำเข้าในแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรเบื้องต้นก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้พบเกษตรกรหลายรายต้องจำใจเปลี่ยนอาชีพ เหตุลงทุนหลายครั้งก็ขาดทุนเนื่องจากถูกรุกรานอย่างหนัก
ส่วนที่ จ.สมุทรปราการ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ พบปลาหมอคางดำจำนวนมากอยู่ในคลองธรรมชาติ เริ่มสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม กัดกินสัตว์น้ำพื้นถิ่น เช่น ปลากระบอก ปลานิล ที่เคยมีชุกชุม เวลานี้หายไปเกือบหมดคลอง
หลังรับแจ้ง ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังคลองตาเจียน หมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ พบ นายสิทธิกร อายุ 21 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ ทดลองทอดแหจับปลาในคลองให้ผู้สื่อข่าวดู ผลปรากฏว่าที่ได้ขึ้นมาทั้งหมดคือ ปลาหมอคางดำ ซึ่งตัวเมียในท้องมีไข่อยู่เต็ม ส่วนตัวผู้กำลังอมไข่ ฟักให้เป็นตัว เพื่อขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณแทนที่สัตว์น้ำพื้นถิ่นที่อยู่ในคลอง
นางพิศมร อายุ 75 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า เห็นปลาหมอคางดำ มาประมาณ 1 เดือน ที่ผ่านมาเคยทอดแหจับปลาในคลองข้างบ้าน มักได้ปลานิล ปลากระบอก ขึ้นมาทำอาการกิน แต่ตอนนี้ ทุกครั้งที่ทอดแห จะได้แต่ปลาหมอคางดำทั้งหมด ซึ่งเป็นปลาที่กินได้ แต่เนื้อแข็งกระด้าง ไม่นิ่มอร่อยเหมือนปลาพื้นถิ่น
นายธนพจน์ ทรงกรานต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ตอนนี้กังวลมาก เพราะปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่แพร่พันธุ์เร็วมาก และกินทุกอย่าง ทั้งสัตว์น้ำขนาดเล็กจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต รวมถึงพืชน้ำต่าง ๆ เป็นปลานักล่าที่เหมือนมีสัตว์ 3 ชนิด รวมอยู่ในตัวเดียวกัน คือ ปลาปิรันยา ปลาซักเกอร์ และหอยเชอรี่ ขณะนี้เพิ่งพบเจอในคลอง คาดว่ายังอยู่ในพื้นที่จำกัด อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้ามาจัดการนำปลาหมอคางดำ ออกจากแหล่งน้ำให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะแพร่ขยายพันธุ์ ออกไปสู่ทะเล แล้วสร้างปัญหาในวงกว้าง
น.ส.ธนภร เจียรสุข นายกสมาคมการประมงคลองด่าน กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่แพร่พันธุ์เร็วมากใช้เวลาเพียง 22 วัน ในการวางไข่-ฟักเป็นตัว และไข่ยังรอดชีวิตถึงร้อยละ 99 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดพัก ส่วนเรื่องการกิน ปลาหมดคางดำมีลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า สามารถกินอาหารได้ทุก ๆ 1 ชั่วโมง หรือ กินได้วันละ 24 มื้อ เมื่อคาดการณ์แล้วในแต่ละวัน ปลาหมอคางดำ อาจขยายพันธุ์ได้วันละ 1 ล้านตัว ถ้าหากปล่อยไว้ 3 เดือน เขาจะมีปริมาณมากเป็นทวีคูณแล้วจะแก้ไขไม่ทัน
ปัญหาที่ ต.คลองด่าน เพิ่งเริ่มขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้ยังคงนิ่งเฉยอยู่ อย่าปล่อยให้เขาขยายพันธุ์แล้วมาทำลายระบบนิเวศพังเสียหายหมด โดยเฉพาะถ้าหากเขาออกสู่ทะเลได้ จะทำให้เป็นปัญหาใหญ่เกินการควบคุม
จากนั้นผู้สื่อข่าว ได้เดินทางไปดูอีกจุดหนึ่งอยู่ในคลองปก หลังตลาดชานนท์ ห่างจากจุดแรกประมาณ 2 กิโลเมตร พบเห็นปลาหมอคางดำอยู่ในคลองเป็นฝูงใหญ่สีดำทมึน
จากการสอบถาม นายสมควร เจ้าของบ่อเลี้ยงปลา-กุ้ง กล่าวว่า ในบ่อของตนไม่เหลือปลาหรือกุ้ง เนื่องจากโดนปลาหมอคางดำ ลุกล้ำเข้าไปกินหมดแล้ว ตอนนี้เปลี่ยนมาเลี้ยงหอยแทน ส่วนในคลองหน้าบ้าน มีแต่ปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมาก ถ้าวางอวลดักน่าจะจับขึ้นมาได้เป็นร้อยกิโลกรัม จากนั้น ทดลองทอดแหให้ดู ได้ปลาหมอคางดำทั้งหมด ไม่มีปลากระบอก หรือ ปลานิล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นเหมือนแต่ก่อน
แท็กที่เกี่ยวข้อง ปลาหมอคางดำ ,ชัชชาติสิทธิพันธุ์