สังคม

'สมศักดิ์' จ่อคืน 'กัญชา' กลับเป็นยาเสพติด ชี้ปลดล็อก 2 ปี ใช้เงินรักษาผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น

โดย thichaphat_d

2 มิ.ย. 2567

128 views

เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทน รับฟังความคิดเห็น จากภาคประชาชน เยาวชนเครือข่ายนักวิชาการ และ ตัวแทนคณะแพทย์ ราชวิทยาลัย ที่นำข้อมูลผลการศึกษาผลกระทบของการใช้กัญชา มาเสนอเพื่อ รวมพิจารณาการนำกัญชา กลับไปเป็นยาเสพติด

โดย ข้อคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายในวันนี้สอดคล้องกันที่อยากขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เนื่องจากพบว่ามีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพชัดเจน โดยข้อมูล ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งพบว่าการใช้กัญชาก่อให้เกิดการเสพติดและส่งผลถึงปัญหาจิตเวชโดยปัจจุบันโรงพยาบาลจิตเวชมีผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น และในระยะยาวหากมีการใช้กัญชาต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อระดับไอคิวลดลงก่อเกิดโรคจิตเรื้อรังไม่สามารถรักษาได้ โดยที่ที่ผ่านมาคิดว่าปัญหาหลักคือการอนุญาตใช้ช่อดอกที่ไม่มีการควบคุมชัดเจน จึงขอเสนอให้มีการนำทุกส่วนของกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเพื่อยับยั้งการค้าให้ลดลงลดการเข้าถึงกัญชาของประชาชน

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กุมารแพทย์ราชวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องมีแพทย์ควบคุมการใช้และมีข้อบ่งชี้ชัดเจนเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งการใช้ทั่วไปหากไม่ควบคุมก็จะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพกับประชาชน นอกจากนั้นที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบที่เพียงพอกับประชาชนทำให้ไม่มีความเกรงกลัวในการใช้กัญชารวมไปถึงการนำการใช้ส่วนประกอบของกัญชาในการทำขนมและเครื่องดื่ม ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องปริมาณทำให้เกิดเหตุที่มีผู้ได้รับผลกระทบหลังการบริโภค เพราะไม่สามารถกำหนดปริมาณสาร THC ที่มีอยู่ในส่วนประกอบของกัญชาได้ ดังนั้นจึงมีความเห็นสอดคล้องว่าควรนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเช่นเดิม

ขณะที่ข้อมูลด้านการใช้งบประมาณเพื่อการรักษาผู้ป่วยซึ่งได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กัญชา โดย ผศ.(พิเศษ) นพ.ปราการ ถมยังกูร สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้นำข้อมูลจากแผนกจิตเวชโรงพยาบาลจุฬาฯ มานำเสนอพบว่าในช่วงปี 2565 - 2566 มีการใช้งบประมาณต้นทุนการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาเพิ่มสูงถึง 1.5 -2 หมื่นล้านบาท จากปกติที่เคยมีการรักษาผู้ป่วยและใช้งบประมาณทางการรักษาเพียง 3-4 พันล้าน ซึ่งจากการปลดล็อคกัญชาทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายพชร ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ แห่งประเทศไทย ในนามภาคีเครือข่ายเยาวชนซึ่งได้นำเสนอข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจรอบสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร พบในระยะ 500 เมตรจากสถานศึกษามีร้านจำหน่ายกัญชาจำนวนมาก ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเด็กเด็กและเยาวชนและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่พบว่ากลุ่มเยาวชนที่กระทำความผิด และถูกคุมประพฤติในสถานพินิจพบความผิดที่กระทำถึงร้อยละ 45 มาจากกัญชา ซึ่งกลุ่มเยาวชนเข้าถึงการหาซื้อได้ง่ายจากสื่อออนไลน์ ทางกลุ่มจึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาโทษของกัญชาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนเพื่อแก้ไขให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเช่นเดิม

อ.เกรียงไกร พึ่งเชื้อ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชาพบว่า มีจำหน่ายกัญชากว่า 7,700 จุด ทำให้นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงที่จะไปใช้ยาเสพติดชนิดอื่นต่อ เพราะจากการสำรวจในภาคตะวันตก พบว่า ผู้ที่ใช้เฮโรอีน ร้อยละ 40 เริ่มมาจากการใช้กัญชามาก่อน จึงควรให้ความสำคัญ เพราะจะมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากขึ้น จนปัจุบันมี 1 ตำบล 1 ผู้ป่วยจิตเวช

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ยังได้ร่วมสะท้อนว่า ต้องมีการให้ข้อมูลของกัญชาที่แท้จริง รวมถึงต้องระวัง กัญชาในขนมด้วย เพราะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เนื่องจากที่ผ่านมา มีเด็กกินบราวนี่ 2 ชิ้น ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล จึงเสนอให้จัดเวทีให้ข้อมูล

ซึ่งหลังรับฟังความคิดเห็นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในวันนี้ที่ได้นำข้อมูลผลกระทบจากกัญชา ทั้งปัญหาด้านสุขภาพค่าใช้จ่ายงบประมาณและกัญชาส่งผลกระทบกับกลุ่มเยาวชน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะนำข้อมูลในการตัดสินใจการปรับแก้ประกาศของกระทรวงและจะนำไปเป็นข้อมูลเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีในการประกอบการพิจารณาเรื่องกัญชา

สำหรับตน ก็มีความเห็น สอดคล้องกับทุกเครือข่ายที่นำข้อมูลมาเสนอในวันนี้แต่การปรับแก้เรื่องกัญชานั้นต้องมีการพิจารณาหลายภาคส่ว นยังต้องหารือรัฐบาลกลุ่มพรรคการเมืองในการพิจารณาอีก และยังต้องขอพลังจากทุกคน ทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งตนเพียงคนเดียวอาจทำไม่สำเร็จ

“ผมได้รับฟังข้อมูลเรื่องกัญชา ต้องยอมรับว่า น่ากลัวมากสำหรับเด็กและเยาวชน เพราะจากข้อมูลของอเมริกาพบว่า ไอคิวของเด็กที่ใช้กัญชา ลดลงไป 8-9 หน่วย รวมถึงหลังปลดล็อกกัญชา ก็ทำให้ต้นทุนการรักษาด้วยกัญชาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาประชาชน อย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยรัฐบาลพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องมารักษาโรคเกี่ยวกับกัญชา ที่สูงมากขึ้น จากเดิมต้นทุน 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 20,000 ล้านบาทต่อปี จึงถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งสิ่งที่แนะนำมาทั้งหมด จะทำให้รัฐบาล ตัดสินใจง่ายขึ้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมถึงกรณีการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วยใช่หรือไม่ว่า ตนได้หารือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำงานอย่างหนัก ไม่เคยบ่นเรื่องงบประมาณ ดังนั้น ถ้าวันนี้ไม่ยอมให้กัญชาเป็นยาเสพติด ก็ต้องเพิ่มเงินค่ารักษามาให้เราด้วย พร้อมยืนยันว่า กลุ่มไม่เห็นด้วยกับการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เช่นกัน

เมื่อถามว่า ขั้นตอนจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองด้วย โดยที่ได้สนับสนุนในอดีต เพราะอาจมีข้อมูลที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องให้เวลาการตกผลึกด้วย โดยคงไม่ช้า เพราะยาบ้า ในสัปดาห์หน้า ก็จะรับฟังความคิดเห็นจบ ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้  จากนั้น ก็จะดำเนินการเรื่องกัญชาต่อ

เมื่อถามถึงแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการนำกัญชาเป็นยาเสพติด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องการเยียวยา ในที่ประชุมก็ได้พูดถึงด้วย แต่จะสามารถมองได้แค่ไหน ก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไป เพราะเราไม่มีเงินมากมาย ที่จะไปใช้ที่ไม่ใช่ทางตรง ซึ่งตนทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขยังเป็นหนี้ บุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงโควิดอยู่ ดังนั้น จะให้เป็นหนี้อีก ก็ตัดสินใจไม่ได้ แต่ตนขอยืนยันว่า จะให้เวลาการปรับตัว พร้อมขอย้ำว่า ไม่ห้ามทางการแพทย์

ส่วนเรื่องของยาบ้า 5 เม็ดนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนไปตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ในเบื้องต้นแนวโน้มก็เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขวางเป้า โดยในช่วงสัปดาห์หน้าจะมีการสรุปข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อีกครั้ง


https://youtu.be/qz4-8xeFD7c

คุณอาจสนใจ

Related News