สังคม

อุตุฯ เผยซัมเมอร์ไทย เลยจุดพีคมาแล้ว แจงเหตุ บางนา-สัตหีบ-ภูเก็ต ดัชนีความร้อนพุ่ง

โดย thichaphat_d

23 เม.ย. 2566

87 views

อุตุฯ เผยฤดูร้อนปี 66 ไทยเลยจุดพีคมาแล้ว คาดเข้าสู่ฤดูฝนกลางพฤษภาคมนี้ แต่ยังไม่ประกาศสิ้นสุดฤดูร้อน พร้อมแจงเหตุผล ทำไมบางนา-สัตหีบ-ภูเก็ต ถึงเป็นเป็นจุดดัชนีความร้อนสูงสุด

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานคาดหมายค่าดัชนีความพร้อมสูงสุดรายวัน โดยในช่วงสุดสัปดาห์นี้ว่าหลายพื้นที่มีค่าอยู่ระดับ อันตรายมาก เช่น กทม. ในส่วนของเขต บางนา อยู่ที่ 54 องศาเซลเซียส / สัตหีบ ชลบุรี มากกว่า 54 องศา ขณะที่ในวันที่ 23 เม.ย. ที่ จ.ภูเก็ต จะพบว่า มากกว่า 54 องศา


ทีมข่าวได้พูดคุยกับว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ ในฐานะโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา

ซึ่งเริ่มแรกได้อธิบายให้ฟังก่อนว่า ดัชนีความร้อนนั้น คือ ความร้อนที่ตัวคนๆ นั้นรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิของอากาศปกติ ซึ่งดัชนีความร้อนขึ้นอยู่กับ 2 ตัวการใหญ่ๆคือ อากาศวันนั้นร้อนหรือไม่ และอุณหภูมิเท่าไหร่ แล้วความชื้น ณ ขณะนั้นเท่าไหร่ หมายความว่าคำนวณจากอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ ถ้าความชื้นสูง ใกล้แหล่งน้ำ ชายทะเล ริมทะเล หรือเขื่อน ป่าไม้ชุ่มชื้น ดัชนีความร้อนก็จะสูง คนจะรู้สึกร้อน อึดอัด ไม่ปลอดโปร่ง สังเกตจากร่างกายเหงื่อไม่ออก ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงเกินไป

เมื่อถามว่าในพื้นที่ บางนา / สัตหีบ / ภูเก็ต ทำไมถึงมีดัชนีความร้อนมากกว่าที่อื่น โฆษกกรมอุตุฯ กล่าวว่า เพราะอยู่ใกล้ทะเลแล้วความชื้นสูงกว่า ประกอบกับอากาศร้อนด้วย และเมื่อความชื้นสูง อากาศไม่ต้องร้อนมากเลย แค่ประมาณ 34-35 องศา ก็ถือว่าดัชนีความร้อน หรือความรู้สึกที่รับรู้ได้ถึงความร้อนของตัวเองมันร้อนจริงๆ ร้อนมากกว่าอุณหภูมิทั่วไป ส่วน จ.ภูเก็ต ที่ดัชนีความร้อนสูง ก็เพราะเป็นชายฝั่ง ชายทะเล ที่สูงอยู่แล้วด้วยอีกปัจจัย

ส่วนพื้นที่บางนา ที่ดัชนีความร้อนสูงเป็นประจำนั้น โฆษกกรมอุตุฯ กล่าวว่า พื้นที่บางนา อยู่ใกล้กับสมุทรปราการ ห่างจากทะเลเพียง 20 กว่ากิโลเมตร ไม่ไกลน้ำ ทำให้ลมพัดความชื้นเข้ามา ทำให้ดัชนีความร้อนสูงขึ้นได้ เมื่ออากาศตรงนั้นร้อนแล้วความชื้นดีด

พร้อมกันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยามีที่ตรวจวัดอยู่ 3 แห่ง จึงใช้อ้างอิงเป็นหลักเพราะเป็นที่ของกรมฯ และยังมีเครื่องมืออยู่อีก 2 จุด คือที่ บริเวณสวนเบญจสิริ และดอนเมือง จึงทำให้พบว่าดัชนีความร้อนอยู่ที่ 50 กว่าองศา คือ จุดที่ประชาชนหรือแต่ละคนจะรู้สึกได้ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์โดยใช้แบบจำลอง เครื่องมือทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นตามนั้น หากมีลมพัดแรง ก็จะช่วยลดความร้อนลงได้ด้วย

ขณะเดียวกันช่วงกลางวันจะพบว่าอุณหภูมิสูง ความชื้อไม่จำเป็นต้องเยอะ ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศา แล้วความชื้นอยู่ที่ 40-50% ดัชนีความร้อนก็จะสูงแล้ว จะทำให้รับรู้ได้เลยว่า “ร้อนผ่าวๆๆ ขึ้นมาทันที” ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่าง อุณหภูมิกับดัชนีความร้อน อาจแตกต่างกันตามสถานที่ อาจจะต่างกัน 5 องศา หรือมากกว่านั้น ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศา ดัชนีความร้อนจะอยู่ในระดับ อันตราย ซึ่งสภาพแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะอันตรายต่อชีวิตได้เช่น หน้ามืด ตาลาย หรือเกิดเกิดภาวะฮีทสโตรกได้

โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา  ยังกล่าวว่า ตามสถิติจากนี้ไปประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ฤดูฝน แต่ยังไม่มีกำหนดการประกาศวันสิ้นสุดฤดูร้อน อยู่ในการคาดการณ์ว่าอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ว่าฤดูร้อนของประเทศไทย ได้เลยจุดพีคมาแล้ว ซึ่งวัดจากอุณหภูมิสูงสุดที่ จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส



รับชมทางยูทูบที่ :  https://youtu.be/Dwkus8VrlDQ

คุณอาจสนใจ

Related News