สังคม

สุดทน! เพื่อนบ้านปลูกต้นหูกระจง รากชอนไชทำรั้วบ้านร้าว ท่ออุดตัน พื้นระเบิด

โดย passamon_a

19 มี.ค. 2566

9.1K views

เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (18 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นายปภณ อายุ 32 ปี ว่าตนได้มาซื้อบ้านเดี่ยวสองชั้นในสภาพมือสอง ในราคา 7 ล้านบาท มีต้นหูกระจงสูงใหญ่ที่ปลูกข้างรั้วบ้าน รากต้นหูกระจงได้ชอนไชเข้ามาในพื้นที่บ้านของตน จนได้รับความเสียหาย รั้วบ้านร้าว ท่อระบายน้ำอุดตัน ใบไม้แห้งหล่นเข้ามาในบ้าน ซึ่งทุกวันนี้กำลังอยู่ในช่วงตกแต่งบ้านใหม่ อยากให้ทางนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ไขให้ตน ด้วยเพราะได้รับความเดือดร้อน


จากการตรวจสอบพบว่า เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น อยู่ในช่วงที่กำลังตกแต่งบ้านใหม่ พื้นบ้านด้านหลังได้รับความเสียหาย พื้นระเบิดแตกร้าวหลายแห่ง เนื่องจากรากต้นหูกระจงที่ปลูกเอาไว้ข้างรั้วบ้าน ได้ชอนไชเข้ามาในพื้นบ้าน


นายปภณ เจ้าของบ้าน เล่าว่า ตนได้มาชื้อบ้านในสภาพมือสองในราคา 7 ล้านบาท เพื่อเป็นที่พักอาศัย และตนได้รับผลกระทบคือรากของต้นหูกระจงที่ปลูกเอาไว้ที่ข้างรั้วบ้านของตน ที่ผ่านมาตนและแม่ได้ทำหนังสือยื่นไปที่นิติบุคคลของหมู่บ้านว่าขอให้มาตัดต้นหูกระจง 2 ต้นดังกล่าว แต่ทางนิติบุคคลได้มาตัดให้ตนเพียง 1 ต้น และอีก 1 ต้นที่สูงใหญ่ยังไม่ได้ตัดออกเลย เวลาผ่านไป 4 เดือน ทางนิติยังไม่เข้ามาตัดให้ตนอีก ซึ่งทางแม่และตนเองก็ได้เข้าไปถามที่นิติบุคคลตลอด แต่ยังไม่มาตัดให้


ซึ่งทุกวันนี้ตนได้จ้างช่างมาเทพื้นรอบบ้าน ตกแต่งบ้านใหม่ ตนก็อยากให้ทางนิติบุคคลเข้ามาตัดต้นไม้ดังกล่าวออกไป เพราะถ้าไม่ตัดรากของต้นไม้ทำให้พื้นบ้านของตนแตกพังเสียหาย และท่อน้ำทิ้งอุดตันไปหมด เพราะรากของต้นไม้ได้ชอนไชเข้าไป ซึ่งตนก็อยากขอความกรุณากับทางนิติของหมู่บ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาจัดการให้ตนที เพราะเกรงว่าพอทำบ้านเสร็จเดี๋ยวบ้านก็พังอีกเพราะรากต้นไม้


ขณะที่ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ กล่าวว่า การปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะเพื่อความสวยงานหรือร่มเย็นสามารถทำได้ แต่ถ้าปลูกเพื่อที่ตนเองจะได้เข้ายึดครองที่ตรงนั้นไม่สามารถทำได้ หรือหากต้นไม้ของข้างบ้าน เช่น ราก กิ่ง เข้ามาในพื้นที่และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เราสามารถแจ้งให้เขาตัดได้ หรือถ้าเขาไม่ตัด เราตัดเองได้ ทางสาธารณประโยชน์มีไว้สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใด


กรณีมีผู้อื่นใดมาปลูกต้นไม้ในทางสาธารณประโยชน์ ผู้ปลูกต้นไม้มีเจตนาเข้ายึดถือครอบครองทางสาธารณประโยชน์นั้น ย่อมเป็นการรบกวนสิทธิของผู้อื่นที่จะใช้ทางสาธารณประโยชน์นั้นด้วย รวมถึงเจ้าของที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกับทางสาธารณประโยชน์นั้น ทำให้เสื่อมประโยชน์ในการใช้ทางสาธารณะ ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ แม้เจ้าของที่ดินข้างเคียงจะสามารถใช้ทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม เจ้าของที่ดินข้างเคียงสามารถที่ฟ้องคดีเพื่อให้รื้อถอนต้นไม้ออกจากทางสาธารณะได้



รับชมทางยูทูบที่ :  https://youtu.be/v55Tv8JN0-E

คุณอาจสนใจ