สังคม

กทม. แจงดรามาคลิปทะเลาะผู้ค้าสีลม ยันไม่ได้ทำร้ายผู้ค้า เตรียมดำเนินคดีผู้กล่าวหา

โดย passamon_a

22 ม.ค. 2566

247 views

กทม. แจงดราม่าคลิปทะเลาะกับผู้ค้าสีลม ยืนยันไม่มีเจ้าหน้าที่ กทม.คนไหนทำร้ายผู้ค้า และไม่ได้เป็นไปตามที่คลิปกล่าวหา ขณะที่ รองผู้ว่าฯกทม. เล่าเหตุการณ์ละเอียดยิบ ยอมรับยกแกลลอนน้ำเต้าหู้ขึ้นรถเทศกิจจริง เพราะผู้ค้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม หลังแจ้งแล้วว่าไม่สามารถขายบนทางเท้าได้ ยืนยันไม่ได้ทำร้ายผู้ค้า เตรียมดำเนินคดีผู้กล่าวหา พร้อมย้ำ กทม.ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน เหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นหากผู้ค้าปฏิบัติตามเงื่อนไข


จากกรณีมีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่ง เผยคลิปเจ้าของร้านขายโรตี บริเวณปากซอยทางเข้าศาลาแดง ทำโรตีไปร้องไห้ไป พร้อมกับตัดพ้อน้อยใจทำนองว่า ถูกเทศกิจไล่ที่ จนลูกค้าที่ผ่านไปมาต่างช่วยกันปลอบใจและกลายเป็นคลิปดังในติ๊กต็อก


และยังปรากฏคลิปของผู้ค้าย่านถนนสีลม มีลักษณะเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เทศกิจกรุงเทพมหานคร ทำให้กลุ่มกลุ่มผู้ค้าบางรายมีลักษณะล้มลงไปกับพื้น จนเกิดความชุลมุนและไม่พอใจของกลุ่มผู้ค้าเกิดขึ้น พร้อมทั้งมีเสียงภายในคลิปตะโกนอีกว่า เทศกิจทำร้ายประชาชน รองผู้ว่าฯ ทำร้ายประชาชน จนกลายเป็นประเด็นดราม่า ว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ จนผู้ค้าต้องออกมาร้องเรียนขอให้ กทม. และผู้ว่าฯชัชชาติ ช่วยแก้ปัญหานี้


วานนี้ (21 ม.ค.66) กรุงเทพมหานคร นำโดย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู  อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร และนางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก ร่วมกันแถลงข่าวถึงประเด็นที่เกิดขึ้น


โดย รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ บอกว่า ที่ผ่านมาปัญหาผู้ค้าทางเท้ามีปัญหามาตลอด กทม. มีผู้ค้าขายบนทางเท้า จำนวน 700 แห่ง ผู้ค้าประมาณ 2 หมื่นราย และที่ผ่านมา ก็มีการจัดระเบียบผู้ค้าทางเท้า ซึ่งมีกฎหมายรองรับ ดังนั้นการจะทำการค้าได้ต้องขออนุญาต ตั้งแต่ มิ.ย.65


และทาง กทม.ได้สำรวจพื้นที่ เพื่อให้ผู้ค้าบนทางเท้าเข้าไปขายในที่เหมาะสม ซึ่งสำรวจมาได้ 125 แห่ง รองรับให้ผู้ค้ากว่า 1 หมื่นราย โดยที่ผ่านมา กทม. มีการอนุโลมให้ผู้ค้าทางเท้า ค้าขายได้แต่ต้องมีเงื่อนไข ไม่รบกวนทางเท้าประชาชนด้วย เพราะเป็นพื้นที่ของประชาชน หากมีการค้าขายบนทางเท้าตลอดไปเป็นไปไม่ได้


ทั้งนี้ กทม.ยังได้ขอร้องผู้ค้าว่า คนที่ต้องการค้าขายจะต้องย้ายเข้าไปในจุดที่กทม.จัดให้ และต้องยอมรับว่าถนนบางเส้นมีคนใช้เป็นจำนวนมาก และจะไปกีดขวางการสัญจรของคนส่วนใหญ่ ทั้งนี้และเมื่อ กทม.มีการจัดหาพื้นที่ให้แล้ว แต่ก็ได้ใช้ระยะเวลาในการโยกย้ายไปในจุดที่ กทม.กำหนด


ขณะที่ ผู้อำนวยการเขตบางรัก ระบุว่า สำนักงานเขตบางรัก ได้รับร้องเรียนจากการตั้งแผงอาหารรุกล้ำทางเท้า ไม่สะอาด ประชาชนต้องออกมาเดินที่ถนน และทำจราจรติดขัด และมีผู้พิการก็ไม่ได้รับความสะดวก มีการตั้งวางแผงค้ากีดขวาง  เสี่ยงเกิดอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาเจรจาให้ย้ายจุดค้าขายตั้งแต่เดือนตุลาคม และมีการออกประกาศสำนักงานเขต ห้ามจำหน่าย และมีผลเมื่อเดือน พ.ย. และวันที่ 25 ธ.ค. ก็ลงพื้นที่แจ้งให้ผู้ค้าเคลื่อนย้ายแผงค้าออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 2 ม.ค.66 ซึ่งมีพื้นที่เอกชน ช่วยจัดสรรและลดราคาค่าเช่าให้มาลองตั้งแผงขาย


และยืนยันว่า สำนักงานเขตบางรัก และเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ และคอยดูแลทุกคน ใช้การปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนมาโดยตลอด โดยในในวันที่ 19 และวันที่ 20 ม.ค. ก็ได้ลงไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หลังจากแจ้งให้ผู้ค้าทราบ แต่ต้องไม่ดำเนินการให้กระทบกระทั่งกัน ซึ่งวันที่ 20 ม.ค. ผู้ค้าเขาก็มีการขัดขืนไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน


ขณะเดียวกัน ทางผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยืนยันได้ว่า ที่ผ่านมาลงพื้นที่ตลอดในการดูแลเรื่องการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความสะอาด และกรณีที่เกิดขึ้นมีการประชาสัมพันธ์มาแล้ว โดยได้ไปชี้แจงแนะนำให้ดำเนินการแก้ไข แต่หากไม่แก้ไขก็สามารถจับกุมเพื่อเปรียบเทียบปรับ ผู้กระทำความผิดได้ และผู้ค้ารายดังกล่าวที่ปรากฏในคลิปก็ได้มาชำระค่าปรับเรียบร้อยเพื่อยอมรับการกระทำความผิด ยืนยันว่าเทศกิจไม่ได้ใช้ความรุนแรง


นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ยังได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ปรากฏในคลิปตั้งแต่วันที่ 19 และ 20 ม.ค. อธิบายให้ฟังด้วย เพราะรองผู้ว่าฯ อยู่ในเหตุการณ์ของวันที่ 20 ม.ค. และมีภาพว่าท่านไปยกถังแกลลอนของผู้ค้าขึ้นรถเทศกิจ รวมถึงยังมีเสียงปรากฏในคลิปกล่าวหาว่า รองผู้ว่าฯกทม.ทำร้ายประชาชน


รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ระบุว่า ความจริงแล้วผู้ค้ารายนี้เคยมาร้องเรียนที่ กทม. และได้ชี้แจงแล้วว่า กทม.ได้จัดที่ไว้ให้ 3 ที่ ในซอยศาลาแดง / ซอยคอนแวน และซอยตรงข้ามวัดแขก แต่ทางผู้ค้าไม่ปฏิบัติตาม และตนเองก็เคยไปพูดคุยด้วยตัวเองกับผู้ค้าดังกล่าวด้วย ก่อนเกิดเหตุในวันที่ 20 ม.ค. ได้พูดคุยนั้น ซึ่งผู้ค้าบอกว่า ฝ่ายเทศกิจเขตบางรัก ตกลงว่าจะเตรียมที่ให้เขาที่ซอยศาลาแดง แต่ยังไม่จัดการให้สักที ดังนั้นเมื่อเขตบางรักพูดคุยก็ต้องจัดการให้ และเทศกิจเขตบางรักก็ไปเตรียมที่ให้แล้ว แต่เขาไม่ยอมไป


และวันที่ 20 ม.ค. ตลอดถนนสีลม ก็จะเห็นว่ามีผู้ค้าเพียงรายเดียวเท่านั้น ที่ลงมาทางเท้าเต็มที่ คือร้านน้ำเต้าหู้ เมื่อตนเองไปเจอก็ได้ไปแจ้งว่า ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หัวหน้าเทศกิจก็แจ้งว่า เนื่องจากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายท่านจะต้องออกจากการค้าขาย แต่เขาไม่ยอม


หลังจากนั้นเขาก็ยกถังแกลลอนที่มีน้ำเต้าหู้ลงไปเตรียมขายของ แล้วรองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ก็บอกว่า ดังนั้นจะต้องขอยึดของกลาง และรองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ก็ไปยกแกลลอนที่เทน้ำเต้าหู้หมดแล้ว ไปที่หลังรถ และเทศกิจก็ยกของบางส่วนไปที่หลังรถของเทศกิจอีก เพื่อเป็นการบอกว่า ให้ผู้ค้าหยุดทำการค้าขายและไปพูดคุยทำความเข้าใจที่สำนักงานเขต และระหว่างพูดคุยปฏิบัติหน้าที่ ก็มีคนประมาณ 10 คน เข้ามารุมเจ้าหน้าที่ และตอนนั้นเจ้าหน้าที่บอกเพียงว่า ท่านปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง


จากนั้นก็มีคนเดินมามุงดู และมาด่าทอต่อว่าเจ้าหน้าที่ จากนั้นตนเองก็ได้ให้เทศกิจถอยเดินหนีออกมาเพื่อไม่ต้องการให้มีการกระทบกระทั่งกัน แต่ตอนเดินออกมา ก็มีผู้หญิงท่านหนึ่งเดินไปประกอบหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ พร้อมกับต่อว่าตลอด เป็นลักษณะการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จากนั้นระหว่างเดิน ๆ อยู่ ผู้หญิงท่านนั้น ก็ล้มลงไปเอง ไม่ได้มีใครไปแตะตัวเขา และพอล้มลงก็มีผู้ชายท่านหนึ่ง ชี้ไปที่หัวหน้าเทศกิจว่าคนนี้ทำร้าย จากนั้นเทศกิจก็เดินกระจายตัวกันให้มากที่สุด ทำให้ยืนยันได้ว่าที่มีคลิปต่อว่า ว่ารองผู้ว่าฯไปตบตีแม่ค้า ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงแน่นอน และตอนนี้ตนเองก็ได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตบางรักไปแจ้งความกล่าวโทษผู้ที่กล่าวหาตนเองแล้ว


นอกจากนี้ นางฐิติมา จิตติวรรณ พนักงานกวาดถนนของ กทม. ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย ก็ได้ออกมาชี้แจงยืนยันอีกเสียงว่า ที่ว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนเข้ามาทำร้ายประชาชน มีแต่ผู้ค้าพยายามเดินมาต่อว่า ขวางทางเดินเจ้าหน้าที่ พูดจายุยงเสียดสีใส่ และมีกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 7- 8 คน พยายามเข้ามาเอาเรื่องเจ้าหน้าที่เทศกิจ


ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมเยาวราชถึงขายได้ รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ตรงนั้นทางเท้าค่อนข้างแคบ และได้รับการผ่อนผันอยู่แล้ว บวกกับบริเวณนั้นเป็นสตรีทฟู๊ด ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี นอกจากนี้รองผู้ว่าฯ ได้สั่งการให้แต่ละเขตจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม ให้ผู้ค้าได้ไปขายอย่างถูกต้อง


รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันอีกว่า เมื่อทำการจัดระเบียบแล้วไม่ได้ทอดทิ้งผู้ค้า และที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปต่อรองกับเอกชนในการคิดราคาผู้เช่าให้ถูกที่สุด รวมถึงการจัดการปัญหาขยะด้วย และมองว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทะเลาะกันเองไม่น่าเกิดขึ้น ถ้าทุกคนเข้าใจสิทธิของตัวเองและปฎิบัติตามเงื่อนไข ตนคิดว่าสังคมนี้น่าจะอยู่ได้ดี


ในเวลาต่อมา ที่บริเวณปากซอยศาลาแดง ถนนสีลม ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหาระหว่างผู้ค้าและเทศกิจ จนเกิดภาพการชุลมุน ก้มกราบเทศกิจกับพื้นขอพื้นที่ขายของ จนเกิดดราม่าในโลกโซเชียล


กลุ่มผู้ค้าที่มีปัญหากับเทศกิจ ได้เดินทางมาตั้งแผงค้า แต่ไม่ได้ตั้งบนทางเท้า จุดเดิม แต่ย้ายมาอยู่ในซอยศาลาแดง บริเวณทางเท้าถนนสีลม วานนี้ ไม่มีการตั้งร้าน มีเพียงเต๊นท์ของเทศกิจ และเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้งชายและหญิงกว่า 20 คน คอยเดินตรวจสอบและไม่ให้มีการขายสินค้า บริเวณทางเท้า


นางสาวเบญจวรรณ อายุ 33 ปี เจ้าของร้านโรตี เปิดเผยว่า วันนี้อยากได้คำตอบว่า พวกตนจะได้ขายของจุดไหน เพราะที่ผ่านมาขายบริเวณทางเท้ามานานกว่า 6 ปี เทศกิจและสำนักงานเขตก็รู้ และยังบอกให้ปรับปรุงร้าน ให้ถูกต้อง แต่อยู่ดี ๆ มาจับ ซึ่งที่ตั้งร้านไม่ได้กีดขวางทางเท้า หรือคนพิการ ประชาชนสามรถเดินไปมาได้ปกติ


ส่วนที่บอกว่ามีการจัดระเบียบและสถานที่ ให้พวกตนไปขาย 3 จุด ขอยืนยันว่า ไม่มีการจัดจุดให้ขายตามที่รองผู้ว่าแถลง พวกตนก็รอมานานมากเเล้ว ผู้ค้าไม่ได้ดื้อ แต่จุดที่บอกให้ไปขายก่อนหน้านี้ คือ พื้นที่เอกชน มีค่าเช่ารายเดือนหลักหมื่น และอีกจุดก็อยู่ไกลไม่มีลูกค้า ส่วนในซอยศาลาแดงที่ให้ย้ายมา ก็มีเจ้าของที่ขายประจำอยู่แล้ว


ส่วนกรณีที่มีคลิประบุว่า แม่ค้าถูกทำร้ายเจ้าหน้าที่ใช้กำลัง แม่ค้าโรตีระบุว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนพูด และอัดคลิป ไม่ใช่ตนเอง ที่ล้มลงไป ก็เพราะความชุลมุนไม่ได้ล้มลงไปเอง


ส่วนเรื่องของการเปรียบเทียบว่าทำไมที่ถนนเยาวราช สามารถขายของบนทางเท้าได้ ตนก็อยากจะสอบถามเช่นกันว่า ถนนสีลมก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกัน ทำไมถึงเปิดไม่ได้ ขอเเค่ให้มีการจัดระเบียบเเค่นั้นเอง อยากให้ผู้ว่าชัชชาติช่วยจัดระเบียบเหมือนที่อื่น ๆ ด้วย ตีเส้นจัดกันเป็นล็อก ๆ ผู้ค้าเเละประชาชนอยู่ร่วมกันด้วย


ขณะที่ทีมข่าวสำรวจพื้นที่อยู่นั้น ก็พบว่ามีชายรายหนึ่งมายืนต่อว่าแม่ค้าขายโรตีและปอเปี๊ยะทอด โดยชายคนนี้บอกว่า ที่ตรงนี้เป็นของร้านตนเอง เปิดขายก๋วยเตี๋ยวไก่และข้าวมันไก่ มานานกว่า 30 ปีแล้ว มีโต๊ะเก้าอี้ให้ลูกค้านั่ง ร้านพวกนี้มาขายตรงนี้ ก็ทับที่ตนเอง


วันที่มีเรื่องกับเทศกิจ ตนก็เข้าไปบอกร้านที่มีปัญหาว่า ให้หลบเข้ามาในซอยก่อน แต่เขาไม่ฟัง ช่วงนี้ร้านตนหยุดขาย วันอังคารก็จะกลับมาขายอีก ส่วนร้านกลุ่มนี้ก็ต้องไปขายจุดอื่น ต่อแถวเข้าไปในซอย ปัญหาเรื่องที่ขายนี้ ตอบไม่ได้ว่าเพราะ กทม.ไม่ชัดเจน หรือไม่ แต่ร้านตนจะต้องเปิดขายที่เดิม


ขณะเดียวกันส่วนของนักท่องเที่ยวและผู้ใช้ทางเท้า ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า การจัดระเบียบให้ผู้ค้าอาหาร แบบสตรีทฟู๊ด เรียงแถวขายแบบในซอยนี้ ถือว่าดี แต่ต้องเว้นทางเท้าให้คนเดินและพื้นที่ร้านต้องสะอาด ชาวต่างชาติเขาอยากมาเที่ยวเมืองไทย ก็อยากมาสัมผัสกับสตรีทฟู๊ด เพราะบ้านเขาไม่มี อยากกินอะไรก็ซื้อแล้วเดินกินเลือกได้เลย โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการจัดระเบียบแบบนี้



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/8UJuoWX1GYg

คุณอาจสนใจ