สังคม

ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยง! แพทย์เผย PM 2.5 สาเหตุสำคัญทำป่วย ‘มะเร็งปอด’ ตัวเลขชี้ ส่วนใหญ่พบป่วยระยะสุดท้าย

โดย petchpawee_k

12 พ.ย. 2565

88 views

จากกรณีที่ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล ปัจจุบันอายุ 28 ปี ได้ออกมาเล่าเรื่องราวป่วยเป็น “มะเร็งปอดระยะลุกลาม” ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ หลังเพิ่งบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ ทั้งที่ออกกำลังสม่ำเสมอ เล่นกีฬา กินคลีน ไม่สูบบุหรี่ ดื่มน้อยมาก ทำงานไม่เครียด นอนเป็นเวลา ไม่มีเค้าลางมาก่อน ทำให้ชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งส่งกำลังใจกันเป็นจำนวนมากนั้น


ความคืบหน้าวานนี้ (11 พ.ย.) ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว ระบุข้อความว่า “อยากให้อ่านเรื่องของเพจ “สู้ดิวะ” ครับ เขียนโดยอาจารย์หมอเชียงใหม่วัย 28 ปี นักกีฬา ไม่สูบบุหรี่ เพิ่งทำงานได้ 2 เดือน พบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย กระจายไปที่สมองแล้ว ทุกคนมีเวลาจำกัดมากน้อยต่างกัน ใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่า มีคุณค่ามีความหมายครับ”


นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า “เน้นไว้ตรงนี้อีกที PM 2.5 คือสาเหตุสำคัญหนึ่งของมะเร็งปอดในคนไม่สูบบุหรี่ ฤดูนี้เปิดเครื่องฟอกไปรัวๆ นะครับ กดให้ต่ำกว่า 10 ยิ่งต่ำกว่า 5 ยิ่งดี อย่าใช้ปอดเราเป็นไส้กรองอากาศครับ คนที่สงสัยว่า PM 2.5 สัมพันธ์กับมะเร็งปอดอย่างไร อ่านทวีตนี้ครับ


โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ศ.นพ.มานพ เคยทวีตข้อความไว้ว่า งานนำเสนอใน #ESMO2022 ชิ้นนี้น่าสนใจมาก ทีมนักวิจัย UK พบกลไกที่ทำให้ PM 2.5 ก่อมะเร็งปอดโดยเฉพาะคนไม่สูบบุหรี่ พบว่าปอดเรามีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR & KRAS นิดหน่อยเป็นทุนเดิม พอหายใจเอา PM 2.5 เข้าไป กระตุ้นเซลล์มียีนนี้ให้แปลงร่างเป็น cancer stem cell ได้


และต่อมาวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่าน ยังได้ทวีตข้อความอีกว่า ทำไมถึงต้องซีเรียสเรื่อง PM 2.5? เพราะ PM 2.5 เป็นเหตุสำคัญของมะเร็งปอดชนิดที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ซึ่งพบกว่า 50% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดชาวไทยโดยเฉพาะคนที่ไม่สูบบุหรี่ พบว่าเซลล์ปอดที่มี EGFR กลายพันธุ์ยังไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็งจนกระทั่งได้รับ PM 2.5 เข้าไป”


ทางด้าน นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน


ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น


นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น


หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย


ปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี  เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่  อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้

ทางด้านนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทาง เดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้สัมภาษณ์ กรณีหมอวัย 28 ปี ตรวจพบเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ลักษณะเช่นนี้ จะพบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งปอด ซึ่งปกติการตรวจมะเร็งปอด ไม่สามารถระบุชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อไร


ผู้ป่วยควรสังเกตอาการ เช่น ไอเป็นเลือด เสียงแหบ เหนื่อย น้ำหนักตัวลด ให้สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง แต่มักจะแสดงอาการในระยะมะเร็งลุกลามแล้ว


ผู้ป่วยมะเร็งในไทย จะตรวจพบว่าป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพียงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเท่านั่น เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการบ่งชี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 60 จะตรวจพบว่าป่วยมะเร็งปอดในระยะสุดท้ายแล้ว


ปัจจุบันการตรวจมะเร็งปอดที่ดีที่สุด คือการใช้เครื่องทีซีสแกน หากตรวจวินิฉัยเร็ว โอกาสรักษาและการรอดชีวิตก็มีมาก ในกลุ่มเสี่ยงควรตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ สูดคมควันธูป หรือคนในครอบครัวมีประวัติป่วยมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง


สถานการณ์การ ผู้ป่วยมะเร็งปอดในไทย ปัจจุบันเหมือนกับกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว คือมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดเป็นอันดับ 1 ของโลก แม้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จะบอกว่า มะเร็งปอด เป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับ2 รองจากมะเร็งตับ แต่ข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชน พบว่ามะเร็งปอด ทำสถิติผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 มานานแล้ว



รับชมทางยูทูบที่ :  https://youtu.be/-_OFBCce2Sw

คุณอาจสนใจ

Related News