สังคม

กรมราชทัณฑ์ ดีเดย์ ปล่อยคาราวานนักโทษ 300 คน ออกทำงานลอกท่อระบายน้ำ 15 เขตทั่ว กทม.

โดย weerawit_c

2 ก.ค. 2565

11 views

วานนี้ (1 ก.ค. 65) เมื่อเวลา 09.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีปล่อยแถวผู้ต้องขังออกทำงานลอกท่อระบายน้ำ จากนโยบายที่ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้กรมราชทัณฑ์ ส่งนักโทษเด็ดขาดออกทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เพื่อลอกท่อระบายน้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยหลังมีการพูดคุยหารือกันเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงได้กำหนดให้วันนี้ (1 ก.ค. 65) เป็นวันดีเดย์เริ่มปล่อยคาราวานผู้ต้องขังออกลอกท่อระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร



โดย กรมราชทัณฑ์จะเริ่มปล่อยนักโทษเด็ดขาดจำนวน 300 คน จากเรือนจำและทัณฑสถานทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดปทุมธานี / เรือนจำกลางสมุทรปราการ / เรือนจำอำเภอธัญบุรี / ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง / เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร / ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง / เรือนจำพิเศษมีนบุรี / เรือนจำกลางคลองเปรม / เรือนจำพิเศษธนบุรี / เรือนจำจังหวัดนนทบุรี / เรือนจำจังหวัดสมุทรนาคร



ซึ่งจะเริ่มดำเนินการลอกท่อระบายน้ำใน 15 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตห้วยขวาง / เขตบางนา / เขตหลักสี่ / เขตสายไหม / เขตบางเขน / เขตลาดพร้าว / เขตบางกะปิ / เขตลาดกระบัง / เขตหนองจอก / เขตประเวศ / เขตตลิ่งชัน / เขตบางขุนเทียน / เขตภาษีเจริญ/ เขตบางแค / เขตหนองแขม รวมระยะทาง 280.714 กิโลเมตร และในส่วนพื้นที่ความรับผิดชอบดูแลของสำนักการระบายน้ำระยะทาง 249.606 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 530.230 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยจะใช้นักโทษเด็ดขาดทั้งหมด 665 คน ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน



นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมต้องขอขอบคุณผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่เข้าใจปัญหาของกรุงเทพมหานครและปัญหาของแรงงานราชทัณฑ์ ซึ่งตนได้เน้นย้ำกับผู้ต้องขังว่า การออกไปทำงานเปรียบเสมือนเป็นผู้รับเหมา ต้องทำให้มีผลงาน มีฝีมือที่ดี ทำให้สะอาดเรียบร้อย ให้คุ้มค่ากับที่กรุงเทพมหานครว่าจ้าง ถ้าทำดีก็จะได้รับการว่าจ้างต่อ และจะเป็นการพิสูจน์ตัวเองด้วย หากพ้นโทษออกไป ก็จะได้รับโอกาสในการมีงานทำมากขึ้น



โดยกำลังความสามารถของผู้ต้องขัง 1 คน จะสามารถลอกท่อระบายน้ำได้วันละ 25 เมตร ซึ่งจะเน้นย้ำให้ทำให้เสร็จเป็นช่วงๆ ไปในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งนี้ ผู้ต้องขังจะได้รับค่าตอบแทน 2 ระยะ ระยะแรกคือ ค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 331 บาท / ระยะที่ 2 คือเงินปันผลกำไร 70% และยังได้รับการลดโทษ อัตราลดโทษ 1 วัน ต่อ 1 วันทำงาน



นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ต้องขังที่จะออกไปปฏิบัติงานได้ ต้องไม่เป็นนักโทษในคดีร้ายแรง ได้แก่ คดีความมั่นคง คดีฆ่า คดียาเสพติด คดีอาชญากรรมทางเพศ หรือคดีอุกฉกรรจ์ กลุ่มนี้แม้ว่าคุณสมบัติอื่นจะเข้าเกณฑ์ แต่ก็จะไม่อนุญาตให้ออกไป ผู้ต้องขังที่จะออกไปได้ต้องเป็นนักโทษคดีเล็กน้อย และเป็นนักโทษที่มีพฤติกรรมดีแล้ว ไม่อยู่ระหว่างการกระทำผิดวินัยในเรือนจำ



นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังเน้นย้ำในเรื่องของการดูแลสิทธิมนุษยชน โดยการออกไปทำงานต้องไม่เป็นการบังคับ และต้องจัดเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม ออกไปให้เพียงพอในระหว่างปฎิบัติงาน และหากผู้ต้องขังได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ก็จะมีสวัสดิการให้เป็นเงิน 70,000 - 120,000 บาท



ส่วนการออกไปทำงาน นอกจากผู้ต้องขังจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ ได้ลดโทษ 1 วัน ต่อการทำงาน 1 วัน แล้ว ยังจะได้รับเงินปันผล 70% จากกำไรที่ได้จากการว่าจ้างของกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากมีผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปก่อน เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับค่าว่าจ้างมาจากกรุงเทพมหานคร ก็จะเก็บไว้ให้แล้วเรียกมารับเงินภายหลัง


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/bGxKiB4f6T8

คุณอาจสนใจ

Related News