สังคม

'สรยุทธ-ไบรท์' อธิบายให้เข้าใจ มาตรการคุมเข้ม กทม.-ปริมณฑล-4 จังหวัดภาคใต้

โดย passamon_a

27 มิ.ย. 2564

1.2K views

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ 6/2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548


โดยสรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีคำสั่งกำหนดรายชื่อจังหวัด ที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 10 จังหวัด ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ 2.นครปฐม 3.นนทบุรี 4.นราธิวาส 5.ปทุมธานี 6.ปัตตานี 7.ยะลา 8.สงขลา 9.สมุทรปราการ 10.สมุทรสาคร


นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือ การประกาศมาตรการควบคุมโควิด-19 ดังนี้


>> อ่านฉบับเต็มที่นี่ <<


1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ


มาตรการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามข้อกำหนดนี้ มุ่งเพื่อการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วน ในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาด


2. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล


เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและพบการระบาดแบบกลุ่มก้อน ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร หรือพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง หรือสถานที่ก่อสร้าง และให้มีคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอก สถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน


3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงาน ในสถานประกอบการและโรงงาน เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล


ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการและโรงงาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ตามที่ทางราชการกำหนด โดยกระจายครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ เพื่อมุ่งจำแนกผู้ติดเชื้อและเข้าจำกัดเขตพื้นที่ที่เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้น


รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานประกอบการหรือโรงงานดังกล่าวและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่ ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป


4. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล


กำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่จำเป็นเพิ่มเติมให้เข้มงวดขึ้นจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยปฏิบัติต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30วัน ดังต่อไปนี้


- การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่ จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันและมีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น


- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทาน ในศูนย์อาหาร และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหมุนเวียนอากาศ และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการ ด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด


- โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง


- กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค


5. มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน


ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กวดขันการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจคัดกรองเชิงรุก และเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อมุ่งจำแนกและจำกัดเขตพื้นที่การระบาด และจัดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อเข้ารับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตหรือเข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุขต่อไป


เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชน หรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้าย เดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด


6. การให้ความช่วยเหลือประชาชน


เมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดตามข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือจิตอาสาโดยการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปีดสถานที่หรือจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่จากการระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม


7. กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และตรวจคัดกรองการเดินทาง


ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กำหนด เนระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน


8. การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร์โรค


ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจตราเพื่อปราบปรามมิให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุมกระทำการที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเล่นการพนัน การเสพยาเสพติด การรวมกลุ่มในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทาง หรือการฝ่าฝืนเปิดดำเนินการของสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามการเปิดไว้


9. มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง


ให้คงพิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้เพื่อลดการเดินทางและการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล โดยเฉพาะหน่วยงานหรือสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด


10. การงดจัดกิจกรรมทางสังคม


ให้ประชาชนงดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดการติดต่อสัมผัสกันระหว่างบุคคลอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสามสิบวัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการ ตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว โดยขอให้เป็นไปเพื่อความเหมาะสมและมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป



ชมผ่านยูทูบที่ : https://youtu.be/-5oZTgNiCH0



คุณอาจสนใจ