สังคม

แพทย์ชี้ ปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน เกิดขึ้นได้ ย้ำมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

โดย passamon_a

25 เม.ย. 2564

129 views

วันที่ 24 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต คณะแพทศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงประเด็นวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้วัคซีนโควิดที่ได้ยินกันมาก มี 3 กลุ่ม คือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย อย่าง ซิโนแวค, วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด RNA อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา และสปุตนิก ไฟว์


สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากการรับวัคซีนนั้น เราต้องพิจารณาประโยชน์กับความเสี่ยงทุกครั้ง แน่นอนว่าความเสี่ยงย่อมมี ทั้งนี้ สามารถแบ่งออกเป็นอาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้วัคซีน ซึ่งอาการแพ้วัคซีนจะคล้ายคนแพ้อาการ แพ้อาหาร ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากตัววัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน หรือเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายผู้รับวัคซีน ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของแต่ละคนไม่เหมือนกัน


อาการไม่พึงประสงค์ แบ่งออกเป็นเฉพาะที่ และเป็นระบบ บางคนมีไข้ต่ำ ๆ มีอาการอ่อนเพลีย ง่วง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ แต่ปฏิกิริยาที่เป็นข่าวและทำให้หลาย ๆ ท่านกังวลใจ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกว่า Immunization Stress Related Response หรือ ISRR ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน


คนบางคนเมื่อมีความเครียดในการฉีดวัคซีน ก็จะกระตุ้นระบบภายในร่างกาย ระบบสำคัญจะเกี่ยวข้องกับ Stress ฮอร์โมนทั้งหลาย กระตุ้นระบบประสาท ทำให้หลอดเลือดมีการหดตัว ซึ่งผู้รับวัคซีนไม่ได้แกล้งทำ เหมือนกรณีบางคนพูดในที่สาธารณะเป็นลมก็มี


ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวว่า ปัจจุบันจึงมีข้อแนะนำเมื่อพบผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการทางระบบประสาทหลังรับวัคซีน เช่น ชา อ่อนแรง ตามัว ต้องทำอย่างไร ซึ่งต้องมีแพทย์มาประเมินและให้คำแนะนำว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมาจาก ISRR หรือเกิดจากปัญหาอย่างอื่น เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง หรือมีเลือดออก เพราะเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งมีน้อยมากกรณีแบบนี้ในต่างประเทศ และในไทยก็ยังไม่มี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าหลังฉีดวัคซีนต้องสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที


สำหรับข้อมูลในต่างประเทศเวลาฉีดวัคซีนซิโนแวคมีปฏิกิริยานี้หรือไม่ ศ.ดร.นพ.วิปรกล่าวว่า จากข้อมูลประเทศบราซิล ปฏิกิริยาที่เป็นผลแทรกซ้อนเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนซิโนแวคที่เป็นยาจริงและยาหลอกเป็นอย่างไร ปรากฏว่า ปฏิกิริยาไม่แตกต่างกัน อย่างบางคนฉีดยาหลอกก็มีอาการอ่อนแรงได้ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาร่างกายที่เกิดขึ้นได้


สำหรับประโยชน์ของวัคซีน จากการศึกษาของบราซิลในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจำนวน 12,000 คน โดยการศึกษาประสิทธิภาพขั้นต้น เปรียบเทียบการติดเชื้อของคนที่ฉีดวัคซีนหลอก (น้ำเกลือ) เมื่อฉีดแล้วจำนวนคนติดเชื้อและมีอาการเพิ่มสูงขึ้น ส่วนคนที่รับวัคซีนจริงพบว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแล้วมีอาการได้ 50.7% อันนี้เป็นที่มาที่คนมักเอามาว่า จำนวนน้อย แต่เราเปรียบไม่ได้ เพราะอันนี้เขาเปรียบเทียบบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูง


ที่สำคัญยังพบว่าคนติดเชื้อแล้วมีอาการระดับที่ต้องให้ออกซิเจนสามารถป้องกันได้เกือบ 84% และไม่พบใครต้องเข้าไอซียูเลย สรุปคือ วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน แม้จะติดเชื้อแล้วภูมิต้านทานก็พอเพียงทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส ไม่ให้ลุกลามจนเกิดอาการรุนแรงจนถึงต้องเข้าไอซียู


ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวอีกว่า ข้อมูลของคนไทยจากการศึกษาของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์เชี่ยวชาญของจุฬาฯ มีการศึกษาภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มครบ พบว่าระดับภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเสริมความมั่นใจได้มากขึ้น


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/hx8NU89H1TE

คุณอาจสนใจ

Related News