สังคม

"ดร.วรศักดิ์" ลั่นอย่าหลงประเด็น ชี้ตึก สตง.ถล่ม เหตุโครงสร้างไม่สมมาตร ไม่ใช่เหล็กเส้น

โดย panwilai_c

16 เม.ย. 2568

646 views

ดร.วรศักดิ์ ราชบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง ชี้อาคาร สตง. ถล่มใน 8 วินาทีเกิดจากโครงสร้าง Shear Wall และเสาไม่สมมาตร เสาและกำแพงใช้เหล็กไม่มากพอ พร้อมแนะตรวจสอบให้ถูกจุด อย่าหลงประเด็นมัวแต่ไปตรวจมาตรฐานเหล็ก



ยังจำข้อมูลที่ ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง ออกมาวิเคราะห์การถล่มของอาคาร สตง. ที่ถล่มลงมาเป็นแพนเค้กภายในเวลาเพียง 8 วินาทีได้ไหม วันนี้ทีมข่าวให้อาจารย์ อธิบาย ให้เห็นภาพชัดเจนอีกครั้ง



อาจารย์ บอกว่า จากสิ่งที่มองเห็นจากแพลน คือ อาคารนี้วิบัติด้วยวิธีถล่มลงมาด้วยน้ำหนักของตัวเอง ลงมากองเป็นชั้น ซึ่งการที่จะวิบัติในลักษณะนี้ สามารถเกิดได้จากตัวที่รับน้ำหนักชั้นล่าง เหมือนกับเป็นขาของอาคาร ประกอบด้วย กำแพงปล่องลิฟต์ หรือ Shear Wall กับเสา ที่ไม่สามารถรับน้ำหนักได้แล้วเกิดวิบัติไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ขณะนั้นอาคารทั้งอาคาร จะเหมือนลอยอยู่ในอากาศแล้วถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงให้ตกลงมา ด้วยน้ำหนักของตัวเองที่มหาศาล



เมื่อดูชั้นล่าง ในส่วนของปล่องลิฟต์และเสา การจัดตำแหน่งของปล่องลิฟต์นั้น ไม่สมมาตรกับพื้น ทำให้เวลาฐานเกิดการสั่นไหว อาคารจะแกว่งไปตามฐานที่สั่นไปด้วย และไม่ใช่แค่สั่น แต่จะเกิดการบิดด้วย เสาและกำแพงข้างล่างจะบิดไปบิดมา



หากวิศวกรออกแบบขนาดของเสาและกำแพง ใส่เหล็กให้ถี่พอสมควร ก็น่าจะรับได้ เพราะก็มีหลายตึกที่ออกแบบไม่สมมาตร แต่กรณีนี้มองว่า ไม่ได้ออกแบบให้มีเหล็กมากพอ เวลาที่บิดไปบิดมาจึงทำให้คอนกรีตแตกร้าว ปูนยุ่ย จนชั้นล่างวิบัติไปทั้งหมด เป็นเหตุให้เกิดการถล่ม



อาจารย์ ยังบอกด้วยว่า ที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการให้สังคมหลงประเด็น จริงๆ แล้วการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก เป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำตอนนี้ มันไม่ใช่ส่วนสำคัญที่ทำให้อาคารถล่ม จึงอยากช่วยชี้ประเด็นให้หน่วยงานที่จะตรวจสอบมุ่งไปที่การวิบัติจากการบิดตัวเป็นหลัก



ต้องไปดูที่ชั้นล่าง ดูการคำนวณการออกแบบ เก็บชิ้นส่วนที่ยังพอมี และทำโมเดลคอมพิวเตอร์ ใส่สัญญาณแผ่นดินไหว ว่าเมื่อมีแรงสั่น โมเดลจะเกิดแรงที่กำแพงและเสาชั้นล่างขนาดไหน อาคารมันทนได้หรือไม่



ส่วนจะมีการแก้ไขแบบภายหลังหรือไม่ เรื่องนี้ตรวจสอบไม่ยาก เพราะปกติการก่อสร้างอาคารจะต้องมีแบบ 2 ชุดอยู่แล้ว คือ แบบที่ได้รับการอนุมัติก่อนก่อสร้าง และแบบที่เรียกว่า As Built Drawing ตามที่สร้างจริง ก็ต้องมาดูว่าแตกต่างกันแค่ไหน ความแตกต่างนี้ผู้ออกแบบได้รับทราบหรือไม่


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/yGdQR7bqT_0

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ