สังคม
นายกฯ แจงยิบ MOU 44 ยัน 'เกาะกูด' เป็นของไทย จะไม่ให้เสียแผ่นดินแม้ตารางนิ้วเดียว
โดย panisa_p
4 พ.ย. 2567
68 views
นายกฯ นำพรรคร่วมแถลงเดินหน้า MOU 44 ถามกลับยกเลิกแล้วได้อะไร ยืนยัน เกาะกูดเป็นของเรา ลั่น ดิฉันเป็นคนไทย 100% จะไม่ให้เสียแผ่นดินแม้ตารางนิ้วเดียว อย่าเอาการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สั่นคลอน ยอมรับ สัมพันธ์ "ทักษิณ-กัมพูชา" ดี แต่เจรจาประโยชน์ประเทศ ต้องใช้คณะกรรมการ
ภายหลังประชุมขับร่วมรัฐบาลนาน กว่า 2 ชั่วโมง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำหัวหน้าและเลขาพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันแถลงข่าว ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึง MOU 2544 พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทย -กัมพูชา โดยยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้ว และกัมพูชา ก็รับรู้เช่นกัน ทั้ง 2 ประเทศรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส และรัฐบาลนี้ก็จะไม่ยอมเสียพื้นที่ ของประเทศไทย แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ไปให้ใครก็ตาม และเรื่องเกาะกูด กับกัมพูชา เราไม่เคยมีปัญหา และไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย ดังนั้น คงเป็นการเกิดความเข้าใจผิดของคนในประเทศไทยเอง ขอให้มั่นใจได้เลยว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย
ส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะหากจะยกเลิก ต้องเป็นการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากหากยกเลิกเองจะถูกกัมพูชาฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นการตกลงกันระหว่างประเทศ
เมื่อถามว่ารัศมีรอบเกาะกูดในน้ำทะเลมีการแบ่งหรือไม่ ว่า ส่วนใดเป็นของใคร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ใน MOU เขียนไว้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด ไปดูเส้นที่เขาตีได้เลย เขาเว้นเกาะกูดไว้ให้เรา และที่คุยกันไม่ได้พูดคุยกันพื้นที่ดิน เราคุยกันในพื้นที่ทะเลว่าสัดส่วนเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ใน MOU คือ ขีดเส้นไม่เหมือนกัน จึงมีการตกลงกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ นี่คือความหมายใน MOU 44 เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของทางฝั่งกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ ซึ่งเมื่อสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการตั้งคณะกรรมการ พอมาถึงสมัยตน ก็อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้อยู่ เพื่อมาศึกษาและพูดคุยกัน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ไม่ถึงเดือน
เมื่อถามว่า เมื่อไม่มีการยกเลิก MOU ทำให้ถูกมองว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา นายกรัฐมนตรี ยิ้มและสายศีรษะ ก่อนจะกล่าวว่านั่นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไรทั้งสิ้น MOU นี้ ทั้ง 2 ประเทศคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชา ขีดเส้นมาก่อน พอมาปี 2516 ประเทศไทยก็ขีดด้วย แต่ข้อตกลงไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการตั้ง MOU ขึ้นมาเปิดการเจรจา
" MOU นี้ไม่เกี่ยวกับเกาะกูดเลย เกาะกูดไม่เคยอยู่ในการเจรจานี้ ขอให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลย ว่าเราไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชา ก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดด้วย จึงขออย่ากังวลเรื่องนี้เกาะกูดก็เป็นของประเทศไทยเหมือนเดิม"
เมื่อว่าถาม เคยมีการยกเลิก MOU ฉบับนี้เมื่อสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มี MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่เกิดการตกลงระหว่าง 2 ประเทศ อีกทั้งจะยกเลิกต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา เมื่อปี 2552 ก็ไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมรัฐสภาด้วย หรือแม้แต่สมัยพลเอกประยุทธ์ 2557 ก็ไม่มีการยกเลิก
เมื่อว่าถามว่า มีกระแสที่ต้องการให้ยกเลิก นายกรัฐมนตรี จะคุยอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดกระแสบานปลาย นางสาวแพทองธาร ถามกลับว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ แต่เมื่อเห็นไม่เหมือนกันจะต้องมี MOU เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น MOU นี้ เป็นการเปิดให้ทั้งสองประเทศได้คุยกัน และเมื่อถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไรบ้าง ถ้าเรายกเลิกฝ่ายเดียว จะโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน
เมื่อถามว่า หากนายกฯเดินหน้าลุยต่ออาจจะดูเหมือนไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่จริงเลยค่ะ ที่มาในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย ตาม Concept เลยว่า เรื่องนี้คือข้อตกลงเจรจาระหว่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาพูดให้พี่น้องประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายให้เข้าใจว่า MOU 1.ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด เกาะกูดเป็นของเรา 2. MOU เป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ หากจะมีการยกเลิกต้องเป็นการตกลงกันระหว่าง 2 ประเทศ 3. เรายังไม่ได้เสียเปรียบ ในเรื่องของการตกลง เรื่องนี้เกิดจากการขีดเส้นที่ไม่ตรงกันจึงมีการตั้ง MOU ขึ้นมาเพื่อให้ 2 ประเทศเจรจาตกลงร่วมกันในผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลัก"
เมื่อถามว่าพรรคร่วมทั้งหมดเห็นด้วยกับ MOU นี้ใช่หรือไม่ แกนนำทุกคนที่ร่วมแถลงข่างพยักหน้า ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะกล่าวว่า "ใช่ค่ะ" เราจะเดินหน้าต่อ และพี่ต้องทำอยู่ตอนนี้คือกัมพูชากำลังรอเรา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและเป็นตัวแทนไปพูดคุย โดย คณะกรรมการจะประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหมที่จะช่วยกันดู
เมื่อถามว่ากังวลประเด็นนี้จะบานปลายหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าทุกคนเข้าใจแล้ว ไม่น่าจะบานปลาย เพราะมันก็คือข้อเท็จจริง ว่ามันต้องเป็นแบบนั้น ไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะมันคือกรอบและเป็นกฎหมายอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าจะเป็นเผือกร้อนในมือนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า "ไม่เลยค่ะ"
เมื่อถามถึงข้อกังวลแหล่งพลังงานใต้ทะเล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน เรื่องนั้นเราต้องศึกษารายละเอียดด้วย ว่าจะแบ่งอย่างไรได้บ้าง ให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ และยุติธรรมมากที่สุด จึงมีการตั้งคณะกรรมการ ผู้รู้ไปศึกษาเพื่อไปพูดคุยกับกัมพูชาด้วย เพื่อที่จะได้มาชี้แจงต่อประชาชนอย่างชัดเจน
เมื่อถามว่าจะใช้ความสัมพันธ์อันดีของนายทักษิณ ชินวัตร ในการพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์อันดี สามารถสร้าง Connection ดีๆได้ แต่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา ต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อที่จะได้ไม่มีอคติ ในพูดคุยกัน โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการรู้ จริงรู้ครบและเกิดความยุติธรรมด้วย
เมื่อถามว่า รัฐบาลรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย 100% ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ดิฉันเป็นคนไทย 100% อย่างที่บอก ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน รัฐบาลนี้ยืนยัน รัฐบาลนี้จะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้พี่น้องคนไทยมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ"
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/Tp2yYoPKvo8