สังคม

นศ.-ศิษย์เก่าอุเทนถวาย รวมตัวหน้า อว.ย้ำจุดยืนไม่ย้ายออก ยื่น 2 ข้อเสนอ ให้จุฬาฯดูแล

โดย parichat_p

16 พ.ย. 2566

750 views

ผลประชุม "คณะทำงานขับเคลื่อนการยุติข้อพิพาทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย" นัดแรก มีแนวโน้มดีขึ้น ที่ประชุมเห็นตรงกันให้ จุฬาฯ และ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ส่งเสริมและเชื่อมระบบการศึกษาร่วมกัน


ก่อนการประชุม นักศึกษาศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของ อุเทนถวาย กว่า 100 คน เดินทางด้วยรถบัส 3 คัน มารวมตัวกัน ที่ด้านหน้ากระทรวงอว. เพื่อรอรับฟังผลการหารือนัดแรก ซึ่งมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว.เป็นประธานได้นัดหารือคณะทำงานฯ เพื่อแก้ไขปัญหา ที่อุเทนถวายยื่นหนังสือ ขอทบทวนมติศาลปกครอง ให้ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


โดยตัวแทนนศ.อุเทนถวาย ได้ถือป้ายข้อความ แสดงจุดยืนขอ อยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป โดยนายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย เปิดเผยก่อนเข้าร่วมหารือว่า การประชุมวันนี้ ทางสโมสรนักศึกษา ย้ำจุดยืนคืออยากให้อุเทนถวายยังอยู่ในพื้นที่ต่อไป และจะทำตามพระราชดำรัสของ ร.6 คือ ให้อุเทนถวายยังอยู่ในที่ดินนี้ไม่ย้ายไปไหน


ส่วนที่นำน้องๆนักศึกษามากว่า 100 คนนั้น ก็เพื่อมารอรับฟังผลประชุม ไม่ได้มากดดันหรือมาประท้วง แต่มาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน


ขณะที่การดูแลความสงบเรียบร้อยในวันนี้ มีตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล1 กระจายกำลังกันดูแลความปลอดภัย และตำรวจสายตรวจคอยเฝ้าระวังเหตุ ระหว่างเดินทางจากมหาวิทยาลัยมาที่กระทรวง


และภายหลังประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง / ปลัด อว. กล่าวว่า การหารือครั้งแรกนี้ แนวโน้มเป็นไปด้วยดี วันนี้ไม่มีการพูดถึงข้อกฎหมายในอดีต เพราะถือว่ายุติแล้ว / ไม่พูดเรื่องนิตินัย แต่เป็นการพูดเรื่องพฤตินัย เพื่อทำงานร่วมกันในอนาคต พัฒนาทั้ง 2 สถาบันร่วมกัน ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. สังกัดเดียวกัน


โดยที่ประชุมมีแนวคิดให้ทั้ง 2 สถาบัน ส่งเสริมการศึกษาต่อกันให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้จุฬาฯเชื่อมระบบการศึกษากับอุเทนถวาย แต่ต้องดูแลด้านประวัติศาสตร์ของอุเทนถวายให้คงไว้ ขณะที่อุเทนถวายต้องไปทำแผนว่า จะทำอย่างไรให้อุเทนถวายใหญ่ขึ้น ยกระดับพัฒนาฝีมือช่างในอนาคต สร้างมูลค่าซอฟต์พาวเวอร์ได้


ด้าน รศ. ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาฯ กล่าวว่า ในฝั่งของจุฬาฯ จะรับข้อเสนอจากที่ประชุม เพื่อนำไปทำการบ้านต่อ เสนอที่ประชุมของจุฬาฯ เพราะคงยังประชุมกันต่อเนื่อง ไม่ได้ข้อสรุปจากการประชุมเพียงครั้งเดียว / การหารือวันนี้ถือว่า เป็นนิมิตรหมายที่ดี ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีของสังคม ว่าหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน ร่วมมือร่วมใจ แก้ปัญหาที่ค้างคามานาน


ส่วนฝั่ง อุเทนถวาย รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการดี มทร.ตะวันออก กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เป็นเวทีที่เปิดกว้าง เพื่อร่วมแก้ปัญหา เพราะอุเทนถวายเป็นสมบัติชาติ และอุเทนถวายเอง พร้อมพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็ง /คิดว่าในอนาคต น่าจะมีทางออกที่ดี


ขณะที่บรรยากาศด้านหน้ากระทรวง หลังประชุมแล้วเสร็จ ทางนายเดชา เดชะตุงคะ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วย ได้มาบอกผลประชุมกับทางน้องนักศึกษาที่ปักหลักรอฟังผล พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงประเด็นที่ อุเทนถวายเสนอต่อที่ประชุม 2 ข้อ ว่า อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันจะทำอย่างไร ให้อุเทนอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งอุเทนถวายยินดีให้จุฬาฯเข้ามาดูแลอุเทนถวาย ในรูปแบบหน่วยการศึกษาย่อย / เสมือนว่า เป็นสถาบันพี่-น้องกัน / อุเทนถวายก็จะผลิตช่างเทคนิคให้กับจุฬาฯ และให้จุฬาฯเข้ามาบริหารจัดการดำเนินการ ซึ่งให้เวลา 2 ฝ่ายคุยกันก่อนประชุมนัดถัดไป โดยคณะทำงานตั้งเป้าประชุมกัน 3 นัด


ส่วนอีกข้อ หากข้อเสนอแรก ทำไม่ได้ พื้นที่เล็กน้อยของอุเทนถวาย 22 ไร่ จาก 1,000 กว่าไร่ของจุฬาฯ เป็นไปได้หรือไม่ ยกที่ 22 ไร่ให้กับอุเทนถวาย เพราะทั้ง 2 เป็นสถาบันเพื่อการศึกษาเหมือนกัน ซึ่งจุฬาฯกับอุเทนถวาย ก็ถือว่าเป็นสถาบันพี่น้องกัน


อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งในที่ประชุมเห็นตรงกัน หากจุฬาฯมาดูแลอุเทนถวายนั้น อัตลักษณ์ต่างๆของอุเทนถวายจะต้องเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ต่อยอดให้ดีกว่าเดิม


ทั้งนี้ก่อนกลับ ทางนศ.อุเทนถวายพร้อมศิษย์เก่า ได้ร่วมกันร้องเพลงของสถาบัน ก่อนแยกย้ายโดยไม่มีเหตุวุ่นวาย



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/onRGXCbyPC0

คุณอาจสนใจ

Related News