สังคม

โฆษกสตช. แจงรับ 'ผู้กองแคท' ด้วยตำแหน่ง 'พิธีกรงานสำคัญ' ยันเลื่อนยศตามหลัก กอส.

โดย panwilai_c

9 มิ.ย. 2566

102 views

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงกรณีที่รับ "ผู้กองแคท" เป็นตำรวจผ่านหลักสูตร กอส. เพราะขาดตำแหน่ง "พิธีกรในงานสำคัญ" ส่วนการเลื่อนยศเป็นไปตามหลักเกณฑ์



พลตำรวจโท อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผู้กองแคท หรือ ร้อยตำรวจเอกหญิง อาทิติยา เบ็ญจะปัก รองสารวัตรกลุ่มงานวิชาการและงานสารบรรณ สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เข้ามารับการราชการตำรวจ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือ กอส. เนื่องจากสำนักเลขานุการตำรวจแห่งชาติ มีตำแหน่ง "พิธีกรในงานสำคัญ" ที่ "ว่าง" อยู่ จึงเปิดรับสมัครโดยผ่านการอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์เข้ามาสมัคร โดยบรรจุเป็นยศ "สิบตำรวจตรี" ก่อน จากนั้นไปอบรม กอส. จึงเลื่อนขึ้นเป็น ร้อยตำรวจตรี และเลื่อนชั้นยศตามระเบียบของ ก.ตร. และในรุ่นเดียวกับ ผู้กองแคท มีประมาณ 300 คน ไม่มีใครที่ขึ้นยศเร็ว หรือช้ากว่าใคร ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดระยะเวลา และหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้



เมื่อนักข่าวถามว่า ที่ต้องเปิดรับบุคคลภายนอก นอกตำแหน่ง "พิธีกรในงานสำคัญ" ขาดแคลนใช่ไหม พลตำรวจโท อาชยน ไม่ได้ยืนยันว่าในตำแหน่งและคุณวุฒิของผู้กองแคทขาดแคลนหรือไม่ แต่บอกว่าการเข้ามาอบรมตามหลักสูตรต้องผ่านการสอบแข่งขัน เป็นทายาทของตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่  โอนย้ายจากหน่วยงานอื่น และการคัดเลือกเข้ามา ซึ่งการขาดแคลนก็เป็นอีก 1 วิธีที่จะสามารถเปิดรับบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นตำรวจได้ เช่น ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ



ส่วนการโพสต์ข้อความ และรูปภาพของผู้กองแคท เข้าข่ายผิดระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ พลตำรวจโท อาชยน บอกว่า ตร. ไม่มีคำสั่งห้ามให้ตำรวจเล่นสื่อสังคมออนไลน์ แต่ตำรวจต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ และดูเรื่องความเหมาะสมในการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพตัวเอง และไม่ควรทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม หากพบเห็นอาจจะถูกผู้บังคับบัญชาตักเตือน หรือลงโทษทางวินัยได้ แต่กรณีของผู้กองแคทยังไม่มีคำสั่งใดๆ เรื่องการลงโทษ



นอกจากนี้ พลตำรวจโท อาชยน ยอมรับว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบการศึกษามาปีละประมาณ 200 นาย จะมีความเข้มข้นในการฝึกและเป็น "ตำรวจอาชีพ" คือ เป็นตัวหลักในการทำหน้าที่ทั้งสืบสวน สอบสวน จราจร แต่อาจไม่เพียงพอ จึงต้องเปิดให้สมัครในหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้มาเป็นฝ่ายอำนวยการ และงานเฉพาะทางที่มีความจำเป็นต่อตำรวจ โดยหลังจากที่พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2565 ออกมาบังคับใช้แล้ว หลังจากนี้ก็จะมีความชัดเจน โปร่งใส่ในการคัดเลือกตำรวจเข้ามารับราชการมากขึ้น



กรณีที่เปิดรับบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นตำรวจแล้วพบว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลายรูปแบบนั้น อาจจะด้วยว่าตอนที่สมัครบุคคลดังกล่าว อาจจะมีคุณวุฒิ คุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์จึงรับได้ แต่เมื่อเข้ามาแล้วได้กระทำความผิด ก็จะต้องดำเนินการลงโทษตามขั้นตอน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะต้องมีความรัดกุมในการตรวจสอบประวัติให้มากยิ่งขึ้น



และที่สังคมตั้งคำถามว่า กลุ่มคนที่มีนามสกุลดัง เข้ามาเป็นตำรวจโดยผ่านการอบรม กอส.นั้น ส่วนตัวมองว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ดีที่จะให้ผู้ที่เข้ามาเป็นตำรวจซึมซับความเป็นตำรวจ แต่หากการกระทำที่ไม่ดีนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไป ระบบนี้ก็จะเป็นการสกรีนคนไม่ดีให้ออกไปได้



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/DIJgTLBMAzo

คุณอาจสนใจ

Related News