สังคม

ผู้ว่าฯปราจีนฯ-ปรมาณูเพื่อสันติ แถลงซีเซียม137 อยู่ในระบบปิด ไม่ฟุ้งกระจายนอกโรงงาน

โดย panwilai_c

20 มี.ค. 2566

226 views

ผู้ว่าฯ ปราจีน ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แถลงพบ สารซีเซียม-137 ถูกหลอมในเตาโรงรีไซเคิล ยันปนเปื้อนในพื้นที่จำกัด ไม่แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม



เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (20 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพบ ยังมีรถบรรทุกเหล็กมาจอดอยู่ด้านหน้าและพบว่าอยู่บริเวณหน้าบริษัท ต่อมาในช่วงสายนายณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่หน่วยงานสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ปภ.ปราจีนบุรี อส. พร้อมรถอุปกรณ์ในการตรวจหารังสี ได้ลงพื้นที่โรงงานเพื่อตรวจวัดรังสีโดยรอบไม่พบการแพร่กระจายของรังสีแต่อย่างใด



ต่อมาในช่วงเวลา 11.00 น. นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นางมาละนี จินดารัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี นายกิตต์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวกรณีพบวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม137



นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม137 หายไปจากที่ติดตั้งของไฟฟ้า ทางจังหวัดปราจีนบุรีตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้นำกำลังคนและอุปกรณ์มาทำการตรวจสอบตามโรงงานที่คาดว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม137 ที่จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไป โดยมีการทำการตรวจสอบติดตามมาอย่างต่อเนื่อง



สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสี ในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 แห่ง



ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ทางจังหวัดปราจีนบุรีพร้อมด้วยงานปรมาณูเพื่อสันติ ป้องกันและบรรเทาสาธรณภัย ปกครอง ลงพื้นที่เข้าทำการโรงหลอมเหล็กในอำเภอกบินทร์บุรี จำนวน 2 โรง และอำเภอศรีมหาโพธิ อีก 2 โรง พบว่า ในรอบแรก ยังไม่พบมีการปนเปื้อน จึงใช้เครื่องมือดูดอากาศตรวจหารังสีรอบ ๆ บริเวณโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยเก็บตัวอย่างดิน น้ำ อากาศ ตรวจหาสารปนเปื้อน ก็ยังไม่พบซีเซียม 137



ช่วงเย็นมีการมีการตรวจสอบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ด้วยเครื่องมือสามารถตรวจพบการปนเปื้อนในฝุ่นที่ได้จากการผลิตโลหะ คือวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในบิ๊กแบ็ก 24 ถุง รวม 24 ตัน ที่อยู่ในพื้นที่ปิดของโรงหลอม อ.กบินทร์บุรี และมี 1 ถุง มีการนำไปถมที่บริเวณหลังโรงงาน เจ้าหน้าที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จึงให้ทางโรงหลอม ขุดดินใส่บิ๊กแบ็กกลับมาเก็บที่เดิมในโรงงาน ทางจังหวัดได้ประกาศให้กันบริเวณโรงงานเป็นเขตควบคุม และขณะนี้ขอยืนยันว่า ซีเซียม 137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นโลหะถูกควบคุมและจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่กระจายออกจากโรงงาน



และทำการตรวจหาการปนเปื้อนในร่างกายของพนักงานทุกคนที่มีจำนวน 70 คน (คนไทย 10 / ต่างด้าว 60) ไม่พบมีการปนเปื้อนตามร่างกายของพนักงาน ตามข้อมูลทางวิชาการที่ใช้เครื่องมือตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สามารถควบคุมและจำกัดสารซีเซียม137 อยู่ในเฉพาะพื้นที่ จากการตรวจสอบยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ซีเซียม137ที่พบในโรงหลอมเหล็กจะเป็นชิ้นเดียวกับที่สูญหายหรือไม่



ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า กัมมันตรังสีที่ตรวจพบในโรงหลอมเหล็ก ไม่ได้ฟุ้งกระจายอย่างที่ประชาชนกังวล ส่วนจุดที่พบบิ๊กแบ็ค ข้างโรงหลอม ซึ่งถูกนำไปถมที่ด้านข้าง เจ้าหน้าที่ ให้ขุดบิ๊กแบ็คและดิน นำขึ้นมาในพื้นที่ที่กำหนด และตรวจหาอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่พบกัมมันตรังสี จึงไม่มีการปนเปื้อนตามธรรมชาติ



ต่อมา นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อวานเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดค่ารังสี พบว่า ตรวจจับได้ จึงได้กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งจุดที่พบเป็นจุดหลอมเหล็ก เป็นพื้นที่ปิด เมื่อตรวจสอบในโรงงานโดยรอบรัศมีห่างออกไปราว 10 เมตร ไม่พบค่าวัสดุกัมมันตรังสี จึงจำกัดวงเฉพาะที่ตรวจพบ ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลว่าจะมีการฟุ้งกระจาย ยืนยันว่า ที่ปลายป่องโรงหลอมมีฟิลเตอร์เป็นตัวดักจับ เมื่อฝุ่นเหล็กลอยขึ้นไปติดกับฟิลเตอร์ และเย็นลง จะร่วงลงมาด้านล่าง



พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วัสดุกัมมันตรังสี Cesium-137 ที่ติดอยู่ด้านบนไซโลความสูง 18 เมตร ว่า ออกมาจากมาจากจุดที่ติดได้อย่างไร และออกไปนอกโรงไฟฟ้า จนถึงโรงหลอม ได้อย่างไร



นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไปแจ้งความดำเนินคดีกับโรงไฟฟ้า กับพวก ในความผิดฐาน "ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือเสียหายอันเกิดจาการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาต มีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องตันตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น" ส่วนข้อมูลอื่นๆ ตำรวจกำลังสอบสวน เพิ่มเติม



ขณะที่ช่วงท้ายมี ชาวบ้าน ลุกขึ้นสอบถาม เรื่องระบบการจัดการของเจ้าหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาเห็นว่ากระบวนการจัดการล้มเหลว และไม่เห็นจับกุมคนกระทำผิด จนทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เลยอยากถามในเรื่องของการจัดการเป็นรูปธรรม เพื่อให้เพิ่มความมั่นใจกับชาวบ้าน ซึ่งครั้งนี้โชคดีไปเจอโรงงานขนาดใหญ่



ขณะที่ในส่วนของระยอง ล่าสุด นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยภายหลังการรับฟังข้อมูล จากบริษัท เอ็นเอฟเอ็มอาร์ จำกัด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง กรณีซีเซียม 137 ว่า วันนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการสุ่มเปิดถุงบิ๊กแบคทั้งหมด 16 ถุง และสุ่มตรวจวัดค่ากัมมันตรังสีซีเซียม 137 ว่ามีหรือไม่ พบว่าไม่มีซีเซียม 137 และค่ากัมมันตรังสีในฝุ่นละอองเหล็ก เป็นค่าปกติธรรมชาติคือ 0.15 ซึ่งค่าที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตมามนุษย์ต้อง 0.45 หรือ 3 เท่าขึ้นไป ณ วันนี้ จากการสุ่มตรวจ 16 ถุง ไม่พบกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม 137



แต่เพื่อความอุ่นใจของชาวจังหวัดระยอง ได้กำหนด 2 มาตราการ คือให้ผู้ประกอบการ ส่งฝุ่นเหล็กชุดนี้ จำนวน 12.4 ตัน กลับไปที่จังหวัดปราจีนบุรี เพราะว่าโรงงานต้นทางน่าจะมีสถานที่เก็บที่่มิดชิดอยู่แล้ว โดยให้อุตสาหกรรมจังหวัดระยองประสานงานอีกครั้ง และให้ใช้รถปิดทึบในการขนส่ง ป้องกันการฟุ้งกระจาย และให้สาธารณสุขจังหวัดระยอง ตรวจสอบว่ามี ประชาชนหรือชาวบ้าน เจ็บป่วยผิดปกติหรือไม่ อาจจะทำงานอยู่ในโรงงานที่ปราจีนบุรี แล้วเดินทางมา หรือไปสัมผัสแล้วเกิดโรคขึ้นมา ให้แจ้ง 1669 โดยจะมีโรงพยาบาลระยอง เป็นศูนย์ในการรับผู้ป่วยเข้าไปบำบัดรักษา



เพจเฟซบุ๊ก อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โพสต์ระบุว่า มึนมากกับการตอบคำถามนักข่าวเรื่องซีเซียม -137 ช่วงนี้ เพราะข้อมูลค่อยๆออกมาทีละนิดทีละนิด ยังกับปิดข่าวเลย



ด้านเพจหมอแล็บแพนด้าสรุปคือแถลงไม่แน่ใจว่าหลอมไปแล้วหรือยัง แต่ตรวจพบซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นฝุ่นในระบบปิด ทุกคนคิดว่าถูกหลอมไปยังครับ



หลายคนน่าจะอยากรู้ว่าต้องใช้ชีวิตยังไง ท่านที่มานั่งแถลงบอกว่า มันเป็นฝุ่นในระบบปิด ไม่ฟุ้ง และตรวจไม่พบการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี



เพจ DRAMA ADDICT ระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอาจมีความผิดตามพรบ.นิวเคลียร์ คือเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์แล้วไม่แจ้งทันที โทษปรับแสนนึง คุก1 ปี



ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ถ้าแท่งซีเซียม137 ถูกบีบอัดในซากเหล็กเช่นนั้น แล้วเครื่องตรวจวัดตรวจเจอ แต่ไม่รายงานว่าอยู่ในระดับใด นั่นหมายถึงอาจมีรังสีรั่วไหล เหล็กทั้งหมดที่เห็นในรูปนั้นก็มีแนวโ้น้มปนเปื้อนรังสีไปด้วย การเก็บกู้แท่งซีเซียม137 จึงไม่อาจจะเป็นเพียงแค่เอาแท่งซีเซียม137 ออกมา แต่จะต้องทำการ decontaminate วัสดุทั้งหลายที่อยู่ในบริเวณนั้น รวมถึงเสื้อผ้าคนงานและเจ้าหน้าที่ที่เข้าในพื้นที่



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/df7WesBaQFA

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ