สังคม

ผอ.แจงดรามาโชว์พลุพระธาตุเจดีย์เหลี่ยม "จุดด้านนอก" ยันไม่มีความเสียหาย

โดย panwilai_c

28 พ.ย. 2565

309 views

ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ตรวจสอบพระธาตุเจดีย์เหลี่ยม หลังพบคลิปมีการจุดพลุบริเวณพระธาตุ เผยแพร่ในโซเชียล ตรวจสอบพบ เป็นการจุดด้านหลังพระธาตุ ไม่ได้จุดในตัวพระธาตุ เพียงแต่มุมกล้องที่ถ่ายดูเหมือนเท่านั้น เบื้องต้นไม่พบความเสียหาย



นี่เป็นคลิปที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียล โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นพระลูกวัดเจดีย์เหลี่ยม ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้โพสต์ไว้



ในคลิปเป็นภาพจุดพลุอย่างยิ่งใหญ่ โดยพลุถูกจุดตั้งแต่บริเวณชั้นล่างขององค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยม จนถึงยอดพระธาตุ ซึ่งองค์พระธาตุแห่งนี้อยู่ในเขตโบราณสถานเวียงกุมกาม และมีอายุเก่าแก่ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดกระวิพากย์วิจารณ์ทั้งเคารพ กราบไหว้บูชา และกระแสดราม่า ที่เกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับองค์พระธาตุเก่าแก่แห่งนี้



ต่อมาผู้สื่อข่าวเข้าพบ พระครูสังฆพิชัย เจ้าอาวาสวัดเจดีย์เหลี่ยม ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งวันจัดงานประเพณียี่เป็ง



วัดได้มีการจัดถวายพุทธบูชาด้วยการจุดผางประทีป (ตัวถ้วยที่ใช้จุดเทียนไฟ) จำนวน 9,999 ดวง เพื่อบูชาองค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยม โดยมีคณะศรัทธาประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบวัด และคณะศรัทธาที่อยู่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัดที่ทราบข่าว ก็ได้เดินทางมาร่วมงาน และจุดผางประทีปรอบองค์เจดีย์



ส่วนเรื่องที่มีการจุดพลุนั้น เป็นความคิดของทางคณะกรรมการวัด และคณะศรัทธาที่ไปจ้างช่างทำพลุมาจัดทำกันเอง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา



กระทั่งมีคลิปปรากฎออกไป ซึ่งหากดูจากคลิปจริงๆ บริเวณยอดที่เห็นพลุแตกออกเป็นวงกว้าง ไม่ได้จุดที่ตัวองค์พระธาตุ แต่จุดบริเวณด้านนอกองค์พระธาตุ เพียงแต่มุมมองของการถ่ายคลิปได้ประจวบเหมาะพอดี ตัวองค์พระธาตุไม่ได้เกิดความเสียหาย



ด้าน นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เข้าตรวจสอบองค์พระธาตุแล้วเปิดเผยว่า จากการดูโดยรอบ พบว่าเป็นพลุ หรือภาคเหนือเรียกว่า "บอกไฟดอก" เป็นพลุที่ถูกนำมาห้อยโยงกัน เมื่อมีการจุดก็จะไปตามสายชนวนและจุดตามแต่ละชั้นที่วางไว้ แล้วการมองจากคลิปที่ปรากฏ ก็พบว่าใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ก็ดับหมดแล้ว



ส่วนพลุที่มีขนาดใหญ่ด้านบน ก็พบว่าเป็นการจุดที่ด้านนอกองค์เจดีย์ เพียงแต่มุมกล้องที่ถ่ายทำให้เหมือนภาพซ้อนว่าจุดจากองค์เจดีย์ ซึ่งผลจากการตรวจไม่พบร่องรอยของความเสียหายของตัวองค์พระธาตุเจดีย์



ส่วนพลุที่จุดก็ไม่ได้ทำการติดตั้งแบบถาวร แต่เป็นการนำไปห้อยไว้ตามจุดต่างๆ ของตัวองค์พระธาตุเจดีย์ และเศษชิ้นส่วนที่พบเห็นเหมือนกว่าแตกจากองค์เจดีย์ออกมาก็ตรวจสอบแล้ว เป็นเศษชิ้นส่วนเก่าที่เคยมีการหลุดลอก เพราะตัวองค์พระธาตุได้เคยมีการบูรณะมาก่อน คงยังมีเศษตกหล่นอยู่บริเวณโดยรอบอยู่บ้าง



หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะมีการจัดให้องค์ความรู้กับพระสังฆาธิการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการประกอบกิจกรรมภายในวัด โดยเฉพาะกับองค์พระธาตุเจดีย์ และโบราณสถานต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งจะได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมด้วย



เพราะจากที่ผ่านมาพบว่าหลายวัดได้มีการบูรณะซ่อมแซม ด้วยกำลังทรัพย์ที่ได้มาจากคณะศรัทธา แต่เมื่อบูรณะไปแล้วกลับพบว่าช่างไม่ได้มีความรู้ที่ชัดเจน ทำให้โบราณสถานหรือองค์พระเจดีย์บางแห่งได้รับผลกระทบ



สำหรับวัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ เป็นวัดที่สร้างก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ โดยตรวจพบข้อมูลว่าได้มีการสร้างเมื่อ พ.ศ. 1831 โดยสมัยพญามังราย ซึ่งโปรดให้นำดินที่ขุดได้จากหนองต่างใกล้กับคุ้มของพระองค์ในเวียงกุมกามมาทำอิฐเพื่อก่อกู่คำ



รับชมได้ทางยูทูบ : https://youtu.be/dpjJzAdXtEU

คุณอาจสนใจ