สังคม

เทศบาลนครอุดรฯ แจงปมเครื่องเล่นสแตนเลส 32 ล้าน 30 ชุมชน มั่นใจคุ้มค่าและคงทน อยู่นานกว่า 10 ปี

โดย chutikan_o

6 พ.ค. 2568

705 views

ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี แจงเครื่องเล่นสแตนเลส 32 ล้าน 30 ชุมชน เผยชุดเล็ก 8 ตัว ราคาชุดละ 6 แสนบาท ชุดใหญ่ 16 ตัว ราคาชุดละ 2 ล้านบาท มั่นใจมีความคงทนอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี การจัดซื้อจัดจ้างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพ ผ่านการประชาพิจารณ์ของชาวบ้านในชุมชน


วันนี้ (6 พ.ค.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสสื่อโซเชียลที่มีคนติดตามมากอย่าง “เพจออนซอนอุดร” และ “เพจ CSI LA” โพสต์ข้อความและรูปภาพระบุว่า “เคยเห็นแต่แบบนี้ในทีวี เทศบาลนครอุดรก็มีชุดละ 2 ล้านบาท งบจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสแตนเลสทั้งหมด “สามสิบสองล้าน” ไปดูของจริงที่ ชุมชนพิชัยรักษ์, ฟิตเนสกลางแจ้งทองคำกลางสวน? เทศบาลนครอุดรธานีจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งสแตนเลส จำนวน 33 ชุด ด้วยงบรวมกว่า 32 ล้านบาท เฉลี่ย “ชุดเดียว” ราคาประมาณ 1 ล้านบาท!!! นี่คือภาษีประชาชน” ต่อมามีสื่อกระแสหลักหยิบไปนำเสนอข่าวจนทำให้ทัวร์ไปลงเทศบาลนครอุดรธานี ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เงินงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งมีราคาแพงเกินความจำเป็นนั้น


ล่าสุดวันนี้ (6 พ.ค. 2568) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ชุมชนพิชัยรักษ์ ที่เป็นข่าวเพื่อตรวจสอบเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งสแตนเลส โดยพบว่าเครื่องออกกำลังกายถูกติดตั้งไว้จริงและเอาเชือกฝางมาพันไว้พร้อมพิมพ์ข้อความว่า “ขอความกรุณางดใช้งาน อยู่ในขั้นตอนการตรวจรับและส่งมอบสินค้า”


ชาวบ้านรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า เครื่องออกกำลังกายสแตนเลสดูแล้วก็สมราคาอยู่ ทำความสะอาดง่าย คงทนถาวรใช้งานได้นานกว่า แต่ถ้าให้ดีควรติดตั้งหลังคาและติดตั้งไฟส่องสว่างให้ด้วยเผื่อมีชาวบ้านมาเล่นตอนค่ำๆ




ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกับนายไพทูรย์ เหลืองอิงคะสุต ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี โดยกล่าวว่า ข้อมูลที่เอาไปอาจจะยังไม่ถูกต้องชัดเจน อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทางเทศบาลฯ กรณีนี้ขอชี้แจงกระบวนการได้มาของเครื่องออกกำลังกายสแตนเลส ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ออกกำลังกายกลางแจ้งสแตนเลสนั้น ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ 2567 เทศบาลนครอุดรธานีสำรวจความต้องการของชุมชนว่า ต้องการเครื่องออกกำลังกายหรือไม่ โดยสำรวจทั้งหมด 105 ชุมชน การที่จะเอาเครื่องออกกำลังกายไปตั้งไว้ก็ต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสม


เทศบาลจึงสำรวจความต้องการเมื่อสำรวจแล้วเสร็จเทศบาลฯก็เอาเรื่องนี้มาเข้าแผนประจำปี และมีการนำเสนอในสภาเพื่อเป็นเทศบัญญัติงบประมาณในปี พ.ศ 2568 ในการประชุมสภาสมาชิกสภาก็ได้ยกมือเห็นชอบและผ่านการพิจารณาของสภา จากนั้นทางเทศบาลก็มีการลงสำรวจพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยออกไปสำรวจตามชุมชนทั้ง 105 ชุมชน แต่ชุมชนที่ได้รับการตรวจสอบว่ามีความเหมาะสมและถูกต้องมีเพียง 30 ชุมชน จาก 105 ชุมชน จากนั้นก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้มีการกําหนดขอบเขตของงาน TOR เพื่อกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของอุปกรณ์และราคา โดยเราทำหนังสือ สอบถามไปยังห้างร้านที่ประกอบอาชีพขายอุปกรณ์เหล่านี้ จำนวน 7 ราย ก่อนจะกำหนดรายละเอียด และมีการประกาศ และมีผู้เข้ามายื่นเสนอราคาจำนวน 3 ราย และมีผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ได้แก่ บริษัท ส.สิงห์อยู่สปอร์ต จำกัด แล้วก็มีการลงนามทำสัญญาและดำเนินการติดตั้ง โดยขณะนี้เครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 30 ชุมชนอยู่ระหว่างการติดตั้ง และคณะกรรมการยังไม่มีการตรวจรับหรือรับมอบงานเครื่องออกกำลังกายสแตนเลสแต่อย่างใด


ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวอีกว่า เครื่องออกกำลังกายสแตนเลสนี้ อปท.หลายแห่งก็มีการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนตัวคิดว่าเครื่องออกกำลังกายสแตนเลสก็เป็นเครื่องออกกำลังกายที่น่าจะทนทาน มีความคงทนอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี และมองว่าการจัดซื้อจัดจ้างก็น่าจะมีความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพ


สำหรับเครื่องออกกำลังกายสแตนเลสนั้น แยกเป็นชุดเล็กจะมี 8 ตัว ราคาชุดละ 673,500 บาท มีจำนวน 26 ชุด รวมเป็นเงิน 17,511,000 บาท ชุดคู่ (ใหญ่) มี 8 คู่ 16 ตัว ราคาชุดละ 2,079,000 บาทมี จำนวน 7 ชุด รวมเป็นเงิน 14,553,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 32,064,000 บาท


นักข่าวถามต่อว่า เครื่องออกกำลังกายก็เป็นเครื่องเล่นธรรมดาๆ ไม่มีเทคโนโลยีกลไกซับซ้อนอะไรทำไมถึงแพง ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี ตอบว่า กรณีนี้เรื่องนี้ได้มีการผ่านกระบวนการ ทั้งการสืบราคาและมีคณะกรรมการ ตรวจสอบ และก่อนที่เราจะมีการลงประกาศเรามีการทำประชาพิจารณ์กับประชาชนโดยประชาชนในเขตเทศบาลนครอุดรธานีก็รับรู้รับทราบด้วย


คุณอาจสนใจ

Related News