สังคม
เจ้าหน้าที่เสี่ยงชีวิต! ฝ่าฝูงช้าง 60 ตัว เข้าไปรักษา 2 ลูกช้างป่า ในครั้งเดียว
โดย kanyapak_w
4 ธ.ค. 2567
2.7K views
เวลา 09.30 น. วันที่ 4 ธ.ค. 67 จากการที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (สบอ.2) ศรีราชา ได้รับรายงานว่า มีชาวบ้านไปพบลูกช้างป่า 2 ตัว ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกับดักบ่วงเชือกรัดบริเวณงวง โดยตัวแรกถูกรัดกลางลำงวง ส่วนตัวที่สองถูกรัดที่ ปลายงวง ทั้งค 2 ตัว ยังคงอยู่ร่วมกับฝูงช้างป่าขนาดใหญ่ราว 40-60 ตัว บริเวณ หน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
โดยสำหรับปฏิบัติการคืบหน้าล่าสุด ในวันนี้ได้มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ ทีมยิงยาซึม เพื่อวางยาแม่ช้างและลูกช้างพร้อมกัน วางแผนใช้อาหารล่อแยกช้างเป้าหมายออกจากฝูงหลังยาออกฤทธิ์ จากนั้นให้ทีมเฝ้าระวังผลักดันฝูงช้างให้ออกห่างจากช้างเป้าหมาย เพื่อให้ทีมสัตวแพทย์สามารถเข้าทำการรักษาและตัดบ่วงได้อย่างปลอดภัย
จากการเข้าตรวจสอบอาการบาดเจ็บ พบว่าลูกช้างป่าตัวที่ 1 เป็นลูกช้างป่าที่ถูกบ่วงเชือกรัดบริเวณปลายงวง ทีมยิงยาซึม ทำการให้ยาซึม จำนวน 1 เข็ม จนสังเกตุว่าลูกช้างป่าแสดงอาการซึมหลังจากให้ยา และเริ่มยืนซึมนิ่ง มีเสียงกรน ทีมเฝ้าระวัง จึงทำการผลักดันฝูงช้าง ให้หลบเข้าไปในป่า ก่อนที่ทีมสัตวแพทย์ จะเข้าไปตัดเชือก
ที่รัดปลายงวง และให้ทีมยิงยาซึม ยิงยาปฏิชีวนะ และ ยาแก้ฤทธิ์ยาซึม เข้าทางกล้ามเนื้อ อย่างละ 1 เข็ม ลูกช้างป่าเริ่มมีอาการรู้สึกตัว เดินได้ โบกหู เมื่อเวลาผ่านไป 10 นาทีหลังจากใหัยาแก้ฤทธิ์ยาซึม และฝูงช้างป่าได้พาลูกช้างป่า หลบเข้าไปในป่าอย่างปลอดภัย
ต่อมาได้เริ่มภารกิจช่วยลูกช้างตัวที่ 2 ได้เริ่มขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำผลไม้ มาวางไว้ที่ลาน เพื่อให้ฝูงช้างป่าออกมาหากิน จนกระทั่งพบตัวลูกช้างป่าบาดเจ็บ ซึ่งโดนบ่วงรัดบริเวณกลางลำงวง เจ้าหน้าที่จึงยิงยาซึมลูกช้างป่า จำนวน 1 เข็ม แต่ไม่สามารถยิงยาซึมแม่ช้างป่าได้
เมื่อลูกช้างป่าถูกยาซึม จึงวิ่งหนีกลับเข้าป่า ทำให้แม่ช้างป่าวิ่งตามเข้าไปด้วย และเมื่อยาซึมออกฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพ จึงให้ทีมเฝ้าระวังเข้าผลักดันฝูงช้างป่าและแม่ช้างให้ออกออกจากลูกช้างป่า พร้อมๆกับทีมสัตวแพทย์เร่งเข้าตัดเชือก
จากการตรวจสอบพบว่า เชือกรัดลำงวง ทำให้รูงวงด้านขวาขาด บาดแผล ไม่ติดเชื้อ และแผลเริ่มตกสะเก็ด และมีเนื้อเยื่อใหม่ปกคลุม แต่รูงวงด้านซ้ายยังคงปกติ จึงทำการล้างแผล ให้ยาปฏิชีวนะ และ ยาแก้ฤทธิ์ยาซึม และเร่งถอนกำลังอย่างเร็วที่สุด รวมพล ณ หน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว จนเสร็จสิ้นภารกิจ
ทั้งนี้ภายหลังการรักษา จากนี้แม้ลูกช้างจะยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจจะไม่สามารถใช้งวงหยิบจับได้เหมือนปกติ จึงควรต้องเฝ้าระวังและติดตามอาการลูกช้างป่าต่อไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งต้องชื่มชมเจ้าหน้าที่ทุกๆ ฝ่าย ที่ระดมทั้งกำลังความร่วมมือด้านต่างๆ ทำให้ภารกิจ ฝ่าดงช้าง รักษาลูกช้างป่า 2 ตัวได้ในครั้งเดียว ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นเคสแรกของประเทศ สำเร็จลุล่วงด้วยดี
Cr:ข้อมูล สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา
แท็กที่เกี่ยวข้อง ช้างป่า ,รักษาช้าง ,จันทบุรี