สังคม

ดับฝัน ‘ป้าติ๋ม’ แม่บ้านแหม่มฝรั่งเศส ส่อชวดมรดก 100 ล้าน หลังตร.สืบพบ ใช้นอมินีไทยทำธุรกิจ

โดย petchpawee_k

27 พ.ย. 2567

34 views

ดับฝันป้าติ๋ม แม่บ้านมรดก 100 ล้านแหม่มชาวฝรั่งเศส  หลังซุ่มสืบสวนนานร่วม 7 เดือน หอบหลักฐานเรียก 2 คนไทยนอมินีแหม่ม จดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลถือครองที่ดินและทำธุรกิจซื้อขายวิลล่าบนเกาะสมุย

จากกรณีนางแคทเทอร์รีน อายุ 59 ปี  ชาวฝรั่งเศส นักธุรกิจวิลล่าให้เช่าบนเกาะสมุย  จ.สุราษฎร์ธานี   ใช้ปืนจ่อขมับปลิดชีพตัวเองในวิลล่าหรู  ต.แม่น้ำ  อ.เกาะสมุย  เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุมีรายงานว่า ผู้เสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้นางณัฐวลัย หรือ ป้าติ๋ม ซึ่งเป็นแม่บ้านคนสนิท ประกอบด้วย บ้านหรือวิลลาหรูพร้อมที่ดินที่เกิดเหตุ เครื่องประดับบางส่วน รวมถึงเงินสดในธนาคารอีกจำนวนหนึ่ง รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท  

แต่นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี  เรียกร้องให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความถูกต้องในการถือครองทรัพย์สิน รวมถึงการดำเนินกิจการธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อถือครองทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินในประเทศไทย รวมถึงให้มีการตรวจสอบการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อครอบครองวิลล่าของชาวต่างชาติ  เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ต่อมา พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.รมน.ภาค 4 ในขณะนั้น ได้สั่งการให้ชุดแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 กอ.รมน.ภาค 4 เข้าตรวจสืบสวนหาข่าว และรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ จนนำไปสู่การตรวจสอบการถือครองที่ดินของรัฐ และการประกอบธุรกิจวิลล่าหรูบนเกาะสมุย  และนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรการป้องกันการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว พื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี  

โดยคณะกรรมการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงรายงานการตรวจสอบ ได้ผลสรุปว่า นางแคทเทอร์รีน  เป็นกรรมการบริษัท 2 บริษัท คือ บริษัท จี.วี.เอ็น.อี. จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 วัตถุประสงค์ขณะจดทะเบียน ประกอบกิจการให้เช่าที่พัก รีสอร์ต์ บังกะโล และบ้านพักตากอากาศ   และบริษัท แม็กชิเคท จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 วัตถุประสงค์ขณะจดทะเบียน ประกอบธุรกิจรับเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจคอมพิวเตอร์

โดยทั้ง 2 บริษัทมีชื่อนางแคทเทอร์รีน เป็นกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว จึงมีเหตุสงสัยว่า บริษัททั้ง 2 ถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว และมีการฝ่าผืนกฎหมายโดยการถือครองที่ดินไว้แทนคนต่างด้าวโดยมิชอบ ในลักษณะตัวแทนอำพราง(นอมินี)

เมื่อวานนี้ (26 พ.ย.67)  พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (ศปชก.) ภ.จว.สุราษฎร์ธานี  มอบหมายให้ พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ร่มไทร รอง ผกก.สอบสวน สภ.กาญจนดิษฐ์ ปฏิบัติหน้าที่คณะพนักงานสอบสวนประจำ ศปชก. ภ.จว.สุราษฎร์ธานี เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ.เกาะสมุย  ให้ดำเนินคดีกับ

1.บริษัท จี.วี.เอ็น.อี.จำกัด

2.บริษัท แม็กซิเคท จำกัด ในฐานะนิติบุคคล

3.นางแคทเทอร์รีน โจรี่ โรแล็นด์ เจอร์แมน เดลาโคท อายุ 59 ปี สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเสียชีวิต

4.นายทองใส คติสุข อายุ 50 ปี

5.นางรัชประภา โชเรดะ อายุ 36 ปี

พ.ต.อ.ศิริชัย สุขสาตต์ รอง ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี  กล่าวว่า หลังเกิดเหตุ นางแคทเทอร์รีน ยิงตัวเองเสียชีวิตและมีประเด็นเป็นที่สนใจของคนไทยทั้งประเทศ คือประเด็นทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าชาวต่างชาติสามารถถือครองและโอนทรัพย์สินให้กับผู้อื่นได้หรือไม่  จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (ศปชก.) ภ.จว. สุราษฎร์ธานี เข้าสืบสวนสอบสวนมาอย่างต่อเนื่องนาน 7 เดือน

จนกระทั่งพบพยานหลักฐาน ที่ทำให้เชื่อว่า การดำเนินธุรกิจในลักษณะนิติบุคคลที่มีบุคคลต่างด้าวเป็นกรรมการ เข้าข่ายความผิดลักษณะของตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี ซึ่งได้ใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐาน จนมั่นใจว่าสามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้  จึงเป็นที่มาของการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด  โดยในการสืบสวนยังพบว่า มีสำนักงานกฎหมายเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้การช่วยเหลือในการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลของชาวต่างด้าว ซึ่งประเด็นของสำนักงานกฎหมายจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้

สำหรับการแจ้งความครั้งนี้ มีการระบุรายละเอียดพฤติการณ์ไว้อย่างชัดเจน โดยนางแคทเทอร์รีน   ผู้ตาย ได้เข้ามาอยู่ที่ประเทศไทย ตั้งแต่พ.ศ.2550 โดยเช่าบ้านพักอยู่แถวตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมามีการนำชื่อคนไทย ไปให้สำนักงานทยายความตั้งเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัท จี.วี.เอ็น.อี.อี.จำกัด โดยคนไทยรายดังกล่าวไม่ได้ร่วมลงทุนในการประกอบกิจการแต่อย่างใด

หลังจากนั้น มีการซื้อและรับโอนที่ดิน จำนวน 1 แปลง และมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเป็นชาวต่างชาติ ต่อมาได้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน นำไปก่อสร้างอาคาร จำนวน 5 หลัง และ มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัท มาเป็นคนไทย ต่อมาได้เปลี่ยนผู้ถือหุ้นมาเป็นคนไทย 2 ราย โดยถือหุ้น 7,000หุ้น และ 3,200 หุ้น ตามลำดับ  ส่วนผู้ตายถือหุ้น 9,800 หุ้น และ ล่าสุดก่อนที่จะฆ่าตัวตาย ได้มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัทอีกครั้ง จากคนไทยมาเป็นผู้ตายอีกครั้ง  ก่อนจะยิงตัวตายในบ้านพัก และทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แม่บ้าน จนเป็นที่สนใจของประชาชน

ด้าน พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ร่มไทร รอง ผกก.สอบสวน สภ.กาญจนดิษฐ์ ให้ข้อมูลว่า วานนี้ (26 พ.ย.67) ได้ออกหมายเรียก นายทองใสและนางสาวรัชประภา คนไทย 2 คน ที่มีข้อมูลว่าเป็นนอมินี  ถือหุ้นลม เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้

โดยบริษัทที่ 1 ทำธุรกิจสร้างบ้านขาย  ขายไปแล้ว 5 หลัง เหลือ 2 หลังเป็นทรัพย์สินบริษัท

บริษัทที่ 2 ทำอาคารพาณิชย์ และ วิลล่าที่อยู่อาศัย มูลค่าราว 100 ล้านบาท ซึ่งต่อมาพบว่า มอบพินัยกรรมให้ ป๋าติ๋ม ณัฐวลัย จนเป็นข่าวดัง

โดยทางตำรวจบอกว่า มีหลักฐานเบื้องต้นเตรียมแจ้งข้อหากับนางแคทเทอร์รีน 3 ข้อหา คือ

-ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต

-ถือครองที่ดินโดยมิชอบ

-แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน

แต่เนื่องจาก แคทเทอร์รีนเสียชีวิตไปแล้ว คดีอาญาจึงถูกระงับไป


ส่วนของนายทองใส และนางสาวรัชประภา  ก็จะแจ้ง 3 ข้อหาเช่นกัน ประกอบด้วย

-ช่วยเหลือการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาต

-สนับสนุนช่วยเหลือถือครองที่ดินอันมิชอบด้วยกฎหมาย

-แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน

ส่วนป้าติ๋มไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แต่ได้รับมรดกตามพินัยกรรม  จะต้องคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐหรือไม่   พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ บอกว่า ต้องรอการดำเนินคดีอาญาก่อน ซึ่งการจะยึดคืนที่ดินหรือไม่ เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานที่ดิน ว่าจะยึด หรือให้จำหน่ายจ่ายโอน หรือดำเนินการอย่างไร

ด้านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า คดีนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการยึดมรดกของป้าติ๋ม เพราะการทำธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นความผิดฐานไม่ได้รับอนุญาต ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน จะไปยึดทรัพย์สินไม่ได้ แนวคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุไว้แบบนี้

อ.ปรเมศวร์ ยกตัวอย่าง การขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ก็ปรับเงิน แต่ไม่ได้ยึดรถ  หรือ เขียงหมูขายหมูโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ปรับและดำเนินคดี ไม่ได้ยึดเขียงหมูไป

ผู้สื่อข่าวไปที่วิลล่าหรูหลังดังกล่าว ในตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอพบนางณัฐวลัย หรือป้าติ๋ม แม่บ้านคนสนิทของแหม่มที่เสียชีวิต  แต่เมื่อป้าติ๋มเห็นกล้องของผู้สื่อข่าว ก็หลบกล้องและตะโกนบอกว่า กำลังปรับปรุงวิลล่า เนื่องจากต้นไม้ได้หักโค่นใส่และทาสีใหม่ ไม่ขอให้สัมภาษณ์  

ผู้สื่อข่าวจึงไปพบกับ น.ส.อุสา เพื่อนคนสนิทของป้าติ๋ม ที่ร้านขายของหลังวัดภูเขาทอง  น.ส.อุสา  เล่าว่า หลังจากเกิดเหตุ  ป้าติ๋มก็ยังมาแวะเวียนมาที่ร้านของตนทุกวัน และป้าติ๋มก็ยังทำงานตามปกติ โดยทำความสะอาดบ้านฝรั่งอยู่แถวบางรักษ์ ในตำบลบ่อผุด  ส่วนบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ทำแล้ว หยุดมาตั้งแต่แหม่มเสียชีวิต และหลังจากเกิดเหตุ ป้าติ๋มก็ยังทำตัวปกติ ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้โอ้อวดเป็นคนมีเงินแต่อย่างใด


น.ส.อุสา บอกว่า ป้าติ๋มได้บ้าน ได้รถยนต์ ได้เงินสดนิดหน่อย ตามที่แหม่มเขียนพินัยกรรมไว้ให้ และ รถยนต์ก็โอนเป็นชื่อป้าติ๋มแล้ว  มูลค่าทรัพย์สินที่ได้ไม่ถึงร้อยล้านตามที่เป็นข่าว   ป้าติ๋มเองก็ยังอาศัยอยู่ที่บ้านตัวเอง  ส่วนข่าวที่ผู้ถือหุ้นเป็นนอมินี  หากป้าติ๋มไม่ได้ทรัพย์สินจริงๆ ตนก็รู้สึกเสียใจแทน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/_2yJmhrMKFY

คุณอาจสนใจ

Related News